โรคอะมีบ้าในสมอง (Amoebic meningo-encephalitis)

โรคนี้เกิดจากเชื้ออะมีบ้าที่อาศัยอยู่อย่างอิสระ (free-living amoeba) ไม่ใช่อะมีบ้าที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของคน ที่พบว่าเป็นเชื้อก่อโรคอยู่ในจีนัส Naegleria และ Acanthamoeba ที่อาศัยอยู่ตามดินและแหล่งน้ำ คนติดเชื้อนี้จากการสูดฝุ่นละอองที่มีซิสต์ของเชื้อนี้เข้าไป หรือ เล่นน้ำแล้วน้ำเข้าจมูก ทำให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อ Acanthamoeba สามารถเข้าร่างกายทางตาได้ด้วย

พยาธิสภาพ

เมื่อเชื้อเข้าทางจมูก อะมีบ้าจะแบ่งตัวและแทรกเข้าไปในช่องกะโหลกศีรษะทาง cribriform plate ทำให้เกิดมีเลือดออก เมื่ออะมีบ้าแบ่งตัวมากขึ้น จะเกิดการทำลายของเนื้อสมองอย่างมาก เนื้อสมองที่ถูกทำลายจะมีทั้งเลือดและเนื้อตาย เชื้อ Naegleria จะมีการทำลายที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าเชื้อ Acanthamoeba เชื้อ Acanthamoeba มักทำให้เกิดฝีหลาย ๆ แห่งในเนื้อสมอง

อาการของโรค

  • เชื้อ Naegleria
  • ในผู้ใหญ่อาการจะเริ่มแสดงหลังจากได้รับเชื้อเข้าไปแล้วประมาณ 5-7 วัน ในเด็กอาการมักเกิดหลังจากไปว่ายน้ำเล่นไม่นาน เริ่มด้วยอาการคัดจมูก เป็นไข้ การได้กลิ่นเสียไป ต่อไปก็จะมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก คลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว คอแข็ง ชัก เป็นอัมพาต และไม่รู้สึกตัว ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตภายใน 2-3 วันหลังเริ่มมีอาการ

  • เชื้อ Acanthamoeba
  • อาการจะคล้ายกัน แต่ดำเนินไปช้ากว่าและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ และชักเฉพาะที่บ่อย ภาวะแทรกซ้อนคือ อาการปวดลูกตาอย่างรุนแรง เพราะเชื้อเข้าไปทำลายลูกตาด้วย อาการไอ หอบ เพราะเลือดคั่งในปอด และอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเป็นและเลวลงไปเรื่อย ๆ จนถึงเสียชีวิตจะประมาณ 2-3 สัปดาห์

การวินิจฉัยอาศัยประวัติการว่ายน้ำเล่นเป็นก่อนเกิดอาการป่วยไม่นาน การพบตัวโทรโฟซ้อยท์ในน้ำไขสันหลัง การตรวจทางรังสี และการตรวจทางซีโรโลยี่

การรักษา

ถ้าเชื้อเป็น Naegleria โอกาสรอดมีน้อยมากแม้จะให้การรักษาอย่างรีบเร่งด้วยยาและการผ่าตัด ถ้าเชื้อเป็น Acanthamoeba การให้ยา บวกกับการผ่าตัดเพื่อดูดฝีในสมองออกพอจะช่วยชีวิตได้ แต่มักมีภาวะทุพพลภาพเหลืออยู่

วิธีป้องกัน

มีทางเดียวที่จะป้องกันโรคนี้ คืออย่าให้น้ำเข้าจมูกเวลาเล่นน้ำ ถ้าจะลงว่ายน้ำให้ใช้คลิปหนีบจมูกไว้

เชื้อ Naegleria มักอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่อุ่นประมาณ 37 องศาเซลเซียส ในสระว่ายน้ำกลางแจ้งควรตรวจระดับคลอรีนอยู่เสมอว่าพอหรือไม่ เพราะถ้าความเข้มข้นเกิน 1 ส่วนต่อล้านส่วน สามารถฆ่าโทรโฟซ้อยท์ซึ่งเป็นระยะที่ทำให้เกิดโรคได้

ส่วนเชื้อ Acanthamoeba อาศัยอยู่ได้ดีทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล การป้องกันทำได้เพียงระวังไม่ให้น้ำเข้าตาและเข้าจมูก