โรคพยาธิปากขอ (Ancylostomiasis)

เป็นโรคพยาธิที่ลำไส้เล็ก ในคนเกิดจากพยาธิที่มีปากแบบตะขอ (hookworm) 2 พันธุ์ คือ Naecator americanus และ Ancylostoma duodenale ในประเทศไทยพบ Naecator มากกว่า และพบมากที่สุดทางภาคใต้ พยาธิปากขอตัวแก่จะอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กโดยใช้ปากกัดติดกับผนังของลำไส้ คอยดูดเลือดและอาหารจากเยื่อบุลำไส้ ตัวเมียตัวหนึ่งออกไข่วันละประมาณ 20,000 ฟอง ไข่จะออกมากับอุจจาระ ตัวอ่อนจะออกจากไข่ภายใน 24-48 ชั่วโมง ตัวอ่อนระยะที่หนึ่งจะลอกคราบเป็นตัวอ่อนระยะที่สองภายในเวลา 3 วัน ตัวอ่อนระยะที่สองจะเจริญเติบโตต่อไปอีก 3-5 วัน แล้วจึงจะลอกคราบอีกครั้งเป็นตัวอ่อนระยะที่สาม (filariaform larva) ซึ่งเป็นระยะติดต่อ สามารถไชทะลุผิวหนังเข้าสู่ร่างกายคนได้

อาการของโรค

ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากอุจจาระที่ถ่ายลงดิน สามารถไชเข้าง่ามนิ้วเท้าของผู้ที่เดินย่ำพื้นดินด้วยเท้าเปล่า ผิวหนังตรงตำแหน่งที่พยาธิไชเข้าไปจะเป็นตุ่มแดง คัน ตัวอ่อนจะเข้าสู่กระแสโลหืต ต่อมาอีก 1-2 สัปดาห์ จะเกิดอาการไข้ ไอ เพราะเป็นช่วงที่พยาธิเดินทางผ่านปอด อาจทำให้มีปอดอักเสบ หรือหลอดลมอักเสบได้ ระยะนี้จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลในเลือดจะสูง

เมื่อตัวแก่เจริญเต็มที่จะหาทางเข้าไปอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้น ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายท้อง จุกเสียดบริเวณยอดอก ที่สำคัญพยาธิตัวหนึ่ง ๆ จะดูดเลือดวันละ 0.03-0.15 มล. ถ้ามีพยาธิมาก ผู้ป่วยจะซีด อ่อนเพลีย มึนงง เหนื่อยง่าย ตรวจเลือดจะพบลักษณะของโลหิตจางแบบขาดธาตุเหล็ก คือเม็ดเลือดติดสีจางและมีขนาดเล็ก

การวินิจฉัย

โดยการตรวจพบไข่ของพยาธิปากขอในอุจจาระ ต้องทำการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนและไชหนีไปได้