โรคแอนแทร็กซ์ (Anthrax)

แอนแทร็กซ์เป็นโรคระบาดในสัตว์ โดยเฉพาะพวกวัว ควาย ม้า แกะ และแพะ เกิดจากเชื้อ Bacillus anthracis ซึ่งเป็นแบคทีเรียรูปแท่ง กรัมบวก สร้างสปอร์ได้เมื่ออยู่ภายนอกร่างกายของสิ่งมีชีวิต คนติดโรคแอนแทร็กซ์มาจากสัตว์ได้ 3 ทางคือ ทางการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรคโดยตรง ทางการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อ Bacillus anthracis ที่ติดอยู่ในขนสัตว์หรือหนังสัตว์เข้าไป และทางการกินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทร็กซ์ตาย การติดโรคทั้ง 3 ทางทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกัน

อาการของโรค

ระยะฟักตัวของโรคไม่เกิน 7 วัน อาการแบ่งตามระบบที่ติดเชื้อได้ดังนี้

  1. แอนแทร็กซ์ที่ผิวหนัง (Cutaneous anthrax) ผู้ป่วยมักมีประวัติว่าไปแล่เนื้อวัวเนื้อควายที่เสียชีวิตเอง จากนั้น 2-5 วันจึงเกิดตุ่มแดงขึ้น ตรงบริเวณที่สัมผัส เช่นที่มือ ปลายนิ้ว ตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำพองใสใน 1-2 วัน แล้วจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในราววันที่ 5 ของโรคจะเกิดเนื้อตายสีดำที่ตรงกลางตุ่มหนอง ลักษณะเหมือนแผลไหม้ที่ถูกบุหรี่จี้ แผลมีขอบนูนชัดเจน ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย จากนั้นเชื้อจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง และเข้าสู่กระแสเลือดในที่สุด
  2. แอนแทร็กซ์ที่ระบบหายใจ (Inhalation anthrax หรือ woolsorter's disease) ผู้ป่วยมักเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้หนังสัตว์หรือขนสัตว์เป็นวัตถุดิบ อาการจะรุนแรงมาก โดยจะมีไข้สูง กระสับกระส่าย หายใจขัด เจ็บคอ เจ็บหน้าอก ลิ้นบวม ไอเป็นเลือด หอบ ตัวเขียว ความดันโลหิตตก ภาพรังสีทรวงอกมักพบน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด และเมดิแอสตินั่ม (mediastinum) กว้างขึ้น
  3. แอนแทร็กซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (Intestinal anthrax) เชื้อแอนแทร็กซ์ที่อยู่ในรูปของสปอร์สามารถทนความร้อนได้สูงมาก การอบด้วยความร้อน 140°C สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 1-3 ชั่วโมง ถ้าเอาไปต้มจะทนความร้อน 100°C ได้นาน 5-30 นาที ผู้ป่วยมักมีประวัติกินแกงเนื้อ หรือยำเนื้อสุก ๆ ดิบ ๆ แล้วมาด้วยอาการปวดท้องเฉียบพลัน มีอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงคล้ายโรคอหิวาต์ อุจจาระอาจมีเลือดสด ๆ ปนออกมาเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อาเจียน อาการจะหนักมาก บางครั้งช็อคและเสียชีวิต

ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบร่วมกับแอนแทร็กซ์ทั้ง 3 ชนิดคือภาวะโลหิตเป็นพิษ (septicemia) และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะเลือดเป็นพิษมักพบในรายที่รักษาช้า เชื้อแทรกซึมเข้ากระแสเลือดไปก่อน ส่วนเยื่อหุ้มสมองอักเสบพบไม่บ่อยแต่อาการรุนแรง ผู้ป่วยจะสับสน เอะอะ แล้วซึมลง ตรวจน้ำไขสันหลังจะพบน้ำขุ่นเหมือนหนองหรือเป็นสีแดงปนเลือด

การวินิจฉัย

โรคแอนแทร็กซ์วินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อขึ้นจากแผล เสมหะ อุจจาระ เลือด หรือน้ำไขสันหลัง ซึ่งมักจะช้า การตรวจทางซีโรโลยีก็ต้องมีไตเตอร์เพิ่มขึ้น 4 เท่าจึงจะวินิจฉัยได้ ถ้าประวัติของผู้ป่วยและอาการแสดงคล้ายกับโรคแอนแทร็กซ์ต้องให้ยาปฏิชีวนะไปก่อน

อาการไข้และมีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ต้องแยกจากไข้รากสาดใหญ่หรือไข้ทัยฟัส อาการไข้และอุจจาระร่วงรุนแรงต้องแยกจากโรคบิดไม่มีตัว อหิวาตกโรค และภาวะอาหารเป็นพิษทั้งหลาย อาการไข้และหายใจหอบต้องแยกจากโรคปอดอักเสบจากเชื้อต่าง ๆ

การรักษา

ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคแอนแทร็กซ์ได้แก่ Ciprofloxacin, Doxycycline, Penicillin, Chloramphenicol และ Erythromycin ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วงต้องให้น้ำเกลือชดเชยให้เพียงพอ รายที่ความดันตกจากโลหิตเป็นพิษต้องให้ยาพยุงความดันให้นานที่สุด

วิธีป้องกัน

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทร็กซ์ให้ปศุสัตว์ทุกตัว
  • หากมีสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุต้องแจ้งเจ้าหน้าที่มาชันสูตร
  • ไม่นำเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุมาจำหน่ายหรือประกอบอาหารรับประทานเอง

วัคซีนป้องกันโรคแอนแทร็กซ์ที่ใช้ในคนมีราคาแพง แนะนำให้ฉีดเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ป่วยโดยตรง คนทั่วไปที่บังเอิญไปสัมผัสกับโรค เช่น ดูแลคนที่ป่วยเป็นโรคแอนแทร็กซ์ เจ้าของสัตว์ที่ตายด้วยโรคแอนแทร็กซ์ หรือกินเนื้อสัตว์ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคแอนแทร็กซ์ตายเข้าไป ควรทานยาป้องกันนาน 7 วัน และเฝ้าสังเกตอาการจนครบ 10 วัน