โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรีย (Acute bacterial/purulent meningitis)

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันจากแบคทีเรียมักเกิดตามหลังการติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียงก่อน แล้วค่อยลุกลามมาที่สมอง เช่น ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อที่ฟัน หูชั้นกลางอักเสบ โพรงกระดูกกกหูอักเสบ หรือมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบ การติดเชื้อของลิ้นหัวใจ หรือไม่ก็เกิดจากอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ เชื้อที่พบบ่อยได้แก่ Neisseria meningitidis (ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้กาฬหลังแอ่น), Streptococcus, Staphylococcus, Haemophilus influenzae, Listeria monocytogenes, และกลุ่มของ gram negative bacilli ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ เป็นภาวะที่ต้องรักษาอย่างรีบด่วน มิฉะนั้นจะมีความพิการทางระบบประสาทหลงเหลือ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการของโรค

เมื่อเชื้อเข้าสู่สมองจะมีระยะฟักตัวไม่นาน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างมาก ความรู้สึกตัวลดลง อาจมีอาการชักและอ่อนแรงครึ่งซีก ต่อมาหลังคอจะตึงแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าให้ผู้ป่วยนอนราบไม่หนุนหมอน จะไม่สามารถยกศีรษะจนคางจรดหน้าอกส่วนบนได้ อาการไข้ ปวดศีรษะ ซึม คอแข็งนี้เป็นอาการเฉพาะสำหรับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันจากแบคทีเรีย

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ การสูญเสียการได้ยิน การสูญเสียการทรงตัว การสูญเสียสมาธิและความจำ และการสูญเสียการมองเห็น ภาวะเหล่านี้อาจเสียทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน ในผู้ป่วยเด็กมีโอกาสเกิดโรคลมชักตามมาในภายหลัง ถ้ารุนแรงอาจถึงขั้นพิการทางสมอง (cerebral palsy)

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันนอกจากอาการ 4 ข้อข้างต้น ยังต้องอาศัยการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง การตรวจน้ำไขสันหลัง และการเพาะเชื้อทั้งจากเลือดและน้ำไขสันหลัง

ภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมองจะช่วยแยกโรคเลือดออก ฝี และเนื้องอกในสมองออกไป การตรวจน้ำไขสันหลังจะช่วยแยกโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส วัณโรค และเชื้อราออกไป สุดท้าย ผลการเพาะเชื้อจะช่วยระบุชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุได้

การรักษา

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันจากแบคทีเรียเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องการการรักษาในโรงพยาบาล ยาปฏิชีวนะต้องเป็นชนิดที่ให้เข้าทางหลอดเลือดดำ และต้องครอบคลุมเชื้อที่สงสัยทั้งหมด ระหว่างที่รอยาออกฤทธิ์ต้องเฝ้าระวังภาวะการหายใจ ความดันโลหิต และการสำลักน้ำลายหรืออาหารลงปอด บางรายต้องให้อาหารทางสายยาง ใส่สายสวนปัสสาวะ และใส่ท่อช่วยหายใจ ถ้ายาได้ผล อาการจะค่อยดีขึ้นช้า ๆ ยาฉีดยังต้องให้อยู่จนกระทั่งไข้ลงสนิทแล้วอย่างน้อย 48 ชั่วโมง แล้วหลังจากนั้นควรรับประทานยาต่อไปอีกจนครบ 14 วัน