โรคบลาสโตไมโคสิส (Blastomycosis)

โรคนี้พบได้น้อยในประเทศไทย เชื้อที่เป็นสาเหตุคือ Blastomyces dermatitidis เป็นเชื้อราที่อยู่ในดินและใบไม้ที่ผุพัง มี 2 รูปลักษณ์ ในดินจะมีรูปร่างเป็นเส้นสาย มีสปอร์เล็ก ๆ แตกออกมา แต่ในร่างกายของคนจะอยู่ในรูปยีสต์ (ทรงกลม) แบ่งตัวโดยการแตกหน่อ โดยที่ฐานของตัวลูกจะติดกับตัวแม่ค่อนข้างกว้าง จะแยกจากกันก็ต่อเมื่อตัวลูกโตจนขนาดใกล้เคียงตัวแม่ คนติดเชื้อโดยการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป แต่มักไม่แสดงอาการ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้แก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันไปตลอด

อาการของโรค

โรคบลาสโตไมโคสิสจะแสดงอาการทางระบบหายใจและผิวหนังคล้ายกับโรคค็อคสิดิออยโดไมโคสิสและโรคพาราค็อคสิดิออยโดไมโคสิส อาการแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการทางปอดก่อน ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอแห้ง ๆ ปวดเนื้อตัว คล้ายไข้หวัด หลังจากได้รับเชื้อเข้าไปประมาณ 45 วัน ส่วนใหญ่จะหายไปเองภายในเวลาไม่กี่วัน มีส่วนน้อยที่จะพัฒนากลายเป็นปอดอักเสบ ไข้สูงขึ้น หนาวสั่น ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย เอ็กซเรย์ปอดมักพบการอักเสบของปอดทั้งสองข้าง บางรายจะเริ่มมีรอยโรคที่ผิวหนังด้วย ลักษณะเป็นแผ่นนูนแข็ง ขนาด 1-5 ซม. ตรงกลางเป็นตะปุ่มตะป่ำ ดูคล้ายหูด บางครั้งแตกออกเป็นแผล มักพบบริเวณใบหน้า คอ แขนขา และมือ
  2. ระยะเรื้อรัง พบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ อาการทางปอดจะคล้ายวัณโรคผสมมะเร็งปอด ผู้ป่วยจะผ่ายผอม มีไข้ ไอเรื้อรัง และไอเป็นเลือด ร้อยละ 20 มีรอยโรคที่ผิวหนังด้วย ร้อยละ 5 เชื้อจะเข้าทำลายกระดูกสันหลัง ซี่โครง และกะโหลก ทำให้ปวดกระดูก
  3. ระยะแพร่กระจาย เชื้อจะลุกลามเข้ากระแสเลือดไปตามอวัยวะอื่น ๆ เช่น กล่องเสียง ต่อมลูกหมาก ข้อต่อ สมอง รอยโรคที่ผิวหนังจะกระจัดกระจายทั่วไปหมด

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคบลาสโตไมโคสิสที่แน่ชัดต้องอาศัยการเพาะเชื้อขึ้นจากเสมหะ แผล เลือด ไขกระดูก หรือจากชิ้นเนื้อที่ตัดออกมา ในเบื้องต้นการหยดเสมหะหรือหนองจากแผลด้วยน้ำยา KOH แล้วดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อาจเห็นเชื้อราเป็นรูปยีสต์ทรงกลมขนาด 8-20 ไมครอน มีการแตกหน่อทีละหน่อ ส่วนที่ติดกันจะยังคงกว้าง ดูคล้ายพินโบว์ลิ่ง ดังรูป

การตรวจทางซีโรโลยี่ที่ช่วยสนับสนุนได้แก่ EIA, RIA และ Western blot การตรวจ DNA probe ต้องใข้กับตัวอย่างชิ้นเนื้อ ถ้าใช้ซีรั่มหรือปัสสาวะมักให้ผลเป็นลบ

การรักษา

ยาที่ใช้รักษาโรคบลาสโตไมโคสิสได้แก่ Itraconazole, Fluconazole, Voriconazole และ Amphotericin B ระยะเวลาในการรักษานาน 6-12 เดือน