โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)

โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบเป็นโรคติดเชื้อของผิวหนังและเนื่อเยื่อใต้ผิวหนังชนิดที่ยังไม่ทำให้เกิดเนื้อตาย เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่คือ Streptococcus คล้ายกับโรคไฟลามทุ่ง แต่เชื้ออื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมีกว้างกว่า เช่น Staphylococcus aureus, Pasteurella multocida, Erysipelothrix rhusiopathiae, Aeromonas hydrophila, และแบคทีเรียกรัมลบอื่น ๆ รวมทั้งMycobacterium marinum เชื้อเข้าสู่ผิวหนังทางบาดแผลทั้งบนบกและในน้ำ รวมทั้งการถูกสัตว์กัด จากนั้นเชื้อจะกระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองของผิวหนัง แล้วเข้าสู่กระแสเลือด หากปล่อยทิ้งไว้ เชื้อบางส่วนอาจลุกลามลึกลงไปถึงพังผืดที่หุ้มกล้ามเนื้อ เกิดเป็นโรคพังผืดอักเสบตามมาได้

อาการของโรค

ผู้ป่วยมักมีประวัติได้รับอุบัติเหตุมาไม่นาน แต่อาจไม่สังเกตว่ามีบาดแผลตรงไหน บางรายถูกสัตว์กัดหรือข่วน ในเด็กอาจเริ่มจากการเป็นโรคพุพองก่อน ระยะฟักตัวไม่แน่นอนขึ้นกับชนิดของเชื้อ อาการหลัก 4 อย่างคือ ปวด บวม แดง ร้อน ของผิวหนังบริเวณที่เชื้อเข้า ถ้าเป็นไม่มากจะยังไม่มีไข้ในวันแรก ๆ แต่เมื่อทิ้งไว้ 1-2 วันก็จะเริ่มมีไข้ขึ้น รอยแดงของผิวหนังไม่นูน และมีขอบเขตไม่ชัดเท่าโรคไฟลามทุ่ง อาการบวมเกิดจากเนื้อเยื่อข้างใต้ ไม่ใช่บนชั้นผิวหนัง อาการปวดมักเป็นไม่มาก ถ้าไม่กดจะไม่เจ็บ นอกจากเนื้อเยื่อข้างใต้จะบวมจนตึงแข็ง หรือเชื้อเซาะลงไปถึงชั้นพังผืด เมื่อนั้นจะปวดตลอดเวลา

ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต และผู้ป่วยที่ทานยากดภูมิคุ้มกัน รอยโรคอาจเริ่มตรงผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับนาน ๆ โดยที่ยังไม่เกิดบาดแผลใด ๆ และเชื้ออาจเป็นในกลุ่มอื่น ไม่ใช่เชื้อที่อยู่ตามผิวหนัง

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือการเกิดก็าซและหนองใต้ผิวหนัง การเกิดเนื้อตาย (gangrene) ในบริเวณที่บวมมากจนเลือดมาเลื้ยงไม่ได้ และการลุกลามจนเป็นโรคหนังเน่า

การวินิจฉัยโรค

โรคเซลล์เนื่อเยื่ออักเสบต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคหลอดเลือดดำอักเสบ (thrombophlebitis), ภาวะบวมจากหลอดน้ำเหลืองอุดตันเฉพาะที่ (lymphatic obstruction), ภาวะบวมจากกลุ่มอาการเนโฟรติก (nephrotic syndrome), โรคไฟลามทุ่ง, และโรคหนังเน่า โดยการตรวจร่างกาย การตรวจนับเม็ดเลือด การตรวจปัสสาวะ และการทำอัลตร้าซาวน์ของหลอดเลือดดำ การจับเชื้อให้ได้ต้องอาศัยการเพาะเชื้อในเลือดและเนื่อเยื่อที่ดูดมาจากผิวหนัง แต่มีโอกาสขึ้นได้น้อย การเลือกยารักษาส่วนใหญ่ต้องคาดเดาเชื้อจากระบาดวิทยา

การรักษา

การรักษาโรคเซลล์เนื่อเยื่ออักเสบโดยเฉพาะคือการให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด หากมีหนองหรือก็าซเกิดขึ้นต้องผ่าตัดเปิดผิวหนังและล้างแผลเช้า-เย็น การรักษาตามอาการได้แก่ การยกส่วนที่บวมให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวม และการให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้ายาสามารถคลุมเชื้อได้อาการจะดีขึ้นใน 3-5 วัน อาการบวมและรอยแดงจากค่อย ๆ ลดไป ถ้าภายใน 5 วันอาการยังไม่ดีขึ้นควรพิจารณาดูดเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังมาย้อมดูเชื้อ เพราะมีโอกาสเป็นเชื้อในกลุ่มอื่นนอกจากแบคทีเรีย