โรคถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)

ถุงน้ำดี (gallbladder) เป็นอวัยวะในช่องท้องที่ทำหน้าที่ในการเก็บสะสมน้ำดี (bile) เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร โดยน้ำดีจะถูกสร้างจากตับ แล้วถูกลำเลียงออกมาทางแขนงของท่อน้ำดีในเนื้อตับ (bile ducts) เข้าสู่ท่อน้ำดีใหญ่ของตับ (common hepatic duct) แล้ววกกลับขึ้นไปที่ท่อของถุงน้ำดี (cystic duct) เข้าไปพักไว้ในถุงน้ำดีก่อน เพราะที่ลำไส้เล็กส่วนต้นมีหูรูด (sphincter of Oddi) ปิดอยู่ น้ำดีจึงยังไหลลงไปไม่ได้

เมื่อเราทานอาหารที่มีไขมันเข้าไป ระบบประสาทอัตโนมัติจะสั่งการให้หูรูดที่ลำไส้เล็กเปิดออก ถุงน้ำดีบีบตัวขับน้ำดีออกมา ผ่านท่อของถุงน้ำดี ลงมายังท่อน้ำดีรวม (common bile duct, CBD) เข้าสู่ลำไส้เล็ก น้ำดีมีหน้าที่ตีไขมันให้แตกตัวเป็นหยดเล็ก ๆ จากนั้นจึงถูกน้ำย่อยไลเปส (lipase) จากตับอ่อนย่อยต่อให้เป็นกรดไขมัน (fatty acid) และกลีเซอรอล (glycerol)

สาเหตุของโรคถุงน้ำดีอักเสบ

ร้อยละ 75-90 ของผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบพบว่ามีนิ่วอยู่ในส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบน้ำดี และอาหารมื้อใหญ่ที่มีไขมันมากก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เป็นภาวะที่เกิดซ้ำเติม ส่วนน้อยที่ไม่พบนิ่วมักเกิดจากการลุกลามของโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ และภาวะบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

นิ่วในถุงน้ำดี (gallstones หรือ cholelithiasis) เกิดจากการตกผลึกของคอเลสเตอรอล เลซิทิน และกรดน้ำดี พบได้บ่อยในเพศหญิงวัยกลางคน, ผู้ที่ค่อนข้างอ้วน, และผู้ที่เสียสมดุลขององค์ประกอบของน้ำดี เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่รับประทานยาลดคอเลสเตอรอลบางจำพวก และผู้ที่มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อมีนิ่วเกิดขึ้น ทุกครั้งที่ถุงน้ำดีบีบตัวก็อาจเกิดการระคายเคืองผนัง ทำให้รู้สึกจุก ๆ ไปจนถึงเจ็บแปล๊บตรงถุงน้ำดี นอกจากนั้นเม็ดนิ่วยังอาจลอยตามน้ำดีขึ้นมาติดตรงปากถุง ทำให้เกิดอาการปวดบิดอย่างรุนแรง (biliary colic) หรือเลยไปอุดตันในท่อน้ำดีรวม ทำให้เกิดอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) เนื่องจากน้ำดีคั่ง ไม่สามารถไหลผ่านลงไปในลำไส้ได้

อาการของโรคถุงน้ำดีอักเสบ

อาการแบ่งได้เป็น 2 แบบ

  1. แบบเฉียบพลัน (acute cholecystitis) เป็นแบบที่พบเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวาอย่างรุนแรงภายหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ ประมาณ 1-3 ชั่วโมง ตำแหน่งที่เจ็บที่สุดสามารถจะชี้ชัดได้ด้วยนิ้วมือเพียง 1-2 นิ้ว อาการปวดจะค้างคาอยู่ตรงนั้นเป็นชั่วโมง ๆ หากทิ้งไว้วันถัดไปจะเริ่มมีไข้ อาการตาเหลืองไม่ค่อยพบในแบบเฉียบพลันนี้
  2. ภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ แม้อาการจะสามารถดีขึ้นได้เองใน 7-10 วัน แต่ก็มีปัญหาแทรกซ้อนในอัตราสูง ร้อยละ 20 ของถุงน้ำดีที่อักเสบอาจเน่า และร้อยละ 2 อาจแตก ซึ่งเป็นอันตรายมาก แต่ส่วนใหญ่แบบเฉียบพลันนี้อาการปวดจะรุนแรงมากจนต้องไปพบแพทย์อยู่แล้ว

  3. แบบเรื้อรัง (chronic cholecystitis) พบน้อยกว่ามาก เป็นภาวะที่ผนังของถุงน้ำดีมีการหนาตัวและแข็งจากการที่บวมอยู่เป็นเวลานาน ๆ อาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวาจะไม่รุนแรง แต่เรื้อรังและเป็น ๆ หาย ๆ แยกจากภาวะปวดท้องจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ยาก

การวินิจฉัยโรค

แพทย์ที่มีความชำนาญสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติและการตรวจร่างกาย จากนั้นควรตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อซ้ำซ้อนด้วยหรือไม่ และตรวจอัลตราซาวด์เพื่อยืนยันการอักเสบและดูว่ามีนิ่วในระบบน้ำดีร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากโรคนี้มักเกิดในผู้ป่วยที่ค่อนข้างอ้วน ในรายที่หน้าท้องหนามากอัลตราซาวด์อาจเห็นถุงน้ำดีได้ไม่ชัด การสแกนระบบน้ำดีที่เรียกว่า HIDA scan ก็ช่วยวินิจฉัยได้

เนื่องจากนิ่วของน้ำดีมักไม่ทึบแสง เอกซเรย์ธรรมดาของช่องท้องจึงไม่ค่อยช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ แต่แพทย์ก็มักส่งทำเพื่อไม่ให้พลาดโรคอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันได้คล้ายกัน

การรักษา

ในระยะแรกผู้ป่วยจะได้รับการงดน้ำงดอาหารเพื่อให้ถุงน้ำดีได้พัก และได้รับน้ำเกลือ, ยาระงับปวด, และยาปฏิชีวนะหากพบว่าเริ่มมีการติดเชื้อซ้ำแล้ว การรักษาโดยตรงคือการตัดถุงน้ำดีและเอานิ่ว (ถ้ามี) ออกไป ซึ่งแพทย์อาจทำด้วยวิธีผ่าตัดทางหน้าท้องหรือส่องกล้องผ่าตัด

นิ่วในท่อน้ำดีรวมหากไม่สามารถผ่าตัดเอาออกได้ต้องใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะอาหาร ลงต่อไปในลำไส้เล็กส่วนต้น แล้วเข้าไปในรูเปิดของท่อน้ำดีรวม (Ampulla of Vater) จากนั้นสอดสายย้อนขึ้นไปคล้องเอานิ่วออกมา หัตถการนี้เรียกว่า ERCP

การป้องกัน

โรคนี้อาจป้องกันได้ยาก การป้องกันในระยะยาวคือป้องกันไม่ให้อ้วน ไม่รับประทานอาหารหวานมากไปจนเกิดโรคเบาหวาน และไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไปในมื้อเดียว