โรคค็อกสิดิออยโดไมโคสิส (Coccidioidomycosis)

โรคนี้พบได้น้อยในประเทศไทย เชื้อที่เป็นสาเหตุคือ Coccidioides immitis เป็นเชื้อราที่มี 2 รูปลักษณ์ ในดินบริเวณแห้งแล้งกึ่งทะเลทรายจะอยู่ในรูปคล้ายถังเบียร์ต่อกันเป็นเส้นยาว ๆ แต่ในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะอยู่ในรูปยีสต์ (ทรงกลม) เมื่ออากาศร้อนและแห้งแล้งเชื้อจะอยู่ใต้ดิน เมื่อภาวะเหมาะสม เชื้อจะเจริญบนผิวดิน สร้างสปอร์ฟุ้งกระจายไปตามลมและฝุ่น คนติดเชื้อโดยการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป เมื่อเข้าไปอยู่ในร่างกายคน ร้อยละ 60 ไม่แสดงอาการ อีกร้อยละ 40 แสดงอาการคล้ายหวัด คือมีไข้ ไอ อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก บางรายอาจมีตุ่มหรือผื่นแดงที่ผิวหนัง หายได้เอง เชื้อจะแสดงอาการขึ้นอีกครั้งเมื่อผู้นั้นมีภูมิต้านทานต่ำลง

อาการของโรค

โรคค็อกสิดิออยโดไมโคสิสส่วนใหญ่แสดงอาการทางระบบหายใจและผิวหนัง แต่เมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจายจะแสดงอาการได้หลายระบบ อาการมีหลายรูปแบบ ดังนี้

  1. แบบเฉียบพลัน (Acute coccidioidomycosis) เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อเข้าไปภายในเวลา 1-3 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาจมีเพียงไข้ ไอ อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ บางรายมีตุ่มนูนแดง กดเจ็บ ขึ้นที่ผิวหนัง โดยเฉพาะที่หน้าแข้ง หลัง อก และแขน (erythema nodosum) อาการจะเป็นอยู่หลายสัปดาห์ก่อนที่จะหายไปเอง ในรายที่อาการรุนแรงจะแสดงอาการทางระบบหายใจชัดขึ้น ไอมาก เจ็บหน้าอก เอกซเรย์มีหน่วยเล็ก ๆ คล้ายก้อนอยู่ในปอด
  2. แบบเรื้อรัง (Chronic coccidioidomycosis) ถ้าร่างกายกำจัดเชื้อในระยะเฉียบพลันได้ไม่หมด ในบางภาวะที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อราจะค่อย ๆ ทำให้ปอดอักเสบแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด ไอมีเลือดปน เจ็บหน้าอก ภาพรังสีทรวงอกจะพบก้อนเล็ก ๆ กระจายอยู่ในปอดทั้งสองข้าง (coccidioidoma) น้อยครั้งที่จะพบลักษณะเป็นโพรงหนอง (cavity with air-fluid level)
  3. แบบแพร่กระจาย (Disseminated coccidioidomycosis) มักพบในผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นประจำ เชื้อจะลุกลามจากแบบเรื้อรังออกนอกปอด กระจายไปตามระบบเลือดและน้ำเหลืองเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง กระดูก ตับ สมอง หัวใจ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดตามกระดูก มีข้อบวมอักเสบ ผิวหนังมีทั้งตุ่มกดเจ็บแบบ erythema nodosum และแผล ปวดศีรษะ ปวดท้อง หัวใจเต้นผิดปกติ

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคค็อกสิดิออยโดไมโคสิสที่แน่ชัดต้องอาศัยการเพาะเชื้อขึ้นจากเสมหะ แผล เลือด ไขกระดูก หรือน้ำไขสันหลัง ในเบื้องต้นการหยดเสมหะหรือหนองจากแผลด้วยน้ำยา KOH แล้วดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อาจเห็นเชื้อราเป็นรูปยีสต์ทรงกลมขนาดใหญ่ (20-200 ไมครอน) ผนังบาง ดังรูป

การตรวจทางซีโรโลยี่ที่ช่วยสนับสนุนได้แก่ Coccidioidin skin test, Tube precipitin test (TP) และ Complement fixation test (CF)

การรักษา

โรคค็อกสิดิออยโดไมโคสิสแบบเฉียบพลันส่วนใหญ่ไม่ต้องรักษา ร่างกายของคนปกติสามารถรักษาหายได้เอง ในผู้ป่วยที่เป็นมากหรือในรายที่เป็นปอดอักเสบแบบเรื้อรังไปแล้วสามารถรักษาได้ด้วยยา Fluconazole หรือ Itraconazole ชนิดรับประทาน ส่วนในรายที่เป็นถึงขั้นแพร่กระจายต้องใช้ยา Amphotericin B การรักษาใช้เวลาทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 6 เดือน