โรคคริปโตค็อกโคสิส (Cryptococcosis)

เชื้อคริปโตค็อกคัส (Cryptococcus neoformans) เป็นเชื้อราประเภทยีสต์ รูปร่างกลม มีแคปซูลล้อมรอบ พบได้ในดินและในมูลของนกพิราบ ก่อให้เกิดโรคทั้งในมนุษย์และในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยติดเชื้อจากการสูดหายใจเอาละอองดินหรือฝุ่นผงเข้าไป ในคนจะแสดงอาการของโรคก็ต่อเมื่อผู้นั้นสูญเสียภูมิคุ้มกันของร่างกายชนิดเซลล์ไป เช่น เป็นโรคเอดส์ ได้รับยากดภูมิต้านทาน โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ทางแถบประเทศยุโรป เชื้อนี้มักก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนัง แต่ในทวีปอเมริกาและเอเชีย เชื้อนี้มักก่อให้เกิดโรคที่ปอดและที่สมอง ในประเทศไทยพบโรคคริปโตค็อกโคสิสของเยื่อหุ้มสมองมากที่สุด โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเอดส์

อาการของโรค

โรคคริปโตค็อกโคสิสในคนจะแสดงอาการได้ 5 ลักษณะ ดังนี้

  1. ที่ปอด (Pulmonary cryptococcosis) ปอดเป็นตำแหน่งแรกที่เชื้อคริปโตค็อกคัสเข้าสู่ร่างกาย แต่ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ส่วนมากไม่แสดงอาการของโรคทางเดินหายใจ (subclinical respiratory infection) บางรายอาจมีอาการไอ พบเสมหะเป็นเมือกเล็กน้อย มีไข้ตํ่าๆ เจ็บอกขณะหายใจ อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด
  2. ที่ระบบประสาท (CNS cryptococcosis) มีได้ 2 ลักษณะคือ
        2.1 เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (cryptococcal meningitis) เชื้อคริปโตค็อกคัสชอบเจริญอยู่ในน้ำไขสันหลังมาก เพราะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวน้อยและยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดี มีทั้งแอสปาราจินและครีเอตินิน ผู้ป่วยจะค่อย ๆ เกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเวลาเป็นสัปดาห์ โดยมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ ปวดตามตัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึมลง อาจจะมีอาการชัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการคอแข็งเหมือนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
        2.2 ก้อนคริปโตค็อกโคมา (cryptococcoma) เป็นลักษณะของกลุ่มก้อนเชื้อราในเนื้อสมอง พบได้น้อย ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ C. gattii มากกว่า C. neoformans ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน ชัก และเป็นอัมพาต
  3. ที่ผิวหนัง (Cutaneous cryptococcosis) ผู้ป่วยจะมีตุ่มหนองคล้ายสิวบนผิวหนัง ต่อมาจะกลายเป็นฝีและแตกออกเป็นแผลหลุม
  4. ที่กระดูก (Osseous cryptococcosis) พบเพียงร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ คนไข้จะมีอาการกระดูกบวมโป่งและเจ็บปวดในบริเวณที่เป็น
  5. แบบกระจายทั่วร่างกาย (Disseminated cryptococcosis) เชื้อจะแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ไปทำให้เกิดการอักเสบ เป็นฝีของอวัยวะภายในทั่วรางกาย ผู้ป่วยมีอาการหนัก ปวดศีรษะ ปวดท้อง หอบเหนื่อย มีไข้ ซึม ซีด

การวินิจฉัยโรค

โรคคริปโตค็อกโคสิสยืนยันได้จากการเพาะเชื้อขึ้นจากน้ำไขสันหลัง เสมหะ เลือด หรือจากชิ้นเนื้อตัวอย่างที่ตัดมา

ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีไข้ ปวดศีรษะเรื้อรัง และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองไม่พบก้อน ควรตรวจหาเชื้อราชนิดนี้ในน้ำไขสันหลังทุกราย เมื่อหยด India ink ลงไปในน้ำไขสันหลังแล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นเชื้อคริปโตค็อกคัสลักษณะเป็นเซลล์กลม ๆ มีแคปซูลหนาแวววาวสะท้อนแสง

การตรวจหา cryptococcal antigen ในเลือดและน้ำไขสันหลัง ก็ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ในรายที่ส่องไม่พบเชื้อแต่อาการน่าสงสัยมาก

การรักษา

ยารักษาโรคคริปโตค็อกโคสิสที่ได้ผลดีคือ Amphothericin B เป็นยาที่ให้ทางหลอดเลือดดำวันละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ อาจให้ยา Flucytosine ด้วยเพื่อเสริมฤทธิ์กันก็ได้ แต่ต้องระวังมากในผู้ป่วยที่ไตไม่ดี หลังจากนั้นให้รับประทานยา Fluconazole 400 มก./วัน ต่อไปอีก 8-10 สัปดาห์

ผู้ป่วยที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากคริปโตค็อกโคสิสมักมีความดันของน้ำไขสันหลังสูงมาก เพียงการเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อส่งตรวจในครั้งแรกก็อาจทำให้อาการดีขึ้น แต่ในระหว่างการรักษา อาการปวดศีรษะและสับสนอาจกำเริบขึ้นมาอีก ควรทำการเจาะน้ำไขสันหลังซ้ำเพื่อระบายความดัน และส่งเพาะเชื้อเพื่อติดตามผลการรักษา

ในผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากคริปโตค็อกโคสิส เมื่อรักษาครบจนอาการเป็นปกติแล้ว จำเป็นต้องรับประทานยา Fluconazole ขนาด 200 มก./วัน ต่อไปจนตลอดชีวิต เพราะโอกาสที่โรคจะเกิดซ้ำอีกสูงมาก