โรคพยาธิตืดหมู (Cysticercosis)

โรคนี้เกิดจากพยาธิตัวตืดที่อยู่ในหมูชื่อ Taenia solium มีหมูเป็นโฮ้สท์กลางตัวสำคัญ พยาธิตัวแก่จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของคนซึ่งเป็นโฮ้สท์เฉพาะ ปล้องแก่ของพยาธิจะหลุดออกมาปนกับอุจจาระ ในปล้องหนึ่งมีไข่ประมาณพันฟอง เมื่อหมูกินปล้องของตัวตืด หรือไข่พยาธิที่แตกออกจากปล้องเข้าไป ตัวอ่อนจะไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่วงจรเลือดหรือน้ำเหลือง ไปฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อทั่วร่างกายหมู ภายใน 60 วันจะเจริญเป็นซิสติเซอร์คัส มีถุงหุ้มโดยรอบ เนื้อหมูระยะนี้จะเรียกว่าหมูสาคู เพราะดูคล้ายเม็ดสาคูอยู่ในเนื้อหมู เมื่อคนกินเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เข้าไป ซิสติเซอร์คัสจะออกมาเจริญเป็นตัวแก่อยู่ในลำไส้เล็กต่อไป

ในบางคราว คนอาจรับประทานไข่ของพยาธิตืดหมูที่ติดอยู่ตามผัก ผลไม้ หรืออาเจียนขย้อนปล้องแก่ของพยาธิขึ้นมาแล้วกลืนลงไปใหม่ ลักษณะนี้ คนจะกลายเป็นโฮ้สท์กลางของพยาธิชนิดนี้ ตัวอ่อนที่ออกจากไข่จะไชทะลุผนังลำไส้ของคน ลอยตามกระแสเลือดไปอยู่ตามกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เจริญเป็นซิสติเซอร์คัสที่มีถุงหุ้ม สามารถเห็นได้จากภาพเอ็กซเรย์เหมือนเม็ดข้าวสารอยู่ในกล้ามเนื้อ

อาการของโรค

  • ถ้าคนกินเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ จะได้ซิสติเซอร์คัสเข้าไปเจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้ ทำให้มีอาการท้องเดิน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ขาดอาหาร ผอมลง ทั้ง ๆ ที่หิวบ่อยและกินได้มาก เพราะตัวตืดคอยแย่งกินอาหารในลำไส้ และอาจเกิดอาการลำไส้อุดตันจากพยาธิตัวแก่ที่รวมตัวกันเป็นก้อนอุดทางผ่านของอาหาร หรืออาจเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากการที่หัวพยาธิไชทะลุลำไส้ได้
  • ถ้าคนกินไข่พยาธิที่ติดตามพืชผักเข้าไป จะได้ตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปเจริญเป็นซิสติเซอร์คัสอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ อาการจะขึ้นกับตำแหน่งที่ซิสติเซอร์คัสอยู่ เช่น ในลูกตา จะทำให้ปวดตา ตาพร่า หรืออาจตาบอดได้ ในสมอง อาจทำให้เกิดอาการชักเฉพาะที่ หรือถ้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ซิสติเซอร์คัสนี้นานไปจะตายและมีหินปูนมาจับ เห็นได้ชัดจากภาพเอ็กซเรย์

การวินิจฉัย

สามารถวินิจฉัยโรคได้ 3 วิธี

  1. ตรวจอุจจาระพบไข่หรือปล้องของพยาธิตัวตืดชนิดนี้
  2. ลักษณะเฉพาะของซิสติเซอร์คัสในภาพเอ็กซเรย์
  3. ตรวจพบพยาธิตัวอ่อนในชิ้นเนื้อของอวัยวะที่ตัดออกมา

การตรวจทางซีโรโลยี่มักใช้ประกอบการวินิจฉัยเมื่อเห็นสิ่งที่สงสัยจะเป็นซิสติเซอร์คัสในภาพเอ็กซเรย์

การรักษา

ยาฆ่าพยาธิตืดหมู (รวมทั้งพยาธิตืดวัว) ที่ได้ผลดี สามารถฆ่าได้ทุกระยะของพยาธิ คือ Praziquantel และ Albendazole โดยอาจรับประทาน Praziquantel ขนาด 50 mg/kg/วัน แบ่งวันละ 3 เวลา หรือรับประทาน Albendazole ขนาด 15 mg/kg/วัน แบ่งวันละ 2 เวลา เป็นเวลานาน 15 วัน

สำหรับซิสติเซอร์คัสในสมองต้องระวังเป็นพิเศษในการใช้ยารักษา เพราะเมื่อพยาธิในซิสต์ตายจะเกิดปฏิกิริยารุนแรง ผู้ป่วยจะชักหรือไม่รู้สติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพื่อป้องกันปฏิกิริยานี้แพทย์จึงมักให้ยา Prednisolone และยากันชักควบคู่ไปด้วย

ในรายที่มีอาการทางระบบประสาท ควรรักษาตามอาการ การจะผ่าตัดเอาซิสติเซอร์คัสในสมองออกจนหมดเป็นเรื่องยาก ควรรอให้พยาธิตายไปเองจะปลอดภัยกว่า

วิธีป้องกัน

การป้องกันโรคนี้ดีกว่าการรักษา ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเสมอ ล้างผัก ผลไม้ และมือให้สะอาดก่อนการรับประทานทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มีบ่อกักเก็บมิดชิด และไม่ใช้อุจจาระสดเป็นปุ๋ยรดผัด