โรคกลาก (Dermatophytosis)

กลากเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากกลุ่มของเชื้อรา Dermatophyte ซึ่งมี 3 พวก คือ Trichophyton, Microsporon และ Epidermophyton เชื้อรากลุ่มนี้จะก่อโรคในส่วนของผิวหนังที่สร้างเคอราติน (keratin) เท่านั้น ฉะนั้นจะเกิดโรคได้ที่ผิวหนังชั้นขี้ไคล (stratum corneum) เส้นผมและเล็บ

โรคกลากพบมากในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น รอยโรคที่ผิวหนังมีลักษณะแตกต่างกันค่อนข้างมาก ขึ้นกับชนิดของเชื้อและตำแหน่งที่เป็น ในภาษาไทยจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น สังคัง หมายถึงกลากที่อวัยวะเพศ ชันนะตุ หมายถึงกลากที่หนังศีรษะ ฮ่องกงฟุต หมายถึงกลากที่ง่ามนิ้วเท้า ในภาษาอังกฤษก็มีชื่อเรียกต่างกันตามตำแหน่งของโรค

กลากที่ลำตัว คอ และแขนขา (Tinea corporis)

เป็นโรคกลากชนิดที่พบบ่อยที่สุด มีลักษณะได้ 7 แบบ คือ

  1. แบบวงแหวน รอยโรคจะแผ่ขยายออกเป็นรูปวงแหวน ขอบชัด สีแดง ขอบนูนกว่าตรงกลางและผิวหนังโดยรอบ ผิวหนังตรงกลางจะดูค่อนข้างปกติ
  2. แบบผื่นแดง ผื่นเป็นวงกลม มีขุยหรือสะเก็ดเล็กน้อย ผิวหนังตรงกลางดูไม่ปกติเสียทีเดียว ขอบนูนกว่าตรงกลางและผิวหนังโดยรอบ ลักษณะคล้ายโรคแพ้ผื่นคัน (Eczema) แต่ไม่คันเท่า
  3. แบบสะเก็ดน้ำเหลือง รอยโรคจะคล้ายโรคพุพอง (Impetigo) ลักษณะยังเป็นขอบนูน มีสะเก็ดน้ำเหลืองแห้ง ๆ แข็ง ๆ คลุม
  4. แบบตุ่มน้ำ รอยโรคมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก ขึ้นทีละหลายเม็ดใกล้เคียงกัน คล้ายโรคเริมแต่ไม่เจ็บแสบ และคล้ายโรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกันแต่เม็ดเล็กกว่า
  5. แบบแผ่นแข็ง รอยโรคเป็นแผ่นหนา สีแดงเข้ม แข็งมาก มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามะเร็งด้วยฮอร์โมนหรือยาเคมี และผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน
  6. แบบตุ่มหนองรอบรูขุมขน ลักษณะเป็นการอักเสบตามบริเวณที่มีขน และทำให้ขนบริเวณนั้นแตกหัก รอยโรคกว้างขึ้นเป็นวง มีตุ่มหนองอยู่บริเวณตรงกลาง
  7. แบบก้อนแข็ง รอยโรคเป็นก้อนนูน แข็ง อยู่ใต้รูขุมขน มักเกิดจากการโกนโดยใช้มีดโกนที่ไม่สะอาด เชื้อราเข้าไปเจริญในรูขน

กลากที่ใบหน้า (Tinea faciei)

พบได้ 4 แบบตามลักษณะของกลากที่ลำตัว คือ แบบวงแหวน แบบผื่นแดง แบบแผ่นแข็ง และแบบตุ่มหนองรอบรูขุมขน (ตามหนวด เครา)

กลากที่หนังศีรษะ (Tinea capitis)

พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มักติดเชื้อราระหว่างที่ใช้ใบมีดโกนศีรษะ ลักษณะเป็นหย่อมผมร่วงหลาย ๆ หย่อม ขอบชัด ที่หนังศีรษะตรงกลางจะมีสะเก็ดหรือรังแคเป็นขุยขาว ๆ คลุม เส้นผมที่ติดเชื้อนี้จะจำกัดเฉพาะเส้นผมที่กำลังเจริญเติบโตเท่านั้น (anagen hair) โดยจะหักหรือหลุดออกทั้งเส้น เห็นเป็นจุดดำ ๆ ที่หนังศีรษะ

ผู้ป่วยบางรายมีตุ่มหนองที่หนังศีรษะร่วมด้วย เมื่อแตกจะมีน้ำเหลืองกรัง เรียกว่าชันนะตุ ลักษณะเช่นนี้เมื่อหายจะเกิดแผลเป็น และเส้นผมไม่งอกอีก

กลากที่ขาหนีบ (Tinea cruris)

พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะในคนอ้วน คนที่มีเหงื่อออกมาก หรือมีโรคเบาหวาน เริ่มแรกจะเป็นตุ่มแดงที่ข้อพับของต้นขา แล้วลุกลามเข้าไปทางด้านในของต้นขาและที่อวัยวะเพศ ลักษณะเป็นวงแหวน ขอบนูนแดง มีขุยละเอียด คันมาก มักเป็นเรื้อรัง เพราะบริเวณนั้นอับชื้น

กลากที่เท้า (Tinea pedis)

ส่วนใหญ่พบในผู้ที่สวมถุงเท้าและรองเท้าที่อับชื้น ผู้ที่มีเหงื่อออกที่เท้ามาก และในผู้ที่เท้าเปียกน้ำอยู่นาน ๆ มีได้ 3 ลักษณะคือ

  1. เป็นสีขาว ยุ่ย แตก มีกลิ่น ที่ง่ามนิ้วเท้า มีอาการคัน
  2. เป็นหนังลอกที่ฝ่าเท้า และง่ามนิ้วเท้า มีสะเก็ดแห้งเป็นแผ่น ๆ มักเป็นเรื้อรัง
  3. เป็นการอักเสบเฉียบพลัน เท้าจะบวมแดง มีตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ ขึ้น คันมาก ถ้าแตกจะเฉะแฉะ มักลามมาติดที่มือจากการเกาด้วย

กลากที่มือ (Tinea manuum)

มักพบในผู้ที่ใช้มือทำงานที่ต้องแช่น้ำนาน ๆ รอยโรคมีได้ 4 ลักษณะ คือเป็นแบบวงแหวนเหมือนกลากที่ลำตัว และเป็นแบบเดียวกับกลากที่เท้าทั้ง 3 แบบ

กลากที่เล็บ (Tinea ungium)

โรคเชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis) ส่วนใหญ่เป็นจากเชื้อกลาก เชื้อราอื่น ๆ พบได้น้อย และมักพบในกรณีที่มีการบาดเจ็บที่เล็บ หรือเป็นโรคอื่นของเล็บมาก่อน กลากที่เล็บพบได้ 3 ลักษณะ คือ

  1. เป็นโพรงใต้เล็บ
  2. มีการหนาตัวและเปลี่ยนสีของแผ่นเล็บ ผิวเล็บไม่เรียบ มีการผุ ทำให้เล็บเสียรูปร่าง บางลง หรือฝ่อไป
  3. เป็นปื้นขาวบนผิวเล็บ ขอบเขตชัดเจน

การวินิจฉัย

โรคกลากมีลักษณะคล้ายกับโรคผิวหนังอื่น ๆ มาก บ่อยครั้งไม่อาจแยกได้ด้วยตา จำเป็นต้องขูดขุย สะเก็ด หรือถอนเส้นผมไปย้อมด้วย 10% โปแตสเซี่ยมไฮดรอกไซด์แล้วดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบลักษณะของเชื้อราที่เป็นกิ่งก้านคล้ายต้นไม้ดังรูป

การรักษา

กลากตามผิวหนังทั่วไปรักษาด้วยยาทา ยาที่ได้ผลดีได้แก่ Whitfield’s ointment, Undecylinic acid (Desenex), Tolnaftate, Clotrimazole, Econazole, Ketoconazole, Miconazole, และ Allylamine ระยะเวลาที่ให้ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น ตามลำตัว แขนขา ขาหนีบ ให้ทานาน 2-4 สัปดาห์ ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ควรทาอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์

กลากที่หนังศีรษะและเล็บต้องใช้ยารับประทาน ได้แก่ Griseofulvin, Ketoconazole, Itraconazole, Terbinafine ที่หนังศีรษะรับประทานนาน 2-4 เดือน ที่เล็บรับประทานนาน 4-6 เดือน หรือจนกว่าเล็บจะงอกปกติ (ที่เล็บเท้าอาจต้องทานนาน 8-12 เดือน) บางครั้งกลากที่ลำตัวที่มีลักษณะหนา แข็ง หรือเป็นบริเวณกว้างมาก อาจใช้ยารับประทานร่วมด้วยก็ได้

การป้องกัน

สุขนิสัยที่ควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคเชื้อราที่ผิวหนังได้แก่

  1. สวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ หากไม่สามารถเลี่ยงได้ควรใช้ undecylinic acid หรือ tolnaftate powder โรยเท้าหลังอาบน้ำเช้า-เย็นทุกวัน
  2. ไม่ควรใช้ หวี เสื้อผ้า กรรไกรตัดเล็บ และรองเท้า ร่วมกับผู้อื่น
  3. เช็ดถูสะเก็ด ขี้ไคล หนังยุ่ยที่ง่ามนิ้ว ให้สะอาดขณะอาบน้ำเสมอ
  4. ใช้ selenium sulfide หรือ ketoconazole shampoo สระผมร่วมด้วยเพื่อลดจำนวน spore
  5. ใช้ยาลดเหงื่อ เช่น 6.25 - 20% aluminium chloride ทาบริเวณที่เหงื่อออกมาก เช่น รักแร้ ฝ่าเท้า
  6. แช่เท้าในน้ำด่างทับทิมอ่อน ๆ ในรายที่ต้องใส่ถุงเท้า รองเท้า ที่เหม็นอับทุกวัน