โรคคอตีบ (Diphtheria)

โรคคอตีบเกิดจากแบคทีเรียรูปแท่ง กรัมบวก ชื่อ Corynebacterium diphtheriae ติดต่อทางการหายใจ และทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก คอ ทอนซิล กล่องเสียง โดยเชื้อดิบทีเรียจะสร้างสารพิษ (exotoxin) มาทำลายเนื้อเยื่อในบริเวณที่มันฝังตัวอยู่ เกิดเป็นแผ่นเนื้อตายสีเทาขนาดใหญ่ ซึ่งอาจปิดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก อุบัติการณ์ของโรคคอตีบพบน้อยลงมากหลังจากที่เริ่มมีการใช้วัคซีน DPT

อาการของโรค

เด็กที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนจะเป็นโรคคอตีบได้บ่อยในช่วงอายุ 1-6 ปี ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-4 วัน อาการแบ่งตามตำแหน่งที่ติดเชื้อได้ดังนี้

  1. โรคคอตีบที่จมูก ในระยะแรกจะมีเพียงน้ำมูกใส ต่อมาน้ำมูกจะมีเลือดปน บางครั้งมีกลื่นเหม็น มีการลอกของเนื้อเยื่อบริเวณจมูก ถ้าคลำดูจะพบแผ่นเยื่อแข็ง ๆ อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างรูจมูกทั้งสองข้าง ถ้าพยายามแกะจะมีเลือดออก โรคคอตีบที่จมูกอาการมักไม่รุนแรง บางรายอาจไม่รู้สึกว่ามีไข้ด้วยซ้ำ
  2. โรคคอตีบที่คอหอยและทอนซิล ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีไข้ เจ็บคอ อาจพบมีต่อมน้ำเหลืองโต ต่างจากโรคคอและทอนซิลอักเสบจากเชื้อ Streptococcus ที่มักมีไข้สูงเฉียบพลัน เจ็บคอมาก และพบจุดหนองที่ทอนซิลอย่างรวดเร็ว แผ่นเยื่อตายสีเทาของโรคคอตีบจะเริ่มพบตั้งแต่วันที่สามเป็นต้นไป ระหว่างนี้ไข้จะเริ่มสูงขึ้น และอาการเจ็บคอจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้น ในเด็กเล็กรีบพาไปรักษา มิฉะนั้นเนื้อเยื่ออาจลุกลามจนปิดทางเดินหายใจ
  3. โรคคอตีบที่กล่องเสียง มักเกิดจากการลุกลามของโรคคอตีบที่คอหอยลงไป ผู้ป่วยจะมีคอบวม เสียงแหบ กลืนลำบาก หายใจฝืด และหายใจมีเสียงดัง หลังจากที่มีอาการเจ็บคอได้สักพัก ระยะนี้ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
  4. โรคคอตีบที่อื่น ๆ เกิดจากสารพิษของเชื้อถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้เกิดเนื้อตายในบริเวณอื่น ๆ เช่น ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ใบหู ช่องคลอด หัวใจ สมอง เป็นต้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตคือการที่สารพิษทำลายกล้ามเนื้อหัวใจและระบบประสาท อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและหัวใจล้มเหลวมักพบในสัปดาห์ที่สอง ส่วนอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อต่าง ๆ เช่น ตา คอหอย กระบังลม แขนขา มักพบในสัปดาห์ที่สามของโรค

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคคอตีบที่แน่ชัดทำได้โดยการเพาะเชื้อดิบทีเรียจากแผ่นเนื้อเยื่อที่เชื้อสร้างขึ้น แต่การรักษาควรเริ่มทันทีในรายที่สงสัย เพราะผลการเพาะเชื้อต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน สองโรคสำคัญที่มีอาการคล้ายกับโรคคอตีบและพบได้บ่อยกว่าในปัจจุบัน คือโรคคอและทอนซิลอักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสและโรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส ผลการเพาะเชื้อและการตรวจนับเม็ดเลือดจะช่วยแยกโรคทั้งสามนี้ได้

การรักษา

การรักษาเฉพาะของโรคคอตีบคือการให้ยาต้านสารพิษของเชื้อดิบทีเรีย (Diphtheria antitoxin หรือ DAT) ร่วมกับยาปฏิชีวนะ Penicillin เพื่อฆ่าเชื้อโดยตรง ระหว่างที่อาการเจ็บคอยังไม่ดีขึ้นต้องระวังภาวะทางเดินหายใจอุดตันและภาวะหัวใจเต้นผิดปกติอยู่ตลอดเวลา

การป้องกัน

มีวัคซีนป้องกันโรคคอตีบฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนและบาดทะยัก ในเด็กให้ฉีดเมื่อมีอายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี และ 5 ปี ผู้ที่หายจากโรคนี้แล้วก็ควรได้รับการฉีดวัคซีน เพราะการเป็นโรคนี้อาจไม่ทำให้เกิดภูมิต้านทานโรค ซึ่งหมายถึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ซ้ำได้อีก

ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคคอตีบและยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้ ควรได้รับยาปฏิชีวนะและวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคด้วย