โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas)

โรคไฟลามทุ่งเป็นโรคติดเชื้อของผิวหนังตั้งแต่ชั้นหนังแท้ขึ้นไป ไม่รวมชั้นไขมันและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่คือ Streptococcus เชื้อเข้าสู่ผิวหนังทางบาดแผลเล็ก ๆ หรือบางครั้งเพียงรอยถลอก แล้วกระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองของผิวหนังอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบที่มีลักษณะแดง กดเจ็บ ลุกลามแผ่ขยายอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง ผู้ป่วยที่มีภาวะบวมเพราะน้ำเหลืองคั่ง (lymphedema) จะเสี่ยงของการเกิดโรคไฟลามทุ่งซ้ำ ๆ

อาการของโรค

ผู้ป่วยมักมีประวัติได้รับอุบัติเหตุมาไม่นาน แต่อาจไม่สังเกตว่ามีบาดแผลตรงไหน บางรายอาจเกิดจากการเกาจนหนังถลอก อาการเริ่มด้วยมีไข้ หนาวสั่น ปวดเนื้อตัว อ่อนเพลีย ภายใน 48 ชั่วโมงต่อมาจึงเริ่มเห็น รอยโรคที่ผิวหนัง ลักษณะเป็นปื้นนูนแดง ร้อน กดเจ็บ ขอบชัด แยกจากส่วนของผิวหนังที่ปกติได้อย่างชัดเจน ต่างจากลักษณะของโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (cellulitis) ที่ไม่นูน ขอบไม่ชัด เพราะเป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นที่ลึกลงไปอีก ผู้ป่วยโรคไฟลามทุ่งมักตกใจที่รอยแดงแผ่ขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว บางรายที่เป็นมาก ผิวหนังที่แดงจะเกิดเป็นตุ่มน้ำ ต่อมาจะแตก มีหนังกำพร้าหลุดลอก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีต่อมน้ำเหลืองในบริเวณข้างเคียงโตด้วย

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือการพัฒนาเป็นโพรงฝี การเกิดเนื้อตาย (gangrene) ในบริเวณที่บวมมากจนเลือดมาเลื้ยงไม่ได้ และการเกิดหลอดเลือดดำอักเสบในบริเวณใกล้เคียง ในเด็กมีโอกาสเกิดปฏิกริยาภูมิคุ้มกันจนเกิดโรคไตอักเสบ (glomerulonephritis) หรือโรคไข้รูมาติกได้ในภายหลัง

การวินิจฉัยโรค

โรคไฟลามทุ่งวินิจฉัยจากอาการทางคลีนิก การเพาะเชื้อทั้งจากเลือดและผิวหนังมีโอกาสพบเชื้อได้น้อยมาก การตรวจนับเม็ดเลือดอาจช่วยสนับสนุนว่าเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่โรคผิวหนังอักเสบโดยทั่วไป

การรักษา

การรักษาโรคไฟลามทุ่งโดยเฉพาะคือการให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มของ Penicillin (อาจเป็นในรูปฉีดหรือรับประทาน) หรือ Macrolides เป็นเวลา 10 วัน การรักษาตามอาการได้แก่ การยกส่วนที่บวมให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวม การให้ยาแก้ปวดลดไข้ และการล้างแผลเช้า-เย็นกรณีที่มีผิวหนังหลุดลอก ผลการรักษาค่อนข้างดี รอยโรคมักหายสนิทใน 7 วัน

การป้องกัน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคไฟลามทุ่งซ้ำ ๆ ควรตัดเล็บมือให้สะอาด ไม่ควรเกาผิวหนังที่คันอย่างรุนแรง และถ้ามีส่วนใดของร่างกายที่บวมโดยปราศจากอาการปวดบ่อย ๆ ควรเข้าได้รับการตรวจอัลตร้าซาวน์ดูการอุดตันของทางเดินน้ำเหลืองด้วย