โรคพยาธิฟิลาเรีย (Filariasis)

โรคนี้เกิดจากพยาธิตัวกลมใน Superfamily Filarioidea มี 6 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคในคน โดยมียุงเป็นพาหะ พยาธิตัวแก่จะอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองของคน ทำให้ทางเดินน้ำเหลืองอุดตัน และเกิดภาวะเท้าช้าง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "โรคเท้าช้าง"

พยาธิตัวเมียจะออกลูกเป็นไมโครฟิลาเรีย (microfilaria) เข้าสู่กระแสเลือด ในเวลากลางวันไมโครฟิลาเรียจะอยู่ในหลอดเลือดเล็ก ๆ ของปอดและอวัยวะภายใน ในเวลากลางคืนจึงจะออกมาในหลอดเลือดตามผิวหนังและแขนขา เมื่อยุงกัดคนที่มีเชื้อในช่วงเวลานี้ ไมโครฟิลาเรียจะเจริญอยู่ในตัวยุงประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะเดินทางไปอยู่ที่ส่วนปากของยุง เมื่อยุงไปกัดคนอื่นต่อก็จะถ่ายทอดเชื้อไปยังอีกคนหนึ่ง

พยาธิสภาพ

พยาธิสภาพของระบบน้ำเหลืองในโรคพยาธิฟิลาเรียเกิดจากพยาธิตัวแก่ทั้งที่มีชีวิตและตายแล้วอุดกั้นทางเดินน้ำเหลือง ทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ บวม มีการขังของน้ำเหลืองภายในช่องต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ในช่องท้อง ในช่องทรวงอก ในถุงอัณฑะ ผิวหนังตรงตำแหน่งที่หลอดน้ำเหลืองอุดตันจะบวม ตอนแรกจะนุ่ม แต่ต่อไปจะหนา แข็ง คลำได้เป็นก้อนขรุขระ อาจมีน้ำเหลืองแตกซึมออกมาจากหลอดน้ำเหลืองชั้นตื้น ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเปียกชื้น เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ง่าย

อาการของโรค

ผู้ที่ได้รับเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการ ในรายที่เกิดอาการจะแสดงออกหลังรับเชื้อเข้าไปประมาณ 8-12 เดือน เริ่มแรกจะมีแต่อาการเฉพาะที่ คือ ปวด บวม แดง ที่แขนขา หรือบริเวณถุงอัณฑะ ต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองโต กดเจ็บ มักเป็นที่ขาหนีบ และข้อศอก มีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น เหงื่อออก ซึม กระสับกระส่าย อาการจะเป็นอยู่ราว 7-10 วันก็จะทุเลาหายไป แล้วก็กลับมาเป็นซ้ำใหม่อีกเรื่อย ๆ

การอักเสบและอุดตันของหลอดน้ำเหลืองนั้นจะเป็นไม่เท่ากัน เช่น ถ้าเป็นทั้งสองขา ขาข้างหนึ่งมักเป็นมากกว่าอีกข้างหนึ่ง หากเป็นในช่องท้อง จะเกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันเป็นพัก ๆ พักหนึ่ง ๆ เป็นอยู่หลายวัน แล้วหายไปเอง แล้วก็กลับเป็นซ้ำใหม่ หากเป็นที่อัณฑะ ลูกอัณฑะจะบวมโต เจ็บปวดอย่างมาก ผิวหนังของถุงอัณฑะจะแดง อาจมีน้ำอยู่ภายใน อาจเกิดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ผู้ป่วยจะมีไข้ หนาวสั่น ร่วมด้วย อาการจะค่อย ๆ หายไปเอง แล้วกลับเป็นมาอีก

เมื่ออาการเป็นอยู่นานหลายปี ผิวหนังบริเวณที่หลอดน้ำเหืองอุดตันจะหนา แข็ง ขรุขระ ห้อยย้อยพับเป็นหลืบ ๆ ถ้าเป็นที่ขาจะทำให้มีลักษณะเหมือนเท้าช้าง หนักหลายกิโลกรัม ผู้ป่วยอาจต้องนุ่งสะโหร่งหรือเดินขากาง

การวินิจฉัย

การตรวจเลือดหาไมโครฟิลาเรียควรทำในเวลากลางคืน ระหว่างเวลาประมาณ 18.00-02.00 น. ถึงกระนั้นก็มักไม่ค่อยพบในรายที่เข้าสู่ภาวะเท้าช้างชัดเจนแล้ว ในกรณีนี้ต้องใช้การตรวจทางซีโรโลยี่ (Complement fixation test) ช่วย

อีกวิธีหนึ่งคือตรวจหาไมโครฟิลาเรียจากน้ำเหลือง มักใช้น้ำเหลืองที่คั่งอยู่ในถุงอัณฑะ ช่องท้อง หรือช่องเยื่อหุ้มปอด

ในระยะเริ่มแรกของโรคที่มีไข้และการอักเสบของหลอดน้ำเหลือง ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคหลอดน้ำเหลืองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (lymphangitis) ซึ่งมักอักเสบจากส่วนปลายเข้าสู่ส่วนกลาง ขณะที่โรคพยาธิฟิลาเรียจะเกิดการอักเสบ บวม แดง จากส่วนกลางไปสู่ส่วนปลาย

ในระยะที่มีต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะที่ขาหนีบ ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรค lymphogramuloma inguinale และโรค lymphoma การตรวจทางพยาธิวิทยาจะช่วยวินิจฉัยโรคได้

ในรายที่มีน้ำคั่งในช่องท้องหรือในช่องเยื่อหุ้มปอด ต้องแยกจากสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค มะเร็ง

ในรายที่เกิดภาวะเท้าช้างชัดเจน แต่หาตัวไมโครฟิลาเรียไม่พบ ต้องนึกถึงโรคอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายกันได้ เช่น Milroy's disease หรือ Familial lymphoedema ซึ่งมักมีประวัติของคนในครอบครัวเป็นด้วย โรค Chronic bacterial lymphangitis และโรคมะเร็งระยะลุกลาม เป็นต้น

การรักษา

ในระยะแรกที่มีการอักเสบของระบบน้ำเหลือง มีไข้ ควรตรวจเลือดหาไมโครฟิลาเรียทุกคืน อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยหากตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ควรให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด พันแขนขาที่บวมด้วย elastic bandage จากส่วนปลายขึ้นมาถึงส่วนโคน ยกแขนขาที่บวมให้สูงขึ้น ทำความสะอาดให้แห้งอยู่เสมอ

เมื่อพบตัวไมโครฟิลาเรียแล้ว ยาที่ได้ผลดีที่สุดคือ Diethycarbamazine (Hetrazan) แต่มีข้อเสียคืออาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ต่อไมโครฟิลาเรียที่ถูกฆ่าตายในระยะแรกของการรักษา เชื้อจะหายไปจากในเลือดภายใน 2-4 วัน แต่ต้องรับประทานต่อไปอีกนาน 3-6 สัปดาห์ ยาอื่นที่ได้ผล เช่น Flubendazole และ Levamisole

การรักษาทางศัลยกรรมจะช่วยได้บ้างเมื่อมีภาวะเท้าช้างเกิดขึ้นแล้ว โดยการตัดออกและตกแต่งเสียใหม่ ปัจจุบันแพทย์ไทยค้นพบวิธีการขันชะเนาะว่าสามารถค่อย ๆ ยุบอาการบวมของแขนขาได้โดยไม่ต้องทำศัลยกรรม

วิธีป้องกัน

การป้องกันโรคนี้ได้ดีที่สุดคือการป้องกันยุงกัด ทำลายลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรอบบ้าน นอนกางมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวด และเข้ารับการตรวจเลือดหาไมโครฟิลาเรียทันทีที่มีอาการต้องสงสัย