ภาวะอาหารเป็นพิษจากเอ็นเตอโรท็อกซินในลำไส้

แบคทีเรียพวกนี้เข้าสู่ร่างกายโดยการปนเปื้อนในอาหาร คนติดโรคโดยการกินตัวเชื้อเข้าไป เมื่อไปถึงลำไส้ แบคทีเรียจะแบ่งตัวนอกเซลล์ และสร้างสารพิษ (enterotoxin) ที่กระตุ้นให้เซลล์ของผนังลำไส้ขับคลอไรด์และน้ำออกมา ทำให้อุจจาระเหลวเป็นน้ำ ออกครั้งละมาก ๆ ในอุจจาระตรวจไม่พบมูกหรือเม็ดเลือดใด ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของภาวะอาหารเป็นพิษแบบนี้ เชื้อตัวเอกของกลุ่มนี้คือ Cholera ที่ทำให้เกิดอหิวาตกโรค

ภาวะอาหารเป็นพิษจากท็อกซินของเชื้อ E. coli

พบได้บ่อยมากทั่วโลก ปกติเชื้อ E. coli จะเป็นแบคทีเรียที่อยู่ประจำในลำไส้ของคน เมื่อปนมาในอาหาร ส่วนใหญ่จะก่อโรคโดยการสร้าง enterotoxin อาการมักเกิดภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะถ่ายเป็นน้ำคล้ายอหิวาห์ แต่ความรุนแรงน้อยกว่าและหายเร็วกว่า

ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อ Clostridium welchii

แม้เชื้อตัวนี้จะเป็นพวกที่สปอร์เหมือน Clostridium ทั่วไป แต่จะต่างกันตรงที่มันสร้างท็อกซินที่ทำให้เกิดโรคในลำไส้ ไม่ใช่ในอาหาร คนติดโรคโดยการรับประทานเชื้อเข้าไปโดยตรง

ปกติสปอร์ของเชื้อมักปะปนอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ สปอร์จะทนความร้อนได้ดี สามารถมีชีวิตอยู่หลังต้มหรือย่างนานหลายชั่วโมง เมื่ออาหารเย็นลง สปอร์จะเจริญแบ่งตัวเป็นแบคทีเรีย ยิ่งถ้าอุ่นให้ร้อนประมาณ 50°C จะยิ่งเติบโตได้ดี เมื่อคนรับประทานเข้าไป เชื้อจะสร้าง enterotoxin ในลำไส้ ระยะฟักตัวประมาณ 8-22 ชั่วโมง เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้และท้องเดินอยู่ประมาณ 12-24 ชั่วโมงก็หาย