โรคพุพอง (Impetigo)

โรคพุพองเป็นโรคติดเชื้อของชั้นหนังกำพร้า พบได้ทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัย 2-5 ขวบ ติดต่อกันง่ายทางการสัมผัสกับรอยโรคโดยตรง ไม่อันตราย สามารถหายเองได้ใน 2 สัปดาห์โดยไม่มีแผลเป็น เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่คือ Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes

อาการของโรค

โรคพุพองมีได้ 2 ลักษณะคือ แบบที่ไม่มีตุ่มน้ำ (non-bullous) กับแบบที่เป็นตุ่มน้ำใส (bullous)

แบบที่ไม่มีตุ่มน้ำพบได้มากกว่า มักติดต่อกันในโรงเรียนอนุบาล กระจายไปตามที่อื่น ๆ ของร่างกายได้เร็วตามมือที่เกา รอยโรคเริ่มจากตุ่มแดงเพียงหนึ่งตุ่ม แต่จะเปลี่ยนเป็นตุ่มหนองและแตกออกเองอย่างรวดเร็ว อาการคันและการเกาของเด็กทำให้ตุ่มหนองแตกเร็วขึ้น กลายเป็นแผล มีน้ำเหลืองแห้ง ๆ ปกคลุม เด็กมักจะเกาต่อ ทำให้รอยโรคกระจายเพิ่มขึ้นรอบ ๆ แผลเดิม แผลมักคันมากกว่าเจ็บ

แบบที่เป็นตุ่มน้ำใสมักพบในทารกแรกเกิด รอยโรคจะขึ้นตามที่อับชื้น สาเหตุเกิดจากสารพิษ (exotoxin) ของเชื้อ S. aureus ที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสสีเหลือง ผนังบาง ขนาดใหญ่ แตกง่าย ผิวหนังรอบ ๆ มีรอยแดง เด็กจะแสบร้อน โยเย แต่ไม่มีไข้หรืออาการรุนแรงอื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากโรคพุพองแบบที่ไม่มีตุ่มน้ำ ในกรณีที่เชื้อเป็น Streptococcus group A คือ โรคหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (post-streptococcal glomerulonephritis) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะช่วยลดการเกิดของภาวะแทรกซ้อนนี้

ส่วนภาวะแทรกซ้อนของโรคพุพองแบบที่เป็นตุ่มน้ำใสคือ กลุ่มอาการผิวหนังลอกทั้งตัวจากเชื้อสแตฟฟิโลค็อกคัส (Staphylococcal scalded skin syndrome หรือ SSSS) ซึ่งเกิดจากการกระจายของสารพิษเข้ากระแสเลือด เด็กจะมีไข้ กระวนกระวาย ภายใน 24-48 ชั่วโมงจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วตัว เมื่อแตก หนังกำพร้าจะหลุดลอก เหลือแต่หนังแท้สีแดงที่อยู่ข้างใต้ เหมือนถูกไฟไหม้ และมีการสูญเสียน้ำออกทางผิวหนังตลอดเวลา เด็กจะเจ็บปวด ทุรนทุรายมาก ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน

การวินิจฉัยโรค

โรคพุพองวินิจฉัยจากลักษณะทางคลีนิก การเพาะเชื้อทั้งจากเลือดและผิวหนังมีโอกาสพบเชื้อได้น้อยมาก การตรวจนับเม็ดเลือดก็มักจะปกติ ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคพุพองแบบตุ่มน้ำใส ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคบุลลัสเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid), โรคเพมฟิกัสวัลการิส (Pemphigus vulgaris), โรคเริม, อีสุกอีใส, ตุ่มจากความร้อน, และตุ่มจากแมลงกัด จากประวัติและตำแหน่งของรอยโรค

การรักษา

โรคพุพองที่เป็นน้อยอาจใช้แค่ยาปฏิชีวนะชนิดทา หรือใช้น้ำยา antiseptic เช็ดทำความสะอาด ในรายที่เป็นมากถึงค่อยให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน โดยลักษณะของโรคแม้ไม่รักษาก็สามารถหายได้เอง แต่การรักษาจะช่วยลดการแพร่กระจาย และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง