โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis)

โรคนี้เกิดจากโปรโตซัวในจีนัส Leishmania มีแมลงชนิดหนึ่งชื่อว่าริ้นฝอยทราย (sand fly) เป็นพาหะนำเชื้อจาก คนหนึ่งไปถ่ายทอดให้อีกคนหนึ่ง คล้ายกับยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรียและไข้เลือดออก เชื้อลิชมาเนียนี้ทำให้โรคได้ 3 ลักษณะคือ โรคที่ผิวหนัง (cutaneous leishmaniasis) โรคที่ผิวหนังต่อกับเยื่อเมือก (mucocutaneous leishmaniasis) และโรคที่อวัยวะภายใน (visceral leishmaniasis หรือโรค Kala azar)

โรคนี้พบมากในประเทศจีน อินเดีย ประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ผู้ป่วยที่พบในประเทศไทยแทบทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศทางตะวันออกกลาง การเปิดประเทศและการคมนาคมระหว่างประเทศที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้โรคของแต่ละท้องถิ่นติดต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น

โรคที่ผิวหนัง (Cutaneous leishmaniasis)

รอยโรคจะอยู่เฉพาะที่ผิวหนังเท่านั้น พบในตำแหน่งที่ถูกริ้นฝอยทรายกัดตั้งแต่ 7-90 วัน เริ่มต้นจะเป็นตุ่มแดง แล้วค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจนแตกออกเป็นแผล ก้นแผลตื้น มีขอบนูนชัดเจน แผลนี้จะไม่เจ็บ ไม่คัน อาจมีแผลใหม่เกิดขึ้นรอบ ๆ แผลแรก ลักษณะแผลจะแห้ง ๆ เรื้อรัง ยกเว้นมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ แผลที่ใบหน้ามักอยู่นานเป็นปี แต่แผลที่แขนขาจะค่อย ๆ หายไปเองภายในเวลา 3-6 เดือน แล้วมีแผลใหม่เกิดขึ้นรอบ ๆ แผลเก่า

ลักษณะของแผลต้องแยกจากโรคติดเชื้อมัยโคแบคทีเรี่ยม, เชื้อรา (blastomucosis, histoplasmosis, sporotrichosis), โรคคุดทะราด, โรคซิฟิลิส, และโรค Lupus erythematosus

เมื่อขูดเนื้อที่ฐานของแผลมาย้อมสีด้วยวิธี Giemsa และ Wright ดูจะพบเชื้อลิชมาเนียมากมาย เมื่อให้การรักษาด้วย Rifampicin จะหายเป็นปกติ

โรคที่ผิวหนังต่อกับเยื่อเมือก (Mucocutaneous leishmaniasis)

หลังจากถูกกัด เชื้อจะกระจายไปตามกระแสโลหิต ทำให้เกิดแผลในบริเวณที่เป็นเยื่อบุจมูก ปาก คอหอย และกล่องเสียง แผลจะเริ่มจากตุ่มแดง แล้วค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น มีการทำลายของเนื้อเยื่อและกระดูกอ่อนโดยรอบ ทำให้จมูกโหว่ ปากแหว่ง ขากรรไกรบนและเพดานแข็งหายไป ทำให้กลืนลำบากและพูดไม่ชัด แผลของโรคนี้ไม่หายเอง ต้องรีบรักษาก่อนที่จะมีการทำลายของกระดูกอ่อนบนใบหน้ามากขึ้น

ลักษณะแผลที่แนวต่อระหว่างผิวหนังกับเยื่อเมือกนี้ อาจคล้ายกับโรค paracoccidomycosis, โรคเรื้อน (lepromatous leprosy), midline granuloma และมะเร็งของผิวหนัง การวินิจฉัยให้แน่ชัดต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

โรคที่อวัยวะภายใน (Visceral leishmaniasis)

เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต จะเข้าไปอยู่ใน macrophage ของตับ ไขกระดูก และต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยมักมีแผลในตำแหน่งที่ถูกแมลงกัดก่อน แล้วแผลค่อย ๆ หายไป จากนั้นอีกเป็นเดือนถึงหลายปี จะรู้สึกว่ามีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ไม่สบายในท้อง อาจมีท้องเดิน ท้องผูก เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไข้อาจสูงขึ้นเป็นเวลา หลังจากนั้นจะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้นเรื่อย ๆ ท้องอืด ท้องโต คลื่นไส้ อาเจียน คลำท้องจะพบม้ามโตมาก อาจโตลงมาถึงเชิงกราน ตับก็โต แต่ไม่ค่อยมีอาการตาเหลือง ถ้าเจาะเลือดจะพบภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ albumin ในเลือดต่ำ และมี polyclonal gammaglobulin ในเลือดสูงมาก ซึ่งเป็น IgG

อาการที่พบตับม้ามโตในโรคนี้ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคมาลาเรียเรื้อรัง, โรค schistosomiasis, salmonellosis, lymphoma, chronic lymphocytic leukemia, และโรค glycogen storage

สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยโรคนี้คือการพบเชื้อลิชมาเนียจากแผลหรืออวัยวะต่าง ๆ ที่เชื้อนี้อยู่ การทดสอบทางซีโรโลยี่ไม่ค่อยจะได้มาตรฐานนัก อาจเกิดผลบวกลวงในผู้ป่วยที่เคยได้รับเชื้อ Tripanosoma cruzi

ยาหลักที่ใช้รักษาโรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายในคือ Pentostam และ Glucantime ทั้งคู่เป็นยาฉีด จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ