โรคไลม์ (Lyme disease)

ไลม์เป็นโรคที่พบในแถบที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ทางยุโรปตอนเหนือ สแกนดิเนเวีย ประเทศอเมริกาโดยเฉพาะในรัฐ Connecticut ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น แต่คนไทยที่ไปศึกษาหรือไปเที่ยวแถบนั้นก็อาจติดโรคมาได้ เชื้อที่เป็นสาเหตุคือ Borrelia burgdorferi ซึ่งเป็นแบคทีเรียกรัมลบ ขนาดเล็ก รูปเกลียว มีหาง ปกติจะอาศัยอยู่ในเห็บตระกูล Ixodes ซึ่งเป็นเห็บของพวกกวาง ม้า วัว สุนัข แมว และพวกสัตว์ฟันแทะ คนติดโรคโดยการถูกเห็บชนิดนี้ที่มีเชื้อ B. burgdorferi อยู่ในลำไส้กัด แต่โอกาสติดโรคจริง ๆ ก็มีเพียงร้อยละ 1 เพราะเห็บต้องสัมผัสกับร่างกายเวลาอย่างน้อย 24 ชม. จึงจะสามารถถ่ายทอดเชื้อมาสู่คนได้

อาการของโรค

อาการของโรคไลม์แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะเริ่มต้น หลังถูกเห็บที่มีเชื้อกัด 3-30 วัน จะเริ่มมีรอยโรคขึ้นตรงตำแหน่งที่ถูกกัด ถ้าเป็นลักษณะจำเพาะจะเป็นผื่นแดงเหมือนเป้ายิงธนูที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เจ็บ ไม่คัน แต่ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นปื้นแดงธรรมดาตรงรอยเห็บกัด
  2. ระยะแพร่กระจาย หลังจากนั้นไม่กี่วันเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัวและปวดตามข้อ มีต่อมน้ำเหลืองโต ร้อยละ 80 จะพบผื่นแดงแบบระยะแรกแต่ย้ายไปเกิดตามที่ต่าง ๆ จึงเรียกว่า erythema migrans หรือผื่นแดงพเนจร อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ 1-3 สัปดาห์ก็จะหายไปเอง
  3. ร้อยละ 15 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการทางระบบประสาท โดยจะมีคอแข็ง สับสน เส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 เป็นอัมพาต (มุมปากตก หนังตาปิดไม่สนิท) เดินเซ แขนขาอ่อนแรง และอีกร้อยละ 5 จะมีอาการทางหัวใจ คือจะมีหัวใจหยุดเต้นเป็นบางจังหวะ เหนื่อย เจ็บหน้าอก ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและหัวใจนี้ถ้าไม่รุนแรงจะหายเองได้ในเวลาเป็นเดือน

  4. ระยะเรื้อรัง หลังจากนั้นอีกหลายเดือน ร้อยละ 60-80 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวม เรื้อรัง มักเป็นที่ข้อใหญ่ ๆ 2-3 ข้อในเวลาเดียวกันโดยเฉพาะที่ข้อเข่า และข้อที่บวมจะย้ายสลับกันไปมา (migratory arthritis) โดยจะเป็นอยู่นานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ จนถึง 1 ปี แต่ก็จะหายไปได้เองเช่นกันแม้จะไม่ได้รับการรักษา รายที่อาการรุนแรงมากจะทำให้เกิดข้อพิการผิดรูปอย่างถาวร
  5. หลังระยะที่มีข้ออักเสบ ร้อยละ 5 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการทางระบบประสาทเรื้อรัง ได้แก่ อาการงุนงง สับสน หลง ๆ ลืม ๆ อาจมีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า หรือปวดหลังเรื้อรัง

การวินิจฉัยโรค

โรคไลม์สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจ IgM และ IgG แอนติบอดี้ในเลือดด้วยวิธี Immunofluorescent หรือ ELISA โดย IgM จะปรากฏขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ และจะขึ้นสูงสุดใน 6-8 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ ลดลง ขณะที่ IgG จะขึ้นใน 4-6 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ และจะพบต่อไปอีกหลายปี ในระยะเริ่มต้นควรเจาะ 2 ครั้ง ห่างกัน 1-2 สัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบการขึ้นลงของแอนติบอดี้

การเพาะเชื้อ B. burgdorferi สามารถทำได้โดยใช้อาหารเลี้ยงเชื้อชนิด Barbour-Stoenner Kelly เกือบทั้งหมดจะเพาะเชื้อได้เฉพาะในระยะแรกของโรค จากการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคผิวหนัง ส่วนน้อยจะเพาะเชื้อได้จากเลือดหรือน้ำไขสันหลังในผู้ ป่วยที่มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่กว่าเชื้อจะเจริญเติบโตในอาหารเพาะเชื้อต้องใช้เวลา 6 สัปดาห์

ในระยะเรื้อรังจะใช้วิธี PCR เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อจากน้ำไขข้อ ถ้าเอาเยื่อหุ้มข้อมาตรวจได้ การย้อมพิเศษด้วย silver stain อาจพบเชื้ออยู่ใกล้ ๆ หลอดเลือด

จะเห็นว่าการวินิจฉัยโรคไลม์ที่แน่ชัดทำได้ไม่ง่าย ต้องอาศัยการตรวจพิเศษซึ่งกินเวลา มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจได้ผลลบลวงหากผุ้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะมาก่อน ดังนั้นแพทย์ส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกับโรคจะให้การวินิจฉัยจากประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ

การรักษา

ในระยะแรกเริ่มต้นและระยะแพร่กระจายให้รับประทานยา doxycycline ขนาด 100 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14-21 วัน (ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 8 ปี และในหญิงตั้งครรภ์แนะนำให้ใช้ amoxicillin ขนาด 500 มก. วันละ 3 ครั้ง แทน) ถ้ามีอาการทางระบบประสาทหรือหัวใจให้ฉีด ceftriaxone 40-50 มก./กก./วัน (สูงสุด 2 ก./วัน) เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ แต่ถึงแม้จะให้การรักษา อาการก็จะดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในเวลาเป็นเดือน ต้องเฝ้าระวังภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันอย่างใกล้ชิด

ในระยะเรื้อรังควรให้กินยาให้นานขึ้นเป็น 1-2 เดือน

การป้องกัน

เคยมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไลม์ แต่ภายหลังพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจึงงดไปก่อน มีหลายบริษัทยากำลังเร่งปรับปรุงคุณภาพของวัคซีนอยู่

การป้องกันที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือพยายามอย่าให้โดนเห็บกัด หากโดนกัดทันทีก็ควรรีบเอาเห็บออกให้เร็วที่สุด แล้วล้างทำความสะอาดแผล ไม่จำเป็นต้องรับประทานยา แต่ถ้าเห็นว่าเห็บมีขนาดใหญ่จากการที่ดูดเลือดเข้าไปปริมาณมาก ซึ่งบ่งชี้ว่าเห็บได้เกาะ มานานพอควร ก็ควรทานยาป้องกันด้วย doxycycline ขนาด 200 มก. ครั้งเดียว ภายใน 72 ชม. หลังจากถูกเห็บกัด

นอกจากนั้นยังควรที่จะกำจัดเห็บของสุนัขและแมวที่เลี้ยงอยู่ในบ้านอย่างสม่ำเสมอด้วย