โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum)

ฝีมะม่วงเป็นกามโรคในเพศชายชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศและต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ซึ่งเจ็บปวดมากจนเดินไม่ได้ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ไข่ดัน" สาเหตุที่โรคนี้ไม่ค่อยเป็นเพศหญิงก็เพราะในผู้หญิงน้ำเหลืองจากอวัยวะสืบพันธุ์จะระบายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในท้องน้อยมากกว่ามาที่ขาหนีบ และเมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมากกว่า

ปัจจุบันโรคฝีมะม่วงมีแนวโน้มของการเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีมะม่วง ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน, การไม่สวมถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศ, และการมีรักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย

อาการของโรค

อาการของโรคฝีมะม่วงแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะแผล อาการจะเกิดตั้งแต่ 3 วันถึง 3 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ โดยจะมีตุ่มน้ำใสหรือแผลตื้นขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ หรือที่ทวารหนัก ไม่เจ็บ บางคนอาจไม่ทันสังเกต แต่จะมีอาการคล้ายท่อปัสสาวะอักเสบแทน ตุ่มหรือแผลนี้จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน
  2. ระยะฝี ระยะนี้จะเกิดประมาณ 10-30 วันหลังได้รับเชื้อ โดยจะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโต ติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ และเจ็บมาก ในบางรายจะเห็นร่องพาดผ่านฝีตามขวาง ร่องนี้เกิดจากที่บริเวณนั้นจะมีต่อมนํ้าเหลืองอยู่ 2 กลุ่ม บน-ล่าง แยกกันโดยพังผืด เมื่อเกิดการบวมอักเสบขึ้นจะเห็นลักษณะฝีซึ่งมีร่องตรงกลางคล้ายมะม่วงอกร่อง จึงเรียกว่า "ฝีมะม่วง" ซึ่งอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะบวม แดง ร้อน บางคนอาจปวดฝีมากจนเดินไม่ถนัด บางคนอาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดข้อ มีตาอักเสบ ผื่นขึ้นตามตัว บางครั้งจะมีลูกอัณฑะบวมด้วย
  3. ถ้าไม่ได้รักษา ฝีอาจยุบหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่บางรายฝีอาจแตกเป็นรูหลายรู มีหนองและเลือดไหล กลายเป็นแผลเรื้อรัง

  4. ระยะแผลเป็นหดรัด ระยะนี้อาจเกิดหลังจากได้รับเชื้อนานถึง 20 ปี ผู้ป่วยจะเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็น ซึ่งอาจไปรัดท่อนํ้าเหลืองจนตันและเกิดการบวมนํ้าของอวัยวะเพศ ในหรือไปรัดลำไส้ทำให้ปวดเบ่ง อุจจาระลำเล็กลง บางครั้งรอยแผลเป็นจากการหายจะทำให้อวัยวะส่วนนั้นเสียรูป เกิดความพิการ อาจมีการตีบตันของทวารหนัก หรือมีก้อนเหมือนริดสีดวงอุดที่ทวารหนัก
  5. ในผู้หญิงที่เป็นโรคนี้แม้จะมองไม่เห็นต่อมน้ำเหลืองโตในระยะฝี แต่นานไปก็จะเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นรอบ ๆ ช่องคลอดและทวารหนักเช่นกัน มีผลให้เกิดการตีบแคบของช่องคลอดและทวารหนัก หรือมีการอุดตันของท่อนํ้าเหลืองจนทำให้อวัยวะเพศขยายใหญ่ได้เช่นเดียวกับในผู้ชาย

การวินิจฉัยโรค

เนื่องจากเชื้อคลาไมเดียทำการเพาะเชื้อได้ยาก การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วงส่วนใหญ่จึงอาศัยจากประวัติ อาการแสดง และการตัดกามโรคอื่น ๆ ออกไป ผู้ป่วยเพศชายที่มีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ บวมโต กดเจ็บมาก และตรวจไม่พบหลักฐานว่าเป็นโรค เริม ซิฟิลิส หรือแผลริมอ่อน ให้สงสัยว่าเป็นโรคฝีมะม่วงและสามารถให้การรักษาไปได้เลย

การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วงที่แน่ชัดก็สามารถทำได้ โดยการเจาะเลือดตรวจทางซีโรโลยี่, ส่งหนองที่ดูดได้จากต่อมน้ำเหลืองไปเพาะเชื้อในเซลล์ที่ห้องปฏิบัติการใหญ่ และบางรายอาจใช้วิธีตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนั้นผู้ป่วยยังควรจะได้รับการตรวจเลือดหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในระยะแฝงอื่น ๆ ด้วย เช่นโรคซิฟิลิส โรคเอดส์ เป็นต้น

การรักษา

การรักษาโรคฝีมะม่วง ต้องรักษาทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ป่วยและคู่นอนทุกคน เพื่อให้โรคหายและไม่ไปเป็นพาหะ และควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายสนิท

ยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้มีหลายชนิด เช่น Doxycycline, Tetracycline, Erythromycin, Azithromycin รับประทานเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ส่วนอาการปวดให้ประคบอุ่น หรือทานยาแก้ปวดได้ ถ้าฝีแตกแล้วให้รักษาความสะอาดบริเวณนั้นให้ดี ส่วนใหญ่ฝีจะค่อย ๆ ยุบในเวลา 1-2 สัปดาห์

ถ้าฝีไม่ยุบและมีลักษณะนุ่ม แพทย์จะใช้เข็มเจาะดูดเอาหนองออก แพทย์มักไม่ผ่าฝีมะม่วงให้เป็นแผลยาว ๆ เพราะจะทำให้แผลหายช้า และอาจทำให้เกิดเป็นทางทะลุที่มีหนองไหลตลอดเวลาได้ (Fistula)

โรคนี้สามารถรักษาหายได้ในคนปกติ ส่วนในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคเอดส์ มีแนวโน้มจะติดเชื้อซ้ำ หรือรักษาแล้วไม่หายขาด อาจต้องเปลี่ยนชนิดของยาปฏิชีวนะโดยการตรวจเพาะเชื้อเพื่อหาการตอบสนองของโรคต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่าง ๆ

การป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรค ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดโรคที่ดีที่สุด
  2. ไม่สำส่อนทางเพศ
  3. สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  4. รักษาความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์หลังมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  5. ออกกำลังกายและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

การดื่มน้ำก่อนร่วมเพศ และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือการฟอกล้างสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่จะได้ผลทุกราย ส่วนการกิน "ยาล้างลำกล้อง" ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อ (Antiseptic) ไม่ใช่ทำลายเชื้อ ไม่ได้ผลในการป้องกัน ยานี้กินแล้วทำให้ปัสสาวะเป็นสีแปลก ๆ เช่น สีแดง สีเขียว การกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกับที่ใช้รักษา ซึ่งดูแล้วไม่คุ้ม สู้รอให้มีอาการแสดง แล้วค่อยรักษาไม่ได้ นอกจากนี้ก็ยังไม่อาจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นได้