โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis)

โรคเมลิออยโดสิสเป็นโรคปอดบวมชนิดหนึ่งที่แสดงอาการแบบสองขั้วของโรคปอดอักเสบทั่วไป คือเป็นได้ทั้งปอดบวมเรื้อรังและปอดบวมแบบเฉียบพลันรุนแรง สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Pseudomonas pseudomallei พบส่วนใหญ่ในภาคอีสาน เชื้อปกติจะอยู่ในดินและในน้ำ ติดต่อโดยทางการหายใจและทางบาดแผลที่ผิวหนัง ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสมีโรคอื่นอยู่ก่อน เช่น เบาหวาน มะเร็ง หรืออยู่ในภาวะที่มีภูมิต้านทานต่ำ

อาการของโรค

อาการทางคลีนิกของโรคเมลิออยโดสิสแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

  1. เมลิออยโดสิสแบบเรื้อรัง: ผู้ป่วยจะมีไข้เรื้อรัง ไอมีเสมหะ อาจมีเลือดปน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหนื่อยหอบ อาการจะคล้ายกับวัณโรคปอดมาก บางรายอาจมีแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง ฝีในปอด หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย
  2. เมลิออยโดสิสแบบเฉียบพลันรุนแรง: ผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน ไอ หายใจหอบ ความดันตก อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว เกิดจากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด (septicemia) ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการแบบเรื้อรังมาก่อน จนเมื่อเป็นมากขึ้น เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จึงมีอาการทรุดลงอย่างฉับพลัน แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบางส่วนก็แสดงอาการในลักษณะของการติดเชื้อในกระแสเลือดนี้ได้ทันที ผู้ป่วยโรคปอดบวมในภาคอีสานที่มีอาการเลวลงมากภายใน 1-2 วันต้องคิดถึงโรคเมลิออยโดสิสก่อนทุกครั้ง

การวินิจฉัยโรค


โรคเมลิออยโดสิสแบบเรื้อรังมักทำให้ปอดอักเสบที่กลีบบนเหมือนวัณโรค บางครั้งทำให้เกิดโพรงหนองเหมือนเชื้อรา ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีไข้ ไอ น้ำหนัดลดมาเป็นเดือน ๆ แล้วเอ็กซเรย์ปอดคล้ายวัณโรคแต่ตรวจเชื้อวัณโรคไม่พบต้องย้อมกรัมดูเชื้อแบคทีเรียให้แน่ใจอีกครั้ง การวินิจฉัยที่แน่ชัดอาศัยการเพาะเชื้อจากเสมหะหรือจากบาดแผล

โรคเมลิออยโดสิสแบบเฉียบพลันรุนแรงส่วนใหญ่มักวินิจฉัยไม่ทัน เพราะการเพาะเชื้อในเลือดจะใช้เวลา 3-7 วัน และเสมหะมักเก็บไม่ค่อยได้เพราะผู้ป่วยอาการหนัก โรคปอดบวมที่มีอาการจู่โจมที่รุนแรงและรวดเร็วต้องนึกถึงโรคเมลิออยโดสิสไว้ด้วยเสมอ

การรักษา

เชื้อ Pseudomonas pseudomallei ตอบสนองต่อยาบางชนิดเท่านั้น และการรักษาใช้เวลา 3-6 เดือน เพราะโรคมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูง ในช่วง 10-14 วันแรกแนะนำให้ใช้ Ceftazidime ฉีดทุก 6 ชั่วโมง หรือ Meropenem ฉีดทุก 8 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นถึงเปลี่ยนมาให้ Co-trimoxazole หรือ Doxycycline รับประทานต่อไปอีก 3-6 เดือน การตอบสนองต่อยาจะเป็นไปอย่างช้า ๆ กว่าผลเพาะเชื้อในเสมหะจะเป็นลบอาจกินเวลานานถึง 6 เดือน

การป้องกัน

ในพื้นที่ที่มีโรคเมลิออยโดสิสเป็นโรคประจำถิ่น เช่นในภาคอีสาน เกษตรกรที่ทำนาควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดิน โคลน หรือแหล่งน้ำโดยตรง ควรสวมรองเท้าบู๊ตและถุงมือยางขณะทำนา เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากตามหลังเหตุการณ์น้ำท่วมและพายุ นอกจากนี้มีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคเมลิออยโดสิสได้แก่ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง และผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็ไม่ควรที่จะสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติโดยตรง