โรคฝีรั่ว (Mycetoma)

โรคฝีรั่วเป็นฝีเรื้อรังของผิวหนังที่ไม่เจ็บ และมีรูเปิดที่ผิวหนังให้หนองไหลออกมาได้ตลอดเวลา เชื้อที่เป็นสาเหตุมักเป็นเชื้อราหรือไม่ก็แบคทีเรียชั้นสูงในตระกูลของ Actinomycetes ที่มีรูปร่างเป็นเส้นใยและโตช้าคล้ายเชื้อรา หนองจากเชื้อเหล่านี้มักมีลักษณะเป็นตะกอนสีต่าง ๆ เกิดจากโคโลนีของเชื้อที่พันรวมตัวกัน โรคแอคติโนมัยโคสิสก็เป็นโรคฝีรั่วชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกเฉพาะเพราะทำให้เกิดโรคระบบอื่นได้อีกนอกจากฝีที่ผิวหนัง

เชื้อที่ทำให้เกิดโรคฝีรั่วอยู่ตามดินและพืชทั่วไป คนติดเชื้อจากการถูกบาดหรือถูกตำเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเดินเท้าเปล่าเข้าไปในสวนหรือในป่า เชื้อพวกนี้เติบโตช้าในเวลาเป็นเดือน-ปี โดยทั่วไปภูมิคุ้มกันของร่างกายเราช่วยกำจัดเชื้อออกไปโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จึงพบโรคฝีรั่วแบบนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้

อาการของโรค

เริ่มแรกจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ แข็ง ๆ ที่ใต้ผิวหนัง มักเป็นที่เท้า มือ หรือใบหน้าส่วนที่เคยเกิดบาดแผล อาจเกิดพร้อมกันหลายตุ่ม แล้วค่อย ๆ โตขึ้น ไม่เจ็บ ไม่มีไข้ ระหว่างนี้อาจกินเวลาหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นก้อนเนื้องอก จากนั้นตุ่มจะแตกออกกลายเป็นแผลเรื้อรัง มีหนองไหล ผู้ป่วยอาจเพียงแค่แสบ ๆ คัน ๆ เล็กน้อย ก้อนจะยุบลง แผลจะเป็นอยู่อย่างนี้นานหลายปี

ตะกอน (ก้อนโคโลนี) ที่ออกมากับหนองมีสีต่าง ๆ กันตามแต่ชนิดของเชื้อ

  • ตะกอนสีดำมักเป็นเชื้อ Leptosphaeria senegalensis, Madurella grisea, Madurella mycetomatis, Pyrenochaeta romeroi
  • ตะกอนสีขาวมักเป็นเชื้อ Acremonium species, Noetestudina rosatii, Pseudallescheria boydii
  • ตะกอนขนาดผงสีครีมมักเป็นเชื้อ Actinomadura madurae, Nocardia asteroides, Nocardia brasiliensis
  • ตะกอนสีน้ำตาลแดงมักเป็นเชื้อ Actinomadura pelletieri, Streptomcyes somaliensis

ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีรั่วในระยะที่เป็นแผลคือการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไปตามผิวหนังซ้ำ ฝีของแบคทีเรียมักหายเร็ว เกิดเป็นสะเก็ด และทำให้รูเปิดของฝีรั่วค่อย ๆ ปิดไป แต่เชื้อราที่อยู่ข้างใต้จะยังคงเจริญต่อไป ถ้าหนองมีมากขึ้นก็จะปะทุเป็นรูใหม่ออกมาอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้ จนเนื้อเยื่อที่แตกแล้วปิด-แตกแล้วปิดอยู่เรื่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำคล้ายเนื้องอก จึงเป็นที่มาของชื่อโรคนี้ในภาษาอังกฤษ Mycetoma = ก้อนของเส้นใย (เส้นใยในที่นี้หมายถึงเชื้อที่มีรูปร่างเป็นเส้นใย)

ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวของโรคฝีรั่วเกิดขึ้นเมื่อเชื้อกินลึกลงไปถึงกล้ามเนื้อและกระดูกข้างใต้ ถึงตอนนี้ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเจ็บปวด กล้ามเนื้อและกระดูกจะค่อย ๆ ถูกทำลาย ใช้งานไม่ได้ตามปกติ กลายเป็นความพิการถาวรไป

การวินิจฉัยโรค

ในระยะแรกของโรคฝีรั่วนี้ไม่รุนแรง มีเวลาให้ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างเหลือเฟือ แต่ผู้ป่วยไม่ควรชะล่าใจ คิดว่ามันไม่เจ็บก็ไม่ป่วย การวินิจฉัยทำได้ง่ายเพียงการย้อมและเพาะเชื้อจากหนอง กรณีที่เป็นมานานกว่าปีแพทย์อาจส่งเอกซเรย์ดูกระดูกและเนื้อเยื่อข้างใต้ด้วย กรณีที่รูรั่วของฝีปิดไปหมดแล้วหรือรอยโรคกลายเป็นก้อนไปแล้วอาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจแทน เพราะต้องแยกจากโรคลิชมาเนีย, โรคเรื้อน, วัณโรค, โรคซาร์คอยโดสิส, และเนื้องอกอื่น ๆ

การรักษา

โรคฝีรั่วไม่สามารถหายได้เองถ้าไม่ให้ยาฆ่าเชื้อ ยาที่จะใช้ขึ้นกับผลการตรวจเพาะเชื้อ แต่ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออะไรต้องกินยานานหลายเดือน หรืออาจหลายปี การผ่าตัดมีบทบาทในกรณีที่เป็นโพรงหนองขนาดใหญ่, มีเนื้อเยื่อส่วนที่โตเกินมามาก, มีการดึงรั้งของอวัยวะจนใช้การไม่ได้ หรือมีการทำลายของกระดูกไปแล้ว ยิ่งโรคกินลึกลงไปเท่าไร โอกาสจะหายด้วยยาก็ยิ่งเป็นไปได้น้อยลง จนในที่สุดต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป

ผลการรักษาโรคฝีรั่วขึ้นกับความเร็วของการเริ่มต้นรักษา หากเริ่มรักษาเร็วตั้งแต่ที่เพิ่งเริ่มเป็นก็มีโอกาสหายได้มากขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้นานแม้จะได้รับยาและการผ่าตัดจนครบก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ผลการรักษาด้วยยาเมื่อเป็นซ้ำอีกครั้งยิ่งแย่กว่าการรักษาครั้งแรก ส่วนใหญ่ต้องลงเอยด้วยการตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป

การป้องกัน

การจะป้องกันโรคฝีรั่วไม่ให้เกิดขึ้นเลยเป็นไปได้ยาก อาจทำได้เพียงรณรงค์ให้สวมรองเท้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การป้องกันที่ดีคือการรีบรักษาทันทีที่มีฝีหนองที่ไม่เจ็บเกิดขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดความพิการจากโรคนี้ในระยะยาว