โรคปอดบวมจากเชื้อมัยโคพลาสมา (Mycoplasma pneumonia)

โรคนี้เกิดจากเชื้อ Mycoplasma pneumoniae ซึ่งเป็นจุลชีพขนาดเล็ก อยู่ระหว่างไวรัสกับแบคทีเรีย ไม่มีผนังเซลล์ แต่มีเยื่อหุ้มเซลล์เป็นสารโคเลสเตอรอลที่หนา มีรูปร่างไม่แน่นอนขึ้นกับสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบและปอดบวมในเด็กและคนหนุ่มสาว ติดต่อโดยทางการหายใจ

อาการของโรค

โรคปอดบวมจากเชื้อมัยโคพลาสมามีความรุนแรงตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลยไปจนถึงมีอาการหนัก ผู้ป่วยที่มีอาการจะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อเข้าไปประมาณ 1-4 สัปดาห์ เริ่มด้วยมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ และอ่อนเพลีย ในตอนแรกอาการมักเป็นไม่มาก บางรายอาจหายไปเองใน 3-10 วันโดยไม่ต้องรักษา

ถ้าอาการยังคงอยู่ เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สอง ผู้ป่วยจะไอมากขึ้น อาจพบมีไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอกขณะหายใจ และเริ่มเหนื่อยหอบ ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ พบได้ไม่มาก เช่น เยื่อแก้วหูอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ตับอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ข้ออักเสบ สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และผื่นที่ผิวหนัง

การวินิจฉัยโรค

ผู้ป่วยโรคปอดบวมจากเชื้อมัยโคพลาสมาในระยะแรกมักเดินไปพบแพทย์ได้เอง อาการมักคล้ายเป็นหวัด แต่ภาพรังสีทรวงอกแสดงว่ามีปอดบวมแล้ว ผิดกับผู้ที่เป็นปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียโดยทั่วไป ซึ่งมักมีอาการหนัก จึงมีผู้ให้ฉายาของโรคนี้ว่า "Walking pneumonia" ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็ก ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัส

เนื่องจากการเพาะเชื้อ M. pneumoniae ต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดพิเศษและกินเวลานานถึง 14 วัน จึงไม่นิยมใช้ในการวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยโรคปอดบวมจากเชื้อมัยโคพลาสมาจะอาศัยการตรวจเสมหะดูสารพันธุกรรม (PCR) หรือตรวจเลือดดูระดับของแอนติบอดี้ ซึ่งมีทั้ง Enzyme immunoassay, Complement fixation test, Particle agglutination test, Cold agglutination test ถ้าผู้ป่วยมาเร็ว ระดับของแอนติบอดี้มักยังไม่ค่อยขึ้น ก็ให้เจาะอีกครั้งหลังจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ ถ้าระดับของแอนติบอดี้สูงขึ้น 4 เท่าก็วินิจฉัยได้ หรือถ้าระดับของแอนติบอดี้สูงตั้งแต่ 1:64 เป็นต้นไปในการเจาะครั้งแรกก็ถือว่าให้ผลบวก

การรักษา

โรคปอดบวมจากเชื้อมัยโคพลาสมาสามารถหายได้เองเหมือนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโดยทั่วไป โดยอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 3 สัปดาห์ อาการไข้จะหายไปก่อน แต่อาการไอจะยังคงอยู่ แล้วจะค่อย ๆ หายเอง แต่การใช้ยาปฏิชีวนะก็ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น อีกทั้งยังป้องกันการกระจายของเชื้อและภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดเมื่อโรคเป็นนานขึ้นด้วย

ยาที่ได้ผลดีในการรักษาโรคปอดบวมชนิดนี้คือยาในกลุ่มของ Tetracycline และ Erythromycin ไข้จะหายไปใน 1-3 วัน ยาในกลุ่มของ Penicillin ไม่สามารถทำลายเชื้อมัยโคพลาสมาได้ เพราะเชื้อนี้ไม่มีผนังเซลล์

การป้องกัน

ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อมัยโคพลาสมา ทางที่ดีควรแยกเด็กเล็ก ๆ ออกจากผู้ที่กำลังมีไข้ ไอ จาม ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุใด