โรคพยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchiasis)

พยาธิใบไม้ในตับเป็นโรคที่สำคัญมากในประเทศไทย เพราะในรายที่เป็นนาน ๆ มีโอกาสจะกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งของท่อน้ำดี

โรคนี้เกิดจากพยาธิใบไม้ขนาดเล็กในจีนัส Opisthorchis และ Clonorchis พบมากในทวีปเอเชีย ในประเทศไทยพบมากในภาคอีสาน พยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ในท่อน้ำดีในตับคน สุนัข และแมว ออกไข่ปนออกมากับน้ำดี เข้าสู่ลำไส้ และออกมากับอุจจาระ ถ้าลงน้ำ พวกหอยน้ำจืดจะกินไข่พยาธิเข้าไปก่อน ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนเจริญอยู่ภายในตัวหอย จนเข้าสู่ระยะเซอร์คาเรีย (cercaria) ตัวอ่อนจะออกจากหอย ว่ายเข้าสู่ปลาน้ำจืด และเจริญเป็นระยะติดต่อ มีผนังซิสต์หุ้มอยู่ ถ้าคนกินปลาน้ำจืดสุก ๆ ดิบ ๆ เข้าไป เช่น ก้อยปลา ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมกันในภาคอีสาน ตัวอ่อนจะเข้ามาในลำไส้ส่วนดูโอดินั่ม แล้วไชเข้าไปในท่อน้ำดี เจริญเป็นตัวแก่

พยาธิสภาพ

ตัวแก่ของพยาธิจะปล่อยสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผนังของท่อน้ำดี ทำให้มีการอักเสบเรื้อรัง เซลล์บุท่อน้ำดีจะเพิ่มจำนวนขึ้นทำให้ผนังท่อน้ำดีหนา ท่อน้ำดีตีบแคบลง เมื่อพยาธิโตขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น จะเกิดการอุดตันท่อน้ำดี ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ง่าย การอักเสบติดเชื้ออาจลามไปถึงเนื้อตับ ทำให้เกิดเป็นฝีหนอง ในรายที่เป็นนาน ๆ อาจกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งของท่อน้ำดีต่อไป

อาการของโรค

ผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มเป็นจะยังไม่มีอาการ จะตรวจพบแต่ไข่ของพยาธิในอุจจาระเท่านั้น เมื่อพยาธิมีจำนวนมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จุกเสียด โดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวาและบริเวณยอดอก อาการเหล่านี้เป็นอาการอักเสบเล็ก ๆ น้อย ๆ ของท่อน้ำดี

ในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อรุนแรง (cholangitis) จะมีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องบริเวณชายโครงขวามาก และมีอาการเหลืองให้เห็น ภาวะนี้มักมีเชื้อแบคทีเรียกรัมลบจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดด้วย ผู้ป่วยอาจมีความดันตก เกิดภาวะเลือดเป็นพิษ และเสียชีวิตได้

หากรักษาให้หาย แต่ตัวพยาธิยังอยู่ ท่อน้ำดีก็ยังคงเกิดการอักเสบอย่างเรื้อรังต่อไป จนในที่สุดผู้ป่วยจะมีตับโต และค่อย ๆ เหลืองขึ้น ๆ เนื่องจากท่อน้ำดีอุดตัน

การวินิจฉัย

ในระยะเริ่มแรก เพียงตรวจอุจจาระพบไข่ของพยาธิชนิดนี้ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้แล้ว ไข่จะมีลักษณะกลมรี รูปไข่ มีฝาปิดหนึ่งด้าน และมีติ่งเล็ก ๆ ยื่นออกมาที่ด้านตรงข้าม

แต่ในระยะที่มีอาการเหลืองแล้ว ไข่พยาธิจะไม่ค่อยออกมาในอุจจาระ และถึงพบก็อาจไม่ช่วยให้พยาธิสภาพกลับคืนมาเป็นปกติได้

การรักษา

ควรให้ยาฆ่าพยาธิทุกครั้งที่พบไข่ของพยาธินี้ในอุจจาระ แม้ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการก็ตาม ยาที่ใช้ได้ผลดีมี 2 ตัวคือ Praziquantel และ Mebendazole

  • Praziquantel ใช้ขนาด 75 มก./กก. แบ่งกิน 3 เวลา ภายในวันเดียว
  • Mebendazole ใช้ขนาด 30 มก./กก./วัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์

ในรายที่มีการอักเสบรุนแรงของท่อน้ำดี ควรให้ยาปฏิชีวนะฉีดที่คลุมเชื้อแบคทีเรียกรัมลบในลำไส้ ในรายที่มีภาวะเหลืองจากท่อน้ำดีอุดตันที่ยังไม่เป็นตับแข็งหรือมะเร็งของท่อน้ำดี อาจผ่าตัดเชื่อมท่อน้ำดีใหม่เพื่อให้อาการเหลืองลดลง

วิธีป้องกัน

เลิกรับประทานปลาน้ำจืดสุก ๆ ดิบ ๆ ไม่ถ่ายอุจจาระเรี่ยราด และควรให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคนี้