โรคกระดูกติดเชื้อ (Osteomyelitis)

โรคนี้เป็นการอักเสบของกระดูกจากการติดเชื้อ ปกติกระดูกจะต้านทานการติดเชื้อได้ดี โรคนี้จึงพบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อพบแสดงว่าเชื้อมีความรุนแรงและยากต่อการรักษา เชื้อส่วนใหญ่เป็นพวกแบคทีเรีย แต่อาจเป็นเชื้อราหรือเชื้อวัณโรคก็ได้ เชื้อเหล่านี้เข้าสู่กระดูกได้ 3 ทาง คือ

  1. ทางตรง จากอุบัติเหตุที่มีกระดูกหักและบาดแผลภายนอก หรือจากการผ่าตัดกระดูก
  2. ทางเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยการลุกลามของการติดเชื้อที่ผิวหนังและในเนื้อเยื่อ หรือแผลไฟไหม้
  3. ทางกระแสเลือด แหล่งติดเชื้ออาจอยู่ที่อวัยวะอื่นที่ไกลออกไป แต่เมื่อเชื้อแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วก็สามารถจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้กับทุกอวัยวะ รวมทั้งการมีสายคาไว้ในหลอดเลือดดำเพื่อการรักษา และการใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้นด้วยตัวเอง

โรคกระดูกติดเชื้อนี้พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณสองเท่า และพบในเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบมากถึงร้อยละ 20 (อีกร้อยละ 20 พบในผู้มีอายุระหว่าง 5-20 ปี) ปัจจัยที่ทำให้โรคนี้เกิดง่ายขึ้นเมื่อเชื้อมีช่องทางเข้าสู่กระดูกแล้วได้แก่ โรคเลือดธาลัสซีเมีย, โรคเบาหวาน, โรคติดสุรา, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องต่าง ๆ รวมทั้งการใช้ยาที่กดภูมิคุ้มกัน

อาการของโรค

โรคกระดูกติดเชื้อจากการบาดเจ็บ มักเกิดตามหลังบาดแผลหรือการผ่าตัดประมาณ 1 เดือน อาการหลักคือ การบาดเจ็บไม่หายตามระยะเวลาอันควร ไม่สามารถลงน้ำหนักหรือใช้งานอวัยวะที่บาดเจ็บได้ตามปกติ มีอาการเจ็บแม้ไม่ได้ใช้งาน และมีไข้ อ่อนเพลียเป็น ๆ หาย ๆ หากมีอาการเหล่านี้ควรเอกซเรย์กระดูกดูเป็นระยะ ๆ

โรคกระดูกติดเชื้อจากกระแสเลือด มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังดังกล่าวข้างต้น ในเด็กมักเกิดกับกระดูกแท่งยาว (เช่น ขา แขน) และที่หมอนรองกระดูกสันหลัง แต่ในผู้ใหญ่มักเกิดกับกระดูกสันหลังและกระดูกรูปแบนอื่น ๆ (เช่น กระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง กระดูกสะบัก กระโหลกศีรษะ หรือกระดูกอก)

อาการในเด็กส่วนใหญ่จะเกิดเร็ว (acute) ผู้ป่วยจะมีเริ่มมีอาการปวด บวม และกดเจ็บตรงตำแหน่งกระดูกที่ติดเชื้อหลังมีไข้ภายใน 7-10 วัน ในเด็กเล็กจะไม่เคลื่อนไหวแขนหรือขาข้างนั้น หากเป็นที่หมอนรองกระดูกสันหลังจะไม่ยอมลุกนั่ง อาจไม่ดูดนมหรือร้องกวน ในเด็กโตจะเดินกระเผลก ลงน้ำหนักไม่ได้สุด หรือใช้แขนยกอะไรหนัก ๆ ไม่ได้เพราะปวด และไข้จะขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อาการในผู้ใหญ่มีทั้งแบบที่เกิดเร็วเหมือนในเด็กและแบบที่ค่อย ๆ เกิดอย่างช้า ๆ ภายในเวลา 3 สัปดาห์ - 3 เดือน (chronic) หากเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และเป็นที่กระดูกสันหลังจะทำให้แยกยากจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม อาการสำคัญคือมีไข้ร่วมกับปวดหลัง และไม่หายแม้จะล้มตัวลงนอนในตอนกลางคืน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกติดเชื้อ ได้แก่ ภาวะกระดูกตายในบริเวณที่ติดเชื้อ, ในเด็กอาจส่งผลให้กระดูกนั้นไม่เจริญต่อ, หากกระดูกที่ติดเชื้ออยู่ใกล้ข้อก็อาจลุกลามเข้าไปในข้อเกิดเป็นโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ (septic arthritis)

การวินิจฉัยโรค

โรคกระดูกติดเชื้อวินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องแยกจากโรคติดเชื้อบริเวณใกล้เคียงที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบเป็นหนอง (Pyomyositis), โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis), โรคเบอร์ไซติส (Bursitis), โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ, โรคหมอนรองกระดูกอักเสบ (Diskitis), โรคซิฟิลิส, วัณโรค และโรคของกระดูกเองที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคมะเร็งกระดูก, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคฮีสติโอไซโตสิส, โรคขาดวิตามินซี เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยคือ การดูดหนองจากบริเวณกระดูกที่สงสัยมาย้อมหาเชื้อและส่งเพาะเชื้อ หรือการตรวจชิ้นเนื้อของกระดูกบริเวณนั้น ซึ่งเป็นการตรวจที่จะทำก็ต่อเมื่อมีผลการยืนยันจากภาพรังสีวิทยาว่าความผิดปกตินั้นเกิดกับกระดูกจริง ไม่ใช่แค่เกิดกับเนื้อเยื่อข้างเคียง

ปัญหาคือการเอกซเรย์กระดูกธรรมดารวมทั้ง CT-scan จะเริ่มเห็นความผิดปกติหลังมีอาการไปแล้ว 5-7 วันในเด็ก และ 10-14 วันในผู้ใหญ่ การตรวจด้วย MRI อาจบอกได้เร็วกว่านี้เล็กน้อย การตรวจทางรังสีวิทยาที่จะช่วยบอกว่ามีกระดูกติดเชื้อที่เร็วที่สุดคือการทำสแกนกระดูก 3 เฟส (3-phase bone scan) แต่ก็ยังทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น ทำให้โรคกระดูกติดเชื้อแบบที่เกิดเร็ว (ติดเชื้อมาจากกระแสเลือด) วินิจฉัยได้ค่อนข้างลำบากและล่าช้า

การรักษา

แม้โรคกระดูกติดเชื้อจากกระแสเลือดจะวินิจฉัยให้ชัดเจนได้ค่อนข้างยากในระยะแรก แต่โชคดีที่การเพาะเชื้อจากในเลือดมีโอกาสพบเชื้อได้ถึง 60% ทำให้สามารถเริ่มยารักษาได้ทันทีไม่ต้องรอผลการตรวจชิ้นเนื้อ

เชื้อส่วนใหญ่ที่พบคือ Staphylococcus aureus (ร้อยละ 65-90) ในรายที่เป็นเรื้อรังก็เช่นกัน หนองที่นำมาย้อมและเพาะเชื้อก็พบเป็นเชื้อ Staphylococcus aureus มากที่สุด แต่นาน ๆ ครั้งอาจพบเป็นวัณโรคหรือเชื้อราได้

ยาปฏิชีวนะควรเลือกให้ตามชนิดของเชื้อ ในระยะแรกควรให้แบบฉีดประมาณ 1-3 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นแบบรับประทานต่ออีกจนครบ 6 สัปดาห์

การรักษาทางศัลยกรรมจะกระทำร่วมด้วยในรายที่ดูดได้หนองจำนวนมากตั้งแต่เริ่มแรก, มีกระดูกตายแล้ว, และอาการไม่ดีขึ้นหลังให้ยาฉีดไปแล้ว 48-72 ชั่วโมง

การรักษาด้วยออกซิเจนแรงดันสูง (Hyperbaric oxygen therapy) ก็เป็นการช่วยเสริมให้เนื้อเยื่อของกระดูกมีการงอกขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียไปได้เร็วขึ้น แต่สามารถทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น

โรคกระดูกติดเชื้อมีอัตราการเป็นซ้ำหลังรักษาจบแล้วสูง โดยเฉพาะในเด็ก และอาจกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังจนต้องตัดขาหรือแขนข้างนั้นทิ้ง นอกจากนั้นในเด็กที่รักษาจนหายแล้ว การเจริญเติบโตของกระดูกชิ้นนั้นอาจไม่เป็นไปตามปกติ ทำให้ขาหรือแขนข้างนั้นสั้นหรือเล็กกว่าอีกข้างได้

การป้องกัน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าโรคนี้วินิจฉัยได้ยากและรักษาก็ยาก หลังรักษายังมีพยาธิสภาพหลงเหลือ ดังนั้นการป้องกันจึงน่าจะดีที่สุด การป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาดของร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้อยู่เสมอ คอยระวังอย่าให้มีดบาดหรือเกิดอุบัติเหตุจนมีแผล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกติดเชื้อดังกล่าวในตอนต้น