โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media)

โรคหูชั้นกลางอักเสบเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าโรคหูน้ำหนวก เกิดจากการติดเชื้อในหูชั้นกลาง โดยเชื้อโรคเข้ามาในหูชั้นกลางได้จาก 3 ทางคือ

  1. จากการติดเชื้อในคอหรือจมูก ผ่านเข้าทางท่อยูสเตเชียน (eustachian tube)ไปสู่หูชั้นกลาง
  2. จากการติดเชื้อในรูหู ผ่านแก้วหูที่ทะลุ แล้วเข้าสู่หูชั้นกลาง
  3. ผ่านทางกระแสเลือด

โรคนี้มักพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี เนื่องจากท่อยูสเตเชียนของเด็กสั้นกว่าและอยู่ในแนวระนาบมากกว่าในผู้ใหญ่

เชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแบคทีเรีย พบประมาณ 55-75% โดยเป็นเชื้อ Streptococcus pneumoniae, Haemophilus influenza, และ Moraxella catarrhalis ถึงร้อยละ 80 ที่เหลือเป็นพวก Staphylococcus aureus, Streptococcus group A และ B, และพวกแบคทีเรียกรัมลบ ซึ่งมักเป็นสาเหตุในทารกแรกเกิด

กลุ่มถัดมาเป็นเชื้อไวรัส พบประมาณ 10-40% ได้แก่ Respiratory syncytial virus, Rhinovirus, Influenza virus, และ Adenovirus ตามลำดับ

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหูชั้นกลางอักเสบได้แก่ ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่, การเลี้ยงลูกด้วยนมขวด, การเลี้ยงดูใน day-care, ภาวะที่ท่อยูสเตเชี่ยนอุดตัน (เช่น เป็นหวัด, การใส่สายป้อนอาหารทางจมูก), การว่ายน้ำหรือดำน้ำในขณะเป็นหวัด, การสูดควันบุหรี่, ภาวะภูมิคุ้มกันไม่ดี เป็นต้น

อาการของโรค

อาการแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ

  1. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) มีระยะของการดำเนินโรคดังนี้
  2. 1.1 ระยะบวมแดง ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดหู หรือแน่น ๆ ในหู มีไข้ และการได้ยินผิดปกติ ในเด็กเล็กจะร้องไห้งอแง ไม่ยอมนอน มักดึงใบหูของตัวเอง ถ้าส่องด้วยเครื่องมือแพทย์จะพบแก้วหูบวมแดง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ใช้แยกจากภาวะนํ้าคั่งในหูชั้นกลาง (แบบที่ 3)

    1.2 ระยะมีน้ำ ภายใน 1-2 วันจะเริ่มมีซีรั่มซึมออกมาจาก หลอดเลือดที่ขยายตัว เข้าไปในหูชั้นกลางและในโพรงอากาศมาสตอยด์ (mastoid air cell) ที่อยู่หลังหู ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้น และไข้สูง การได้ยินลดลง ตรวจดูในหูจะพบแก้วหูที่บวมแดงโป่งนูนเพราะถูกน้ำข้างในดันออกมา

    1.3 ระยะทะลุ เป็นระยะที่แก้วหูทนแรงดันจากน้ำข้างในหูชั้นกลางไม่ได้อีก จนเกิดการทะลุ มีนํ้าปนเลือดไหลออกมาในรูหูชั้นนอก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีน้ำปนหนองไหลออกมาจากหูอยู่พักหนึ่ง เมื่อทะลุแล้วอาการปวดหูและไข้จะลดลงอย่างมาก ส่วนใหญ่การอักเสบในหูชั้นกลางแบบเฉียบพลันจะหยุดแค่ในระยะนี้ เยื่อแก้วหูสามารถจะซ่อมแซมปิดรูที่ทะลุได้เองภายใน 2 สัปดาห์ และการได้ยินจะกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติ แต่บางรายที่รูทะลุไม่สามารถปิดได้ก็จะเข้าสู่การอักเสบแบบเรื้อรังต่อไป

    ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินผ่านระยะต่าง ๆ จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางรายจะอยู่ในระยะปวดบวมแดงอยู่นานโดยที่ยังตรวจไม่ค่อยพบน้ำ แต่โดยทั่วไปจากระยะบวมแดงถึงระยะทะลุกินเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ และหากรักษาก่อนนั้นอาจป้องกันการทะลุได้

    ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันคือโพรงมาสตอยด์อักเสบ โดยที่กกหูจะบวมแดงและกดเจ็บ

  3. หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (chronic otitis media) เมื่อแก้วหูทะลุแล้วไม่สามารถปิดได้เองใน 2-3 สัปดาห์จะเข้าสู่ภาวะเรื้อรัง แบ่งได้เป็น 2 ชนิด
  4. 2.1 ชนิดปลอดภัย (Safe Ear) เยื่อแก้วหูทะลุตรงกลาง ขอบของแก้วหูยังอยู่ครบวง จะไม่พบว่ามีถุงน้ำในหูชั้นกลาง (cholesteatoma) ผู้ป่วยจะมีหนองไหลจากหูเป็น ๆ หาย ๆ และเสียการได้ยินไปบางส่วน แต่ไม่มีไข้ ไม่ปวดหู

    2.2 ชนิดไม่ปลอดภัย (Unsafe Ear) เยื่อแก้วหูทะลุบริเวณขอบหรือตรงส่วนบน จะมีถุงน้ำในหูชั้นกลางร่วมด้วย ซึ่งสามารถทำลายกระดูกบริเวณรอบข้างได้ อาการจะเหมือนชนิดปลอดภัย เว้นแต่อาจมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียนเพิ่มเติมเข้ามา

    ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังนอกจากการเกิดถุงน้ำ cholesteatoma แล้วยังมี หูชั้นในอักเสบ, กระดูกอักเสบ, อัมพาตของเส้นประสาทที่เลี้ยงใบหน้า (เวลายิ้มมุมปากขาวยกไม่ขึ้น เวลาหลับตาหนังตาขวาปิดไม่สนิท), เยื่อหุ้มสมอง, และฝีที่สมอง เป็นต้น

  5. ภาวะนํ้าคั่งในหูชั้นกลาง (otitis media with effusion) เป็นภาวะที่มีนํ้าในหูชั้นกลางโดยที่ไม่มีอาการแสดงของการอักเสบหรือติดเชื้อ ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง แต่ไม่ปวดหูและไม่มีไข้ ส่องในหูไม่พบการบวมแดงของแก้วหู แต่มีการขยับของเยื่อแก้วหูลดลง (เพราะมีน้ำขังอยู่ด้านหลัง) ภาวะนี้มักพบในเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ กลุ่มอาการของดาวน์ มีโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติ แต่หากพบในผู้ใหญ่ควรต้องหาโรคมะเร็งของคอหอยส่วนจมูก (nasopharyngeal carcinoma) ด้วย เพราะอาจไปอุดท่อยูสเตเชี่ยนได้

การวินิจฉัยโรค

โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันวินิจฉัยจากอาการและการส่องดูในรูหู หากแก้วหูยังไม่ทะลุสามารถยืนยันการมีน้ำในหูชั้นกลางได้ด้วยการตรวจ pneumatic otoscope และการวัด tympanometry หากทะลุแล้วจะเห็นรูทะลุและมีน้ำอยู่ในรูหูชั้นนอก สามารถนำน้ำในหูไปย้อมสีและเพาะหาชนิดของเชื้อได้ การตรวจนับเม็ดเลือดจะช่วยยืนยันภาวะติดเชื้อหากยังไม่มีหนองไหล ในรายที่เจ็บที่หลังหูด้วยต้องส่งเอกซเรย์กระดูกมาสตอยด์ เพื่อดูว่ามีโพรงมาสตอยด์อักเสบด้วยหรือไม่

ในรายที่เป็นเรื้อรังชนิดไม่ปลอดภัยก็ควรส่งเอกซเรย์กระดูกมาสตอยด์เช่นกัน เพื่อดูว่ามีการทำลายของกระดูกแล้วหรือไม่

ในรายที่ตรวจพบเป็นภาวะนํ้าคั่งในหูชั้นกลางโดยไม่มีไข้และไม่มีอาการปวดควรได้รับการตรวจ audiogram และ tympannogram ด้วย

การรักษา

  1. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
    • ชนิดที่เยื่อแก้วหูยังไม่ทะลุ

      สามารถหายเองได้ประมาณร้อยละ 70-80 แต่เชื่อว่าการรับประทานยาปฏิชีวนะ 5-10 วัน จะช่วยลดความรุนแรง, ระยะเวลาของอาการ, และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ในเด็กเล็กควรให้ยานานกว่าผู้ใหญ่ ส่วนการเจาะแก้วหูให้ทะลุ (tympanocentesis) แพทย์จะทำในกรณีรักษาด้วยแล้วไม่ดีขึ้น มีอาการปวดมาก หรือในรายที่มีไข้สูง ต้องการได้น้ำไปเพาะหาเชื้อก่อโรค

    • ชนิดที่เยื่อแก้วหูทะลุแล้ว

      ใช้ยาปฏีชีวนะนานขึ้นเป็น 10-14วัน และอาจให้ยาหยอดหูร่วมด้วยในรายที่มีหนองไหลออกจากหูหรือมีหูชั้นนอกอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีโพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบต้องเข้ารับการผ่าตัด

      ยาปฏิชีวนะเริ่มแรกที่ใช้ก่อนจะทราบชนิดของเชื้อควรเป็นในกลุ่มของ Amoxicillin หรือ Amoxicillin + Clavulanic acid ผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลิลอาจเลี่ยงไปใช้ยาในกลุ่มของ Macrolides เมื่อผลการเพาะเชื้อกลับมาแล้วจึงค่อยเปลี่ยนยาให้เหมาะสมอีกครั้ง

  2. หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง

    ถ้าเป็นชนิดปลอดภัยจะใช้ยาปฏิชีวนะหยอดหู (Fluoroquinolone ear drop) เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ ร่วมกับการทำความสะอาดหู หากยังไม่ปิดถึงค่อยพิจารณาทำการผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู (tympanoplasty) ถ้าเป็นชนิดไม่ปลอดภัย ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทันที

  3. ภาวะนํ้าคั่งในหูชั้นกลาง

    สามารถรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะรับประทานระยะสั้น ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยพิจารณาทำการผ่าตัดเจาะเยื่อแก้วหูพร้อมใส่ท่อระบาย (myringotomy)

การป้องกัน

การป้องกันในเด็กอาจทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น สนับสนุนให้ทารกกินนมมารดา หลีกเลี่ยงการส่งเด็กไปเลี้ยงที่ศูนย์เลี้ยงเด็ก และงดสูบบุหรี่ในครอบครัว ในเด็กโตและผู้ใหญ่ การป้องกันตนเองจากโรคหวัดก็เป็นการป้องกันโรคหูน้ำหนวกไปด้วย เวลาเป็นหวัด จมูกตัน ก็ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงเกินไป

ผู้ที่เป็นหูน้ำหนวกบ่อย (มากกว่า 4 ครั้งต่อปี) อาจป้องกันโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะในขนาดครึ่งหนึ่งของที่ใช้รักษา วันละครั้งก่อนนอน ในฤดูที่มีอากาศหนาวเย็น