โรคพาราค็อกสิดิออยโดไมโคสิส (Paracoccidioidomycosis)

แหล่งของโรคพาราค็อกสิดิออยโดไมโคสิสอยู่ในลาตินอเมริกาและทวีปอเมริกาใต้ เชื้อที่เป็นสาเหตุคือ Paracoccidioides brasiliensis ทำให้เกิดโรคที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคค็อกสิดิออยโดไมโคสิสมาก แต่อาการทางผิวหนังจะรุนแรงกว่า เชื้อพาราค็อกสิดิออยเดสเมื่ออยู่ในดินที่เป็นกรด มีความชื้นสูง อากาศเย็น ที่อุณหภูมิ 18-23°C จะมีรูปเป็นเส้นใย เมื่ออยู่ในตัวคน ตัวนิ่ม หรือในอาหารเพาะเชื้อที่อุณหภูมิ 37°C จะมีรูปเป็นยีสต์ คนติดเชื้อได้ 3 ทาง คือ โดยการสูดหายใจเอาสปอร์หรือเส้นใยของเชื้อเข้าไป โดยการสัมผัสกับเชื้อราทางบาดแผลที่ผิวหนัง (โดยเฉพาะเกษตกรที่ปลูกกาแฟในบราซิล) และโดยการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อรานี้เข้าไป ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ แต่ตรวจพบว่าได้ติดเชื้อไปแล้วจากการทดสอบทางผิวหนัง เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง โรคจึงจะแสดงอาการออกมา

อาการของโรค

โรคพาราค็อกสิดิออยโดไมโคสิสแสดงอาการได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  1. แบบเฉียบพลัน (Juvenile paracoccidioidomycosis)

    เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อเข้าไปภายในเวลา 1-3 สัปดาห์ พบเพียง 5-10% ส่วนใหญ่เกิดในเด็กและวัยรุ่น ผู้ป่วยจะมีตุ่มขึ้นที่ผิวหนังคล้ายสิวขนาดใหญ่ ขอบนูน ตรงกลางบุ๋มเป็นสีดำ มักขึ้นตามใบหน้า บริเวณรอบจมูกและปาก นอกจากนั้นจะมีฝีที่ต่อมน้ำเหลืองข้างคอ เมื่อสุกจะแตกเป็นแผล มีหนองไหล เมื่อตรวจร่างกายก็จะพบตับม้ามโต ซีด ตรวจเลือดมักมีอีโอสิโนฟิลสูง

  2. แบบเรื้อรัง (Adult paracoccidioidomycosis) พบมากถึง 80-90% ส่วนใหญ่เกิดในผู้ใหญ่ เพศชาย วัย 30-50 ปี เนื่องจากเชื้อพาราค็อกสิดิออยเดสมีรีเซ็ปเตอร์ (receptor) จับกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง การจับกับฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เชื้อสูญเสียความสามารถในการเปลี่ยนรูปเป็นยีสต์ ซึ่งเป็นรูปที่ก่อโรคในคน
  3. อาการเกิดขึ้นหลังจากที่รับเชื้อเข้าไปหลายปี ส่วนใหญ่จะแสดงอาการทางปอดและแผลในช่องปาก ผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไอ เหนื่อยหอบ มีแผลเรื้อรังในช่องปาก ทำให้กลืนลำบาก พูดไม่ชัด แผลที่เหงือกจะทำให้ฟันหลุด มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ตับม้ามโต ปวดท้องเพราะต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องโตด้วย เอ็กซเรย์ทรวงอกพบรอยโรคที่ปอดได้หลายรูปแบบ และมักกระจายไปทั้งสองข้าง

  4. แบบแพร่กระจาย (Disseminated paracoccidioidomycosis) มักพบในผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่ติดสุรา และผู้ที่สูบบุหรี่ เชื้อจะกระจายไปตามระบบเลือดและน้ำเหลืองเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง กระดูก สมอง ลำไส้ ต่อมหมวกไต ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ผิวหนังมีทั้งตุ่มและแผล ปวดตามกระดูก มีข้อบวมอักเสบ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ผิวหนังคล้ำขึ้น

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคพาราค็อกสิดิออยโดไมโคสิสที่แน่ชัดต้องอาศัยการเพาะเชื้อขึ้นจากเสมหะ หนอง เลือด ไขกระดูก หรือน้ำไขสันหลัง ควรใช้ Sabouraud dextrose agar อุ่นที่อุณหภูมิ 35-37°C เป็นเวลา 20-30 วัน

การตรวจดูเบื้องต้นด้วยน้ำยา KOH หรือ Parker ink อาจเห็นเชื้อราเป็นรูปยีสต์ทรงกลมขนาดใหญ่ (20-60 ไมครอน) ผนังหนา มีหน่อเล็ก ๆ แตกออกมาโดยรอบเป็นจำนวนมาก (multiple budding)

การตรวจทางซีโรโลยี่ที่ช่วยสนับสนุนได้แก่ Paracoccidioidin skin test, Immunodiffusion, Complement fixation test, Counter immunoelectrophoresis, ELISA, Western blot, Monoclonal antibodies, และ PCR

การรักษา

ยาที่ใช้รักษาโรคพาราค็อกสิดิออยโดไมโคสิสได้ดี ได้แก่ Itraconazole, Ketoconazole, TMP-SMZ, และ Amphotericin B ซึ่งสงวนไว้ใช้ในรายที่เป็นแบบแพร่กระจาย ระยะเวลาในการรักษานาน 6-18 เดือน