โรคเพนิซิลลิโอสิส (Penicilliosis)

โรคเพนิซิลลิโอสิสเป็นโรคติดเชื้อราชนิดชนิดฉวยโอกาสที่สำคัญโรคหนึ่งในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี พบมากในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางตอนใต้ของจีน ผู้ป่วยจากประเทศอื่นมักมีประวัติเคยเดินทางไปในเขตของโรคนี้มาก่อน ประเทศไทยพบโรคเพนิซิลลิโอสิสมากในผู้ป่วยโรคเอดส์

สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Penicillium marneffei ซึ่งเป็นเชื้อราที่มี 2 รูป ในธรรมชาติที่อุณหภูมิ 25-28°C จะมีรูปเป็นราสาย (mycelial form) ในร่างกายของสัตว์และในการเพาะเลี้ยงเชื้อที่อุณหภูมิ 37°C จะมีรูปเป็นยีสต์ขนาดเล็ก (ประมาณ 3 ไมครอน) แบ่งตัวโดยวิธี binary fission ไม่มีการแตกหน่อ (budding) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเชื้อชนิดนี้ มีผู้ตรวจพบเชื้อ P. marneffei จากมูลของตัวอ้น ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงวิธีการติดต่อที่แน่นอน เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการสูดดมเชื้อนี้เข้าไปทางปอดเช่นเดียวกับการติดเชื้อราอื่น ๆ

อาการของโรค

โรคเพนิซิลลิโอสิสแสดงอาการได้ 2 แบบ คือ

  1. แบบติดเชื้อเฉพาะที่
        1.1 ที่ผิวหนัง พบมากถึงร้อยละ 70 ผู้ป่วยจะมีตุ่มที่ผิวหนัง ลักษณะคล้ายสิว มักขึ้นบริเวณใบหน้า เป็นตุ่มแข็งขนาด 1-10 มม. ขึ้นพร้อมกันทีละหลายตุ่ม ตรงกลางตุ่มจะบุ๋มเป็นรอยเนื้อตายสีดำ ลึกลงไปคล้ายปล่องภูเขาไฟ
        1.2 ที่ต่อมน้ำเหลือง มักพบร่วมกับรอยโรคที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หลายเม็ด ลักษณะหยุ่น ๆ ไม่เจ็บ ถ้าทิ้งไว้จะแตกเป็นแผลเรื้อรัง
        1.3 ที่กระดูกและข้อ มักพบตามกระดูกหรือข้อเล็ก ๆ ของแขนขาและมือ มีการอักเสบ บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังซึ่งหุ้มกระดูกหรือข้อเหล่านั้น อาการปวดข้อ ปวดกระดูก อาจเป็นอยู่นานเป็นปีกว่าจะวินิจฉัยได้ ภาพรังสีจะเห็นกระดูกบางลงและมีการสึกกร่อนของข้อ (osteolytic lesion)
  2. แบบแพร่กระจาย เชื้อจะเข้าสู่ไขกระดูก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเป็นพัก ๆ มานานกว่า 1 สัปดาห์ ซีดมาก นํ้าหนักลด มีต่อมนํ้าเหลืองที่คอโต ตับโต ม้ามโต มีตุ่มตามตัว เป็นหนอง เกล็ดเลือดต่ำ และเอ็กซเรย์ปอดพบรอยโรคในปอดด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการทางระบบหายใจ

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคเพนิซิลลิโอสิสที่แน่ชัดต้องอาศัยการเพาะเชื้อขึ้นจากตุ่มที่ผิวหนัง แผล เลือด ไขกระดูก หรือเสมหะ ซึ่งใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์ ในเบื้องต้นการย้อมนํ้าเหลืองหรือหนองที่ได้จากรอยโรคที่ผิวหนังด้วยสี Wright แล้วดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อาจเห็นเชื้อราเป็นรูปกลมบ้าง รีบ้าง ยืดยาวบ้าง ต่าง ๆ กัน ขนาดเล็กเพียง 3-5 ไมครอน อยู่ทั้งภายในและภายนอกเซลล์ ไม่มีแคปซูลหุ้ม เซลล์ที่ยืดยาวออกคือเซลล์ที่กำลังแบ่งตัว มักมีผนังหนาใส ๆ ไม่ติดสีแบ่งตรงกลาง ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นลักษณะเฉพาะของเชื้อ P. marneffei ต่างจากเชื้อ Histoplasma capsulatum ที่แบ่งตัวโดยการแตกหน่อ มี budding เล็ก ๆ งอกขึ้นมาจากผนังของเซลล์แม่

การรักษา

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเพนิซิลลิโอสิสแบบติดเชื้อเฉพาะที่ที่ผิวหนังและที่ต่อมน้ำเหลืองสามารถรักษาได้ด้วยยารับประทาน Itraconazole หรือ Fluconazole นาน 10 สัปดาห์ กรณีที่มีการติดเชื้อที่กระดูกร่วมด้วย หรือผู้ป่วยที่เป็นระยะแพร่กระจายควรใช้ยา Amphotericin B ในช่วง 2 สัปดาห์แรก เมื่ออาการดีขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนเป็นยารับประทานต่อไป

ผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นโรคนี้แล้วมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง จึงควรทานยา Itraconazole ขนาด 200 มก./วัน เพื่อป้องกันโรคต่อไปจนกว่าระดับ CD4 จะเกิน 100/uL เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน