โรคไอกรน (Pertussis)

ไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจที่ติดต่อกันง่ายมาก สาเหตุของโรคคือแบคทีเรียรูปแท่ง กรัมลบ ที่ชื่อ Bordetella pertussis โรคไอกรนในเด็กพบน้อยลงหลังจากที่มีการนำวัคซีน DPT มาใช้ แต่กลับพบได้บ่อยขึ้นในผู้ใหญ่แม้จะมีประวัติได้รับวัคซีนมาอย่างครบถ้วน และบ่อยครั้งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อเพอร์ทัสสิสโตช้าและเพาะขึ้นยาก ต้องอาศัยอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดพิเศษ จึงอาจทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยโรคไอกรนได้อย่างแน่ชัด

พยาธิสภาพ

เชื้อเพอร์ทัสสิสเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ โดยจะไปเกาะติดที่เซลล์เยื่อบุหลอดลม แล้วสร้างสารพิษ (exotoxin) ออกมากระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุหลั่งสารเคมีที่ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อย เช่น กระแสลม กลิ่น ฝุ่นละออง ความร้อน ความเย็น เสียงพูด เป็นต้น และทำให้มีการผลิตเสมหะเพื่อขับไล่สิ่งกระตุ้นนั้น ระยะเวลาของการเป็นโรคกินเวลาทั้งสิ้น 10-14 สัปดาห์ เนื่องจากกลไกที่ทำให้เกิดโรคไอกรนเป็นจากสารพิษของเชื้อ การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อเพอร์ทัสสิสจึงเป็นเพียงการลดอัตราการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถลดระยะเวลาของการดำเนินโรคที่เกิดขึ้นมาแล้วจากการกระตุ้นของสารพิษได้

อาการของโรค

โรคไอกรนมีระยะฟักตัวประมาณ 7-10 วัน ถ้าโดนผู้ป่วยไอหรือจามใส่มาเกิน 2 สัปดาห์แล้วยังไม่แสดงอาการแสดงว่าปลอดภัยจากโรค อาการของโรคไอกรนแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะเริ่มต้น: อาการจะเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมีไข้ต่ำ ๆ น้ำมูกไหล ไอเล็กน้อยแบบไม่มีเสมหะ แล้วค่อย ๆ ไอจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
  2. ระยะไอเป็นชุด: ระยะนี้ไข้จะหายไปแล้ว แต่จะมีอาการไอติดกันเป็นชุด ๆ เสียงดัง ขณะไอจะหน้าแดงหน้าเขียว น้ำตาไหล ไอจนเสมหะเหนียวหลุดออกมา บ่อยครั้งจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอด้วย บางรายไอมากตอนกลางคืนจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน บางรายไอจนเจ็บอก เจ็บชายโครง น้ำหนักตัวลด ระยะนี้กินเวลาประมาณ 4-10 สัปดาห์
  3. ระยะฟื้นตัว: อาการไอเป็นชุด ๆ จะค่อย ๆ ห่างไปอย่างช้า ๆ และความรุนแรงน้อยลงเรื่อย ๆ จนหายสนิท ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไอกรนเกิดจากการที่มีแรงดันสูงภายในทรวงอกจากการไอติดต่อกันเป็นเวลานาน ที่พบได้บ่อยคือ ปอดแตก ไส้เลื่อน เลือดออกใต้เยื่อบุตา บางครั้งอาจพบภาวะปอดแฟบจากการที่เสมหะเหนียวอุดหลอดลมแขนงใดแขนงหนึ่งของปอดทั้งกลีบ และในเด็กเล็กอาจพบอาการชักหรือมีเลือดออกในสมองจากการไอที่รุนแรงมาก ๆ

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคไอกรนที่แน่ชัดทำได้โดยการเพาะเชื้อเพอร์ทัสสิสจากเสมหะด้วยอาหารวุ้นชนิด Bordet-Gengou media แต่โอกาสที่เชื้อจะขึ้นก็ยังมีน้อย ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่ไอเป็นชุด ๆ นานติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์ ไม่มีประวัติเคยเป็นภูมิแพ้มาก่อน ภาพรังสีทรวงอกไม่มีลักษณะของปอดอักเสบ เนื้องอก น้ำท่วมปอด หรือลักษณะของถุงลมโป่งพอง และสามารถตัดโรคที่มีอาการคล้ายกันออกได้หมดแล้ว เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด วัณโรคปอด โรค Cystic fibrosis ฯลฯ

การรักษา

ยังไม่มียาปฏิชีวนะใดที่เปลี่ยนแปลงการดำเนินของโรคไอกรนได้ แต่ส่วนใหญ่แพทย์ก็ยังจะให้ยาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและคลุมเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบที่ทำให้มีอาการคล้ายคลึงกัน

ยาที่ช่วยให้อาการไอทุเลาลงได้ดีคือยาขยายหลอดลมกลุ่ม β-blocker และ Prednisolone ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาละลายเสมหะเพื่อลดความเหนียว ทำให้ไอออกง่ายขึ้น ในรายที่มีปอดแฟบต้องใช้วิธีเคาะปอดและดมไอน้ำ วิธีการรักษาที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่มีวิธีใดที่สามารถลดระยะเวลาของโรคไอกรนได้

การป้องกัน

เนื่องจากการรักษาโรคไอกรนยังไม่ค่อยได้ผลดีนัก การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด มีวัคซีนป้องกันโรคไอกรนฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก ในเด็กให้ฉีดเมื่อมีอายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี และ 5 ปี