โรคคอและทอนซิลอักเสบ (Pharyngotonsillitis)

โดยทั่วไปโรคคออักเสบ (pharyngitis) หมายถึงการอักเสบติดเชื้อของบริเวณคอหอยและทอนซิล เชื้อส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของไวรัส ซึ่งมักมาพร้อมกับไข้หวัด อาการเจ็บคอจะไม่รุนแรง ต่อมทอนซิลไม่มีหนอง และไม่เป็นเรื้อรัง (ได้กล่าวไว้แล้วในหน้าโรคคออักเสบจากไวรัส) เชื้อกลุ่มที่รองลงมาคือแบคทีเรีย แล้วก็เชื้อรา

แบคทีเรียที่ทำให้เกิดคอและทอนซิลอักเสบที่สำคัญคือเชื้อดิบทีเรียและเชื้อสเตรปโตค็อกคัส เชื้อดิบทีเรียทำให้คอและทอนซิลอักเสบด้วยสารพิษที่มีลักษณะเฉพาะของมัน (ได้แยกกล่าวไว้ในโรคคอตีบ) ส่วนเชื้อสเตรปโตค็อกคัส(และแบคทีเรียอื่น ๆ )ทำให้คอและทอนซิลอักเสบด้วยการบุกรุกเข้าไปในเยื่อบุผิว บ่อยครั้งที่แพทย์บอกสั้น ๆ ว่าเป็น "คออักเสบ" หรือ "ทอนซิลอักเสบ" ให้เข้าใจว่ากำลังพูดถึงโรคคอและทอนซิลอักเสบจากแบคทีเรียกลุ่มนี้

แม้ว่าเชื้อสเตรปโตค็อกคัสจะมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่จำเป็นต้องแยกออกมาให้ได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กคือ β-hemolytic streptococcus group A (หรือ Streptococcus pyogenes) เพราะปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อสารพิษของเชื้อนี้อาจทำให้เกิดไข้รูห์มาติกและโรคหน่วยไตอักเสบในอีก 1-4 สัปดาห์ต่อมา

อาการของโรค

โรคติดต่อกันทางการหายใจ อาการเกิดขึ้นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วประมาณ 1-5 วัน อาการแบ่งได้เป็นสองแบบ คือ

  1. แบบเฉียบพลัน ช่วงแรกผู้ป่วยจะมีไข้ คอแห้งผาก เจ็บแสบคอโดยเฉพาะเวลากลืนน้ำลาย เป็นอาการหลัก อาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ไอ ปวดเนื้อตัว เสียงแหบ เป็นอาการประกอบ(ที่น่าจะสงสัยโรคคออักเสบจากไวรัสมากกว่า) ในวันที่ 2-3 เมื่ออ้าปากดูในคอจะพบคอหอยและเพดานอ่อนบวมแดง อาจพบจุดหนองที่ทอนซิล หากยังไม่ได้รับการรักษาจะเริ่มมีต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอโต กดเจ็บ อาการเจ็บคอจะยิ่งเป็นมากขึ้นจนกลืนลำบาก ถ้าทิ้งไว้อีกอาจเกิดเป็นฝีรอบทอนซิลข้างใดข้างหนึ่ง (peritonsillar abscess) ผู้ป่วยจะอ้าปากได้น้อยลง เสียงเปลี่ยน ควบคุมการกลืนน้ำลายลำบากเพราะเจ็บคอมาก เมื่ออ้าปากดูในคอจะเห็นผนังคอหอยข้างที่เป็นฝีบวมจนเบียดลิ้นไก่ให้เบี้ยวไป ภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรีบด่วน
  2. ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้แก่ การติดเชื้อในช่องหู ไซนัสอักเสบ ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

  3. แบบเรื้อรัง ส่วนที่จะอักเสบเรื้อรังคือทอนซิล ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอบ่อยแต่ไม่รุนแรงนัก บางครั้งอาจไม่มีไข้ ตรวจร่างกายพบต่อมทอนซิลโต ผิวขรุขระ แต่ไม่แดงมาก และพบตุ่มน้ำเหลืองบนผนังคอหอยเป็นลักษณะแดงเรื่อ สะท้อนแสงไฟ ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอใต้ขากรรไกรมักจะโต กดเจ็บเรื้อรัง

การวินิจฉัย

ในช่วงวันแรก ๆ ของโรคเป็นเรื่องยากที่จะแยกโรคคออักเสบจากไวรัสออกจากโรคคอและทอนซิลอักเสบจากแบคทีเรียด้วยประวัติและการตรวจร่างกายเท่านั้น ในวันถัดมาหากมีแผ่นหรือจุดขาว ๆ เกิดขึ้นที่ทอนซิลยังต้องแยกจากเชื้อราแคนดิดา, โรคคอตีบ, และโรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส การวินิจฉัยที่แน่ชัดจำต้องตรวจเลือดและเพาะเชื้อจากในคอ การเพาะเชื้อจะให้ผลใน 3 วัน ในเด็กที่เป็นสงสัยว่าจะเป็นคออักเสบจาก Streptococcus group A และไม่สามารถกลับมาฟังผลได้ อาจใช้วิธีตรวจ rapid antigen สำหรับเชื้อ β-haemolytic streptococcus group A โดยเฉพาะ (แต่วิธีการตรวจนี้มีราคาแพงและยังทำไม่ได้ทุกสถาบัน)

การเอกซเรย์ลำคอในท่าด้านข้างก็จะช่วยบอกว่ามีหนองหรือการติดเชื้อของเนื้อเยื่อลำคอส่วนลึกด้วยหรือไม่ในรายที่มีอาการเจ็บคอมาก อ้าปากไม่ได้ และมีเสียงเปลี่ยน

ผู้ป่วยเด็กที่มาตรวจในสถานพยาบาลที่ไม่สามารถทำการตรวจพิเศษได้ มีเกณฑ์ของเซ็นเทอร์ (Centor criteria) ที่ช่วยให้น้ำหนักว่าจะคอและทอนซิลอักเสบนั้นจะเป็นจากเชื้อ Streptococcus group A ดังนี้

  1. มีไข้
  2. ต่อมทอนซิลมีจุดหนอง
  3. มีต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโต
  4. ไม่มีอาการไอ

ในเด็กอายุระหว่าง 4-7 ปี หากมีครบทั้ง 4 ข้อ ก็มีน้ำหนักมากที่จะเป็นจากเชื้อ Streptococcus group A ควรให้ยาในกลุ่มเพนิซิลลินเป็นเวลา 10 วัน หากมีเพียง 1 ข้อ โอกาสที่จะเป็นมีได้น้อย

ในผู้ใหญ่ เกณฑ์นี้มักใช้ไม่ค่อยได้ พบว่าถ้ามีครบทั้ง 4 ข้อ ก็มีโอกาสเกิดจากเชื้อ Streptococcus group A เพียง 50%

การรักษา

ในเด็กควรให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มของเพนิซิลลิน หรือ อีริโธรมัยซิน เป็นหลัก และอาจเริ่มให้ตั้งแต่ก่อนผลการเพาะเชื้อจะออกในรายที่ดูคอแดงมาก หากผลการเพาะเชื้อออกมาเป็น β-hemolytic streptococcus group A ให้รับประทานยาต่อจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิด ไข้รูห์มาติก หรือ หน่วยไตอักเสบแทรกซ้อน

ในผู้ใหญ่เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุมีความหลายหลายมากขึ้น (มีทั้ง Streptococcus group C, G, F, M pneumoniae, C pneumoniae, Gonorrhea, etc) อุบัติการณ์ของไข้รูห์มาติกและหน่วยไตอักเสบก็พบได้น้อย อีกทั้งคออักเสบจากไวรัสก็ยังเป็นกลุ่มใหญ่ การศึกษาล่าสุดพบว่าการชะลอการให้ยาปฏิชีวนะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนของช่องหูอักเสบและไซนัสอักเสบได้มากกว่าการให้ยาปฏิชีวนะตั้งแต่วันแรก ๆ จึงแนะนำให้รอดูอาการของผู้ป่วยสัก 3-4 วัน เพราะถ้าเป็นจากไวรัสทั่วไป ช่วงนี้อาการเจ็บจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง และถ้าเป็นจากแบคทีเรีย ผลการเพาะเชื้อก็จะออกแล้ว ทำให้เลือกยาที่จะให้ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

ถ้าเกิดฝีรอบทอนซิลขึ้นแล้วต้องเจาะเอาหนองออก หรือผ่าตัดทอนซิลทิ้ง

ในรายที่เป็นเรื้อรังมากกว่า 4 ครั้ง/ปี หรือมีอาการอักเสบของหูบ่อย ๆ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลออก การผ่าตัดทอนซิลในเด็กมักจะทำในช่วงอายุ 6-7 ปี

การป้องกัน

ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนมาก ๆ และไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี หมั่นรักษาสุขภาพฟันและช่องปาก ผู้ที่เป็นโรคก็ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันการกระจายเชื่อไปสู่บุคคลอื่นเวลาไอ