โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)

โปลิโอเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบประสาทที่ร้ายแรง และเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะขาพิการในเด็ก โรคโปลิโอเกิดจากเชื้อโปลิโอไวรัส (poliovirus) ในลำไส้ คนติดโรคโดยการกินเชื้อโปลิโอที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่มเข้าไป เมื่อไปถึงลำไส้ ถ้าภูมิคุ้มกันในลำไส้มีเพียงพอ เชื้อจะถูกทำลาย ถ้าภูมิคุ้มกันมีน้อย เชื้อจะเข้าสู่ไขสันหลัง เข้าไปทำลายเซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron) ที่ไขสันหลังส่วนหน้า (anterior horn cells) เซลล์ประสาทที่ตายจะส่งผลให้กล้ามเนื้อที่รับคำสั่งจากเซลล์ประสาทตั้งแต่ระดับที่ตายลงมาเป็นอัมพาตทั้งหมด

อาการของโรค

อาการของผู้ป่วยโรคโปลิโอจะเริ่มด้วยไข้ เจ็บคอ ท้องเสีย เบื่ออาหาร อาการเป็นอยู่ 2-3 วันก็จะดีขึ้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีอาการเพียงเท่านี้แล้วก็หายสนิท อีกส่วนหนึ่งจะเริ่มมีไข้ใหม่ในอีก 2-3 วันต่อมา คราวนี้จะปวดศีรษะ อาเจียน ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อต้นขา มีอาการระคายของเยื่อหุ้มสมอง ไม่นานขาข้างหนึ่งจะเป็นอัมพาต ขยับไม่ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นข้างเดียว ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเป็นทั้งสองข้าง ขาข้างที่เป็นอัมพาตยังรับรู้ความรู้สึกได้ปกติ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคโปลิโอรุนแรงเชื้อจะทำลายถึงก้านสมอง ทำให้เป็นอัมพาตทั่วทั้งตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ผู้ป่วยจะกระวนกระวาย หายใจลำปาก รูจมูกบานขณะหายใจ พูดเสียงขึ้นจมูก สำลักน้ำและอาหารออกทางจมูก ไอและจามนาน ๆ ไม่ได้ อัตราเสียชีวิตมีประมาณ 5-10%

หลังจากสองสัปดาห์ไปแล้ว อาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดหลัง และอาการระคายของเยื่อหุ้มสมองจะหายไป เหลือแต่อาการอัมพาตที่จะคงอยู่ถาวร

การวินิจฉัย

โรคโปลิโอวินิจฉัยได้จากอาการทางคลีนิคร่วมกับการเพาะเชื้อขึ้นจากน้ำไขสันหลัง อุจจาระ หรือเมือกที่คอ ซึ่งใช้เวลา ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยได้จากอาการอัมพาตของขาแบบอ่อนนิ่ม (flaccid) และไม่สมมาตร โดยที่ยังรับความรู้สึกได้ปกติ น้ำไขสันหลังมีเซลล์ประมาณ 10-200 ตัว/ลบ.มม. ส่วนใหญ่เป็นลิมโฟไซต์ มีโปรตีนสูงขึ้นเล็กน้อย น้ำตาลปกติ

ที่สำคัญต้องวินิจฉัยแยกโรคโปลิโอจากโรคที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงอื่น ๆ เช่น Guillain-Barré syndrome, familial periodic paralysis, demyelinating type of encephalomyelitis, โรคปลายประสาทอักเสบ (peripheral neuritis), โรคพิษสุนัขบ้า, โรคบาดทะยัก, โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสอื่น ๆ, โรคโบทูลิซึ่ม, tick-bite paralysis, มะเร็งระยะแพร่กระจาย และโรคฮิสเทอเรีย

การตรวจหาแอนติบอดี้ย์ของโปลิโอในเลือดต้องส่งตรวจ 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ ไตเตอร์ที่เพิ่มขึ้น 4 เท่าจึงจะบอกได้ว่าเป็นการติดเชื้อโปลิโอเฉียบพลัน

การรักษา

ยังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับโรคโปลิโอ ในช่วงสองสัปดาห์แรกต้องให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยานอนหลับ และการพักผ่อน ภายหลังสองสัปดาห์ไปแล้วจึงค่อยประเมินความสูญเสีย และเริ่มทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนที่เหลือทำงานชดเชยส่วนที่เสียไปได้

การป้องกัน

ควรส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอตามกำหนด