โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอัตราตายสูงที่สุด ความจริงแล้วเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายของคนหรือสัตว์ได้ เพราะเพียงถูกแสงแดดจัด ๆ เชื้อก็จะตาย เชื้อพิษสุนัขบ้าจะอาศัยอยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์บ้าน และติดต่อถึงกันโดยการกัดหรือสัมผัสกับน้ำลายผ่านทางบาดแผล สัตว์บางชนิดเมื่อได้รับเชื้อแล้วไม่มีอาการอะไร กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อนี้ คนติดโรคจากสุนัขและแมวมากที่สุด

อาการของโรค

เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีแผล จะคงอยู่ที่บริเวณนั้นนานประมาณ 4 วัน แล้วจึงค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่สมองทางเส้นประสาท ระยะนี้เป็นระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการอะไร โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีระยะฟักตัวแตกต่างกันมากที่สุด อาจสั้นเพียง 10 วัน หรือยาวนานถึง 19 ปี โดยเฉลี่ยประมาณ 1-3 เดือน

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะเริ่มต้น: ใน 1-4 วันแรกผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และชาบริเวณแผลที่เชื้อเข้า บางรายที่แผลหายสนิทแล้ว จะมีอาการชาที่แขนหรือขาข้างเดียวกับที่เคยมีแผลอยู่
  2. ระยะกระวนกระวาย: ผู้ป่วยจะเริ่มกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เอะอะ สับสน มีประสาทหลอน แล้วชัก ระยะนี้ผู้ป่วยจะทนแสงสว่าง เสียงดัง และการสัมผัสไม่ได้ ไข้จะขึ้นสูง รูม่านตาขยาย น้ำตาและน้ำลายไหล เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  3. ระยะทรุด: ระยะนี้ก้านสมองจะถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน ทำให้กลืนไม่ได้ เรียกว่าอาการกลัวน้ำ นอกจากนั้นจะมีอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า ประสาทตาอักเสบ เห็นภาพซ้อน ความดันตก หยุดหายใจ และเสียชีวิต

การวินิจฉัย

ถ้าได้ประวัติสัตว์กัดโดยเฉพาะสุนัขและแมว ประกอบกับอาการทางคลีนิกดังกล่าว มักวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าได้ไม่พลาด โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น

แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในเลือด น้ำลาย น้ำไขสันหลัง หรือน้ำปัสสาวะ ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถส่งเลือดและน้ำไขสันหลังตรวจทางซีโรโลยี่ แต่มักไม่ทันการรักษา เพราะระดับจะขึ้นเร็วที่สุดประมาณวันที่ 6 ของโรค หรืออาจส่งเพาะเชื้อไวรัสจากน้ำลาย น้ำไขสันหลัง และน้ำปัสสาวะ แต่ได้ผลช้ากว่า

ในรายที่เสียชีวิต หากได้รับการตรวจพยาธิวิทยาของเนื้อสมอง จะพบมีการอักเสบรอบ ๆ หลอดเลือดในบริเวณผิวของสมอง มีการตายของเซลล์ประสาท และมี Negri body ซึ่งก้อนกลม ๆ ติดสีแดง อยู่ภายในเซลล์ประสาท เป็นลักษณะเฉพาะของสมองอักเสบจากไวรัส (ไม่จำเพาะของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเดียว)

ในรายที่ไม่มีประวัติถูกสัตว์กัด ในระยะแรกต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสชนิดอื่น โรคบาดทะยัก และโรคฮีสทีเรีย แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการก็จะชัดขึ้นเรื่อย ๆ

การรักษา

ยังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้ ต้องอาศัยการรักษาแบบประคับประคองเป็นหลัก โรคพิษสุนัขบ้ามีอัตราตายเกือบ 100%

วิธีป้องกัน

การป้องกันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าและสัตวแพทย์ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้เป็นประจำ เมื่อบุคคลทั่วไปถูกสัตว์กัด ต้องล้างแผลด้วยสบู่ทันที ถ้ามีแผลเปิดชัดเจน ควรได้รับการฉีดวัคซีนกันบาดทะยักและวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า ถ้าสัตว์ที่กัดเริ่มแสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ควรได้รับการฉีด antirabies serum หรือ antirabies immunoglobulin ด้วย

ในสัตว์เลี้ยงก็เช่นกัน ควรพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ