โรคหิด (Scabies, Scabiasis)

ตัวหิดเป็นไรตัวเล็ก ๆ ขนาด 0.2-0.4 มม. รูปร่างกลม หลังนูน ท้องแบน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarcoptes scabies ตัวอ่อนมี 6 ขา ตัวแก่มี 8 ขา ขาอ้วนสั้นมีปล้อง ปลายขามีขนยาวออกมาข้างละ 1 เส้น ขนขาหน้าสั้นกว่าขนขาหลัง ตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูอยู่ใต้ผิวหนัง (ชั้น stratum corneum) และวางไข่วันละ 1-3 ฟอง จนครบ 25-30 ฟองก็จะตายไป ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนใน 3-4 วัน ตัวอ่อนจะเจริญอยู่ในรูขุมขนจนโตเต็มวัยประมาณ 2 สัปดาห์ โดยอาศัยเลือดจากผิวหนังเป็นอาหาร ตัวหิดสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายของคนได้ 3 วัน

โรคหิดติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกัน และมักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในบ้าน บางครั้งอาจระบาดตามวัด โรงเรียน โรงงาน หรือในกองทหาร ความยากจน ความสกปรก และการอยู่กันแออัดเป็นปัจจัยสำคัญของการระบาดของโรคหิด บางคนอาจติดต่อโดยการร่วมเพศ ทำให้เกิดตุ่มคันตรงบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ จึงถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง

อาการของโรค

ระยะฟักตัวนานประมาณ 2 สัปดาห์ ตัวหิดจะขุดเจาะผิวหนังของคนแล้วถ่ายของเสียหรือสารพิษออกมา ผู้ป่วยจะมีผื่นนูนแดงคดเคี้ยว ตุ่มน้ำใส และร่องตื้น ๆ จากการขุดเจาะ มักพบตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อศอก รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ก้น ข้อเท้า อวัยวะสืบพันธุ์ ในเด็กเล็กอาจขึ้นที่หน้าและศีรษะ มีอาการคันมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน ผู้ป่วยมักเกาจนเป็นแผลตกสะเก็ด หรือบางครั้งอาจติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมจนกลายเป็นตุ่มหนอง แผลจะคงอยู่เป็นเดือน ๆ ไม่หายขาดแม้จะใช้ยาทาหรือยารับประทานหลายชนิด

ผื่นของหิดอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อ นูน สีแดงอมน้ำตาล คัน มักพบบริเวณรักแร้และอวัยวะเพศ มักไม่พบตัวหิดในผื่นชนิดนี้ และหลังการรักษาหิดหายแล้วผื่นนี้จะยังคงอยู่ต่อไปได้

ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การขยายพันธุ์ของหิดจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้เกิดผื่นที่มีสะเก็ดแห้งขุยหนา ภายในสะเก็ดแห้งมีตัวหิดอยู่เป็นจำนวนมหาศาล และแพร่เชื้อไปสู่ผู้ดูแลได้ง่าย

การวินิจฉัยโรค

จากประวัติที่เป็นตุ่มคันเรื้อรังหลายคนในบ้าน และตรวจร่างกายพบผื่นที่มีลักษณะจำเพาะดังกล่าวก็สามารถวินิจฉัยหิดได้แล้ว โดยเฉพาะเมื่อพบรอยโรคที่เห็นเป็นเส้นเล็ก ๆ คดเคี้ยวที่ง่ามนิ้ว ซึ่งเรียกว่า อุโมงค์หิด กรณีที่รอยโรคไม่ชัด การหา อุโมงค์หิด ทำได้ง่ายด้วยการหยดหมึกลงบนรอยโรคแล้วเช็ดหมึกส่วนเกินออก จะพบหมึกค้างอยู่ในร่องอุโมงค์

แต่การวินิจฉัยที่แน่ชัดต้องทำการ ขุดอุโมงค์ ให้ได้ตัวหิดหรือไข่หิดนำมาตรวจดูลักษณะด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งไม่ค่อยนิยมทำกัน

ในกรณีที่แพทย์สงสัยโรคหิดมาก แต่การตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ไม่พบหลักฐานการติดเชื้อหิด แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาจำเพาะต่อโรคหิด แล้วนัดมาติดตามอาการ

การวินิจฉัยอีกอย่างที่สำคัญคือต้องดูว่ามีตุ่มหนองที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีก็จำเป็นต้องรักษาร่วมกันไปด้วย

การรักษา

ยาฆ่าตัวหิดมีทั้งยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน ยาทาได้แก่ 1% Benzene hexachloride, 20-25% Benzyl benzoate, 5% Permethrin, 5-15% Sulfur in petrolatum, 10% Crotamiton, 1% Lindane ใช้ทาหลังอาบน้ำและเช็ดตัวให้แห้งแล้ว โดยต้องทาทั้งตัว (ไม่ใช่เฉพาะที่มีผื่น) จากนั้นอีก 24 ชั่วโมงให้ทาซ้ำอีกครั้ง ระหว่างนี้อย่าเพิ่งอาบน้ำและล้างมือ (ถ้าจำเป็นต้องล้างมือ ต้องทายาซ้ำหลังเช็ดมือให้แห้ง) จนกว่าจะครบ 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ทายาครั้งแรก จึงอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และผ้าปูที่นอนใหม่ทั้งหมด ถ้ายังไม่หายขาดให้ทำซ้ำอีกครั้งในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา

5-15% Sulfur เป็นยาตัวเดียวที่ใช้ได้ปลอดภัยในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน, หญิงตั้งครรภ์, และหญิงให้นมบุตร ข้อเสียคือยามีกลิ่นเหม็นและเหนอะหนะ

ยารับประทานได้แก่ Ivermectin ขนาด 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ควรรับประทานขณะท้องว่าง และทานอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ ความปลอดภัยของยาตัวนี้ในคนตั้งครรภ์ และเด็กน้ำหนักน้อยกว่า 15 กิโลกรัมไม่มีข้อมูลชัดเจน

การรักษาที่สำคัญต้องรักษาทุกคนในบ้านที่เป็นหรือสงสัยว่าจะติดโรคไปพร้อม ๆ กัน เพื่อป้องกันการติดต่อกลับไปกลับมาอีก และต้องซักเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัวและเครื่องนอนที่ผู้ป่วยใช้ทุกวันจนกว่าจะหาย ควรแยกเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอนต่างหาก อย่าใช้ปะปนกับผู้อื่น รวมทั้งอย่านอนรวมกับคนอื่น ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้นด้วย และพยายามอย่าเกา เพราะอาจลามไปที่อื่นได้ง่าย

เนื่องจากอาการคันของโรคหิดเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้โปรตีนและมูลของตัวหิด ดังนั้นอาการคันอาจคงมีอยู่ได้ 2-3 สัปดาห์หลังการรักษาแล้ว การประเมินว่าหายหรือไม่ต้องดูว่ามีรอยโรคเกิดใหม่หรือไม่แทน

หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำควรรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ในเด็กควรให้ยาปฏิชีวนะนาน 10 วัน

การป้องกัน

- หมั่นทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องใช้ต่าง ๆ เฟอร์นิเจอร์ และพื้นบ้าน ไม่ให้เป็นที่อยู่ของเห็บ ไร แมลง และหนู
- ใส่ถุงมือยางเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยที่นอนนาน ๆ ไม่สามารถลุกไปอาบน้ำเองได้ และทำความสะอาดตัวเองทุกครั้งหลังให้การพยาบาลแล้ว