โรคพยาธิใบไม้ชิสโตโซม (Schistosomiasis)

พยาธิใบไม้ชิสโตโซมเป็นพยาธิใบไม้ที่ทำอันตรายต่อมนุษย์ได้มากกว่าพยาธิใบไม้ชนิดอื่น ๆ เพราะตัวอ่อนสามารถไชเข้าผิวหนังของคนได้โดยตรง พยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดดำภายในช่องท้องของคน ไข่พยาธิจะออกมากับปัสสาวะหรืออุจจาระแล้วแต่สายพันธุ์ เมื่อลงน้ำ จะฟักเป็นตัวอ่อน ว่ายเข้าไปเจริญในตัวหอยจนถึงระยะเซอร์คาเรีย จึงจะออกมาอยู่ในน้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคนหรือสัตว์ลงไปว่ายในแหล่งน้ำ เซอร์คาเรียจะไชผ่านผิวหนังเข้าไปเจริญอยู่ในหลอดเลือดดำปอร์ตั้ลของตับจนเป็นตัวแก่ จึงจะออกมาจากตับไปอยู่ตามหลอดเลือดดำในช่องท้อง ออกไข่ผ่านหลอดเลือดไปยังกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ และถูกถ่ายออกไปพร้อมกับอุจจาระหรือปัสสาวะ

อาการของโรค

อาการของโรคแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ

  1. ระยะที่เซอร์คาเรียไชเข้าผิวหนังคนแล้วเดินทางไปยังตับ
  2. เมื่อเซอร์คาเรียไชเข้าผิวหนังของคน จะทำให้ผิวหนังเป็นตุ่มแดง คัน อาจมีอาการของลมพิษ ซึ่งจะหายไปเองใน 2-3 วัน ตัวอ่อนจะอยู่ที่ผิวหนังประมาณ 24-36 ชั่วโมงก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ไปที่ปอดก่อน ผู้ป่วยมักมีอาการเพียงเล็กน้อยแบบหลอดลมอักเสบ แล้วจึงเดินทางมาเติบโตในหลอดเลือดดำปอร์ตั้ล ช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาภูมิไวต่อตัวพยาธิ เช่น มีไข้ในตอนบ่าย จุกแน่นยอดอก มีลมพิษขึ้น หน้าตาบวม มีคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน เจ็บบริเวณตับ ในรายที่อาการรุนแรง โดยเฉพาะจากสายพันธุ์ Schistosoma japonicum อาจซึม หมดสติ หรือเป็นอัมพาต เซอร์คาเรียจะใช้เวลาเติบโตอยู่ในนี้ประมาณ 2 เดือน

  3. ระยะที่พยาธิตัวแก่ออกไข่ในหลอดเลือดดำภายในช่องท้อง
  4. เมื่อเจริญจนเป็นตัวแก่แล้ว พยาธิจะว่ายทวนกระแสโลหิตไปยังหลอดเลือดดำในช่องท้อง เช่น superior mesenteric, inferior mesenteric, และหลอดเลือดดำบริเวณอุ้งเชิงกราน พยาธิตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมาในหลอดเลือดดำฝอยที่อยู่ติดลำไส้และกระเพาะปัสสาวะตลอดอายุขัย 30 ปีของมัน ไข่จะเข้าไปในลำไส้และกระเพาะปัสสาวะได้ ลักษณะของไข่จะมีเงี่ยงแหลมเล็ก ๆ ยื่นออกมา ทำให้ผนังของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะเป็นแผลเล็ก ๆ จำนวนมาก เกิดการอักเสบเป็นโพรงหนองเล็ก ๆ ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด หรือปัสสาวะเป็นเลือด ไข่ของพยาธิส่วนหนึ่งจะถูกกระแสโลหิตพัดกลับไปที่หลอดเลือดดำปอร์ตั้ลตับ ถ้าสะสมกันเป็นจำนวนมากจะเกิดการอุดตันระบบไหลเวียนโลหิตดำ ทำให้ตับม้ามโต และร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาต่อโปรตีนแปลกปลอมของไข่พยาธิ ทำให้มีไข้ เป็นลมพิษ และอีโอซิโนฟิลสูงในเลือด

  5. ระยะซ่อมแซมและเกิดแผลเป็น
  6. ระยะนี้เป็นระยะที่เนื้อเยื่อของร่างกายเจริญมาซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ผนังของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะจะหนาขึ้น อาจมีติ่งเนื้อหรือพังผืดเกิดขึ้นเพื่อสมานแผล การอุดกั้นหลอดเลือดดำปอร์ตั้ลนาน ๆ จะเกิดภาวะตับแข็ง ผู้ป่วยจะมีท้องมาน บวม และเหลือง และอาจถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยทำได้ง่าย เพียงตรวจพบไข่ของพยาธิชนิดนี้ในอุจจาระหรือปัสสาวะก็สามารถวินิจฉัยโรคได้แล้ว ถ้าไม่พบแต่มีประวัติและอาการต้องสงสัย อาจใช้การตรวจทางซีโรโลยี่จะช่วยทางอ้อมได้

การรักษา

Praziquantel เป็นยาที่ใช้ได้ผลกับพยาธิใบไม้ในเลือดทุกสายพันธุ์ยกเว้น Schistosoma makongi ซึ่งยังไม่มียารักษา ขนาดยาคือ 75 มก./กก. แบ่งให้ 3 เวลา ภายในวันเดียว

วิธีป้องกัน

ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำเล่นในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด ไม่ขับถ่ายลงในแหล่งน้ำ และรักษาผู้ที่มีไข่ของพยาธิในอุจจาระหรือปัสสาวะทุกคนแม้จะยังไม่มีอาการ