โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ (Septic arthritis)

ข้ออักเสบอาจเกิดจากการบาดเจ็บ, การติดเชื้อ, ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน, โรคเก๊าท์, หรือความเสื่อมของข้อจากอายุและการใช้งาน ในหน้านี้จะกล่าวถึงแต่เฉพาะโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น

การติดเชื้อของข้ออาจเกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และเชื้ออื่น ๆ แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักทำให้เกิดข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน และพบในคนปกติทั่วไป ถ้าเป็นสาเหตุจากเชื้ออื่นอาการมักเป็นแบบเรื้อรัง และพบในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคข้อเรื้อรังอยู่ก่อน

ข้ออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. ข้ออักเสบจากเชื้อหนองใน (Gonococcal arthritis) ติดมาจากกามโรค แล้วเชื้อเข้าสู่ข้อทางกระแสเลือด
  2. ข้ออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียทั่วไป (Pyogenic arthritis) ในประเทศไทยพบกลุ่มนี้มากกว่า และร้อยละ 60 ยังพบในคนอายุน้อยกว่า 20 ปี เชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ Staphylococcus aureus รองลงมาคือ Streptococcus spp., N. meningitidis, Salmonella spp., E. coli, B. pseudomallei, ในเด็ก 1-2 ขวบ อาจพบ H. influenzae เชื้อเหล่านี้เข้าสู่ข้อทางกระแสเลือดหลังมีบาดแผลหรือการติดเชื้อของระบบอื่น, ทางการติดเชื้อที่ลุกลามมาจากกระดูกหรือเนื่อเยื่อข้างเคียง, และทางบาดแผลที่โดนเข้าข้อโดยตรง

อาการของโรค

อาการหลักจะเหมือนกับข้ออักเสบโดยทั่วไป คือ ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณรอบ ๆ ข้อ กดเจ็บตรงส่วนที่บวมสุด ขยับข้อนั้นไม่ได้ และอาจมีไข้หนาวสั่นร่วมด้วย ถ้าเป็นจากกลุ่มของแบคทีเรียอาการจะเป็นไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักต้องไปพบแพทย์ตั้งแต่สัปดาห์แรกเพราะปวดมาก เรียกว่ามีอาการแบบเฉียบพลัน

ข้ออักเสบจากเชื้อหนองใน มักเป็นหลายข้อพร้อม ๆ กันหรือในระยะเวลาใกล้กัน เหมือนจะปวดแบบย้ายที่ (migratory arthritis) มักเป็นกับข้อเล็ก ๆ ข้อที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วมือ อาจพบเอ็นอักเสบ (tenosynovitis) บริเวณหลังมือหลังเท้า หรือผื่นแดงที่ผิวหนังร่วมด้วย อาการปวดจะเบากว่าข้ออักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียทั่วไปเพราะเป็นกับข้อที่ไม่ได้ใช้รับน้ำหนัก ผู้ป่วยมักอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหน้านี้ไม่นาน อาจมีหรือไม่มีอาการของโรคหนองในก็ได้

ข้ออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียทั่วไป มักเป็นกับข้อใหญ่ ๆ เพียงข้อเดียว (monoarthritis) พบได้ทุกวัย ข้อที่พบบ่อยที่สุดคือ ข้อเข่า รองลงมา คือ ข้อสะโพก ข้อเท้า ข้อมือ และข้อศอก และมักเกิดตามหลังการบาดเจ็บ, เป็นฝีหนองที่ผิวหนัง, ปอดอักเสบ, หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หากมีผื่นแดงด้วยให้นึกถึงเชื้อ N. meningitidis ในเด็กเล็กมักเป็นที่ข้อสะโพก และมีกระดูกติดเชื้อร่วมด้วยเร็ว เด็กมักจะนอนนิ่งไม่ขยับ บางรายมีข้อสะโพกเคลื่อนด้วย

ข้ออักเสบจากเชื้ออื่น มักมีอาการค่อยเป็นค่อยไปกว่า อาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ ปวดบวมไม่มาก ยังพอทำงานได้ ไข้ไม่ค่อยชัดเจน มักพบในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ส่วนใหญ่จะมีอาการมานานกว่า 6 สัปดาห์ เรียกว่าเป็นแบบเรื้อรัง วิธีแยกจากโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ต้องเจาะน้ำไขข้อมาตรวจ

การวินิจฉัยโรค

โรคข้ออักเสบทุกชนิดต้องวินิจฉัยด้วยการเจาะน้ำไขข้อมาตรวจ ย้อมกรัม และเพาะเชื้อ หากเป็นข้อที่ไม่สามารถเจาะได้อาจส่งเลือดไปเพาะเชื้อแทน น้ำไขข้อที่ตรวจนับเม็ดเลือดขาวได้มากกว่า 100,000 ตัว/ลบ.มม. เป็นนิวโตรฟิลมากกว่า 90 % และมีระดับน้ำตาลในน้ำไขข้อน้อยกว่า 20 มก./ดล. จะบ่งชี้ว่าเป็นข้ออักเสบจากการติดเชื้อมากกว่าข้ออักเสบจากสาเหตุอื่นแม้การเพาะเชื้อจะไม่ขึ้นก็ตาม

โรคที่ต้องแยกจากโรคข้ออักเสบติดเชื้อในกรณีที่เป็นกับข้อใหญ่ ได้แก่ โรคเก๊าท์, โรคซูโดเก๊าท์, ภาวะข้อเสื่อมจากการใช้งานมากหรือการบาดเจ็บซ้ำ ๆ, และกลุ่มอาการของไรเตอร์ ส่วนในกรณีที่เป็นกับข้อเล็ก ๆ หลาย ๆ ข้อ ต้องแยกจากโรคไข้รูห์มาติก และโรคข้ออักเสบจากภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ซึ่งผลเลือดและลักษณะของน้ำไขข้อก็จะต่างออกไป

ภาพถ่ายรังสีของข้อจะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังติดเชื้อไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่ช่วยในการวินิจฉัย แต่แพทย์อาจส่งเอกซเรย์เพื่อใช้เทียบผลการรักษา การตรวจอื่น ๆ เช่น ultrasound, bone scan, CT scan และ MRI ก็ไม่ได้ทำเป็นประจำ แต่อาจใช้ตรวจเมื่อข้ออยู่ในตำแหน่งที่คลำไม่พบ หรือต้องการดูรายละเอียดของความเสียหายของข้อในกรณีที่ข้อผิดรูปไปมาก

การรักษา

โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อต้องใช้เวลาในการรักษานาน แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล การรักษาประกอบด้วยการใช้ยาและการระบายหนอง (ถ้ามี)

ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในช่วงแรกจะเป็นยาฉีดที่ครอบคลุมเชื้อกว้าง ทั้งกรัมบวกโดยเฉพาะเชื้อ S. aureus, และกรัมลบโดยเฉพาะเชื้อ N. gonorrhea และ N. meningitidis ในเด็กเล็กยาที่ให้ควรจะคลุมเชื้อ H. influenza ด้วย เมื่อผลการเพาะเชื้อกลับมาแพทย์จึงจะเปลี่ยนยาตามความเหมาะสม ยาฉีดจะให้เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ (หรือจนกว่าไข้จะลงสนิท) แล้วจึงตามด้วยยากินให้ครบ 3-4 สัปดาห์ หากมีกระดูกติดเชื้อด้วยต้องให้ยานาน 6 สัปดาห์

หากเจาะน้ำไขข้อได้เป็นหนอง แพทย์จะทำการระบายหนองโดยการเจาะดูดออกบ่อย ๆ หรือโดยการส่องกล้องหรือผ่าตัดเปิดเข้าไปล้างในข้อ ซึ่งจะทำเฉพาะกรณีที่เป็นข้อที่ดูดยาก หรือภาพถ่ายรังสีพบมีกระดูกติดเชื้อร่วมด้วยแล้ว

ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการมักจะดีขึ้นใน 24 - 48 ชั่วโมง แต่แม้จะรักษาหายแล้วก็พบว่าร้อยละ 75 ไม่สามารถใช้งานข้อนั้น ๆ ได้ตามปกติ