โรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

ไซนัส คือ โพรงอากาศในกระดูกกระโหลกศีรษะของเรา ช่วยให้ศีรษะของเราเบาขึ้น และอากาศที่อยู่ในโพรงก็ช่วยให้เสียงก้องกังวาน ไซนัสของคนเรามี 4 คู่ ได้แก่ Frontal (ฟรอนทอล) อยู่สองข้างหน้าผาก, Ethmoid (เอ็ธมอยด์) อยู่สองข้างจมูก, Sphenoid (สฟีนอยด์) อยู่หลัง Ethmoid ลึกเข้าไปใต้ฐานของกระโหลก, และ Maxillary (แม็กซิลลารี) อยู่สองข้างแก้ม ในเด็กโพรง Frontal และ Sphenoid จะยังไม่พัฒนาดี

ผนังของไซนัสบุด้วยเยื่อบุที่ผลิตน้ำเมือกเหนียวใส ช่วยกวาดล้างฝุ่นและเชื้อโรค และมีขนอ่อนคอยโบกพัดให้น้ำเมือกไหลลงทางโพรงจมูก รูระบายของ Maxillary ไซนัสไม่ได้อยู่ที่ก้นของไซนัส แต่อยู่สูงขึ้นมาเล็กน้อย จึงเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พบในคนเรา เพราะขนอ่อนเล็ก ๆ สามารถพัดสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกให้โพรงไซนัสของเราสะอาดอยู่เสมอ ภาวะใดก็ตามที่ลดการโบกพัดของขนอ่อนหรือทำให้รูระบายของไซนัสตีบแคบลงก็จะทำให้น้ำเมือกเหนียวคั่งค้างอยู่ในโพรงอากาศเหล่านี้ เป็นแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อโรคทั้งไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา

โรคไซนัสอักเสบ คือ การอักเสบที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุของโพรงไซนัสจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นเพียงโพรงเดียวหรือหลายโพรงพร้อมกันก็ได้ ถ้าการติดเชื้อยืดเยื้อออกไปหรือเป็นซ้ำ เยื่อบุไซนัสอาจถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้การทำความสะอาดในโพรงไซนัสหย่อนประสิทธิภาพ เชื้อแบคทีเรียในไซนัสถูกกำจัดออกได้ช้าลงจนกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบมีมากมาย อาทิ

  • ภาวะที่อุดตันทางระบายของไซนัส เช่น มีการบวมของเยื่อบุจมูกจากหวัดหรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, มีริดสีดวงหรือเนื้องอกของจมูก, มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในจมูก, ผนังกั้นจมูกคด, มีต่อมอดีนอยด์โต
  • ภาวะที่มีความผิดปกติในการโบกพัดขนอ่อน เช่น โรคซีสติกไฟโบรสิส (Cystic fibrosis), กลุ่มอาการคาร์ตาเจนเนอร์ (Kartagener syndrome), ภาวะภูมิคุ้มกันไม่ดี, การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
  • สภาวะที่ทำให้การถ่ายเทไม่ดี เช่น การว่ายน้ำหรือดำน้ำ, การใช้ยาพ่นจมูกมากไป, การใส่สายยางทางจมูก
  • สภาวะที่มีการติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียง เช่น การติดเชื้อของฟัน, การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

แม้ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างจะสามารถป้องกันได้ แต่ก็มีอีกหลายโรคเช่นกันที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวก็มักจะเกิดโรคไซนัสอักเสบซ้ำอยู่เรื่อย ๆ แม้ครั้งก่อนจะรักษาจนหายขาดแล้วก็ตาม

อาการของโรค

อาการแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute sinusitis) อาการเป็นมาไม่เกิน 1 เดือน
  2. อาการมักเกิดตามหลังไข้หวัดหรือการกำเริบของภาวะภูมิแพ้ โดยผู้ป่วยจะมีน้ำมูกอยู่นานเกิน 10 วัน ระยะนี้เชื้ออาจเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียก็ได้ หากเป็นแบคทีเรียสีของน้ำมูกจะกลายเป็นสีเหลืองแกมเขียวคล้ายหนอง บางรายจะรู้สึกมีน้ำมูกไหลลงคอ ทำให้ต้องไอ ไข้จะค่อย ๆ กลับมา แต่ไม่สูงมาก ประมาณ 38-39°C รู้สึกจมูกตัน ต้องหายใจทางปาก ปวดศีรษะและบริเวณใบหน้าตามตำแหน่งของโพรงไซนัสที่อักเสบ

    ลองใช้นิ้วกดบริเวณใบหน้าตรงตำแหน่งของไซนัสดูจะช่วยบอกได้ว่าตรงนั้นเจ็บหรือไม่

    - ถ้าเป็น Frontal ไซนัส (A) จะปวดบริเวณหน้าผากเหนือคิ้ว
    - ถ้าเป็น Sphenoid ไซนัสอักเสบ (B) มักปวดลึก ๆ บริเวณหลังลูกตา
    - ถ้าเป็น Ethmoid ไซนัส (C) จะมีอาการปวดรอบ ๆ ลูกตา
    - ถ้าเป็น Maxillary ไซนัส (D) มักกดเจ็บหรือปวดบริเวณโหนกแก้มหรือฟันบน

    ในเด็กมักไม่มีอาการปวดศีรษะหรือปวดตามใบหน้า อาการสำคัญคือ ไอ เป็นไข้ และน้ำมูกข้น

  3. ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (subacute sinusitis) อาการเป็นมานาน 1-2 เดือน
  4. อาการจะเหมือนไซนัสอักเสบเฉียบพลันแต่เบากว่า

  5. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis) อาการเป็นมานานกว่า 2 เดือน
  6. อาการจะไม่รุนแรงมาก แต่เป็นเรื้อรัง ไม่ค่อยมีไข้ อาการทางจมูกได้แก่ คัดจมูกน้ำมูกไหล, จาม, เวลาพูดมีเสียงตื้อ ๆ ไม่กังวาน น้ำมูก อาจมีทั้งใสและเขียว บางรายมีกลิ่นเหม็น การได้กลิ่นอาจผิดปกติ เช่น ไม่ค่อยรู้สึกกลิ่น หรือมีกลิ่นมากไป ในเด็กที่มีน้ำมูกข้นนานเป็นเดือน มักมีสาเหตุจากไซนัสอักเสบ

    อาการอื่น ๆ ที่ช่วยชี้นำว่าจะเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังคือ อาการแน่นหรือไม่สบายบริเวณหน้าตรงตำแหน่งของไซนัสที่เป็น ไอมีเสมหะลงคอ แน่นหู หูอื้อ ปวดหู หรือมีเสียงรบกวนในหู อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ โดยผู้ป่วยเหล่านี้มักมีโรคภูมิแพ้ ฟันผุ หรือเคยเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันมาก่อน หรือมีเนื้องอกในจมูก

ภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบค่อนข้างร้ายแรง ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ, การติดเชื้อของกระดูก, การติดเชื้อของเบ้าตา, เยื่อหุ้มสมอง, และฝีที่สมอง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค

โรคไซนัสอักเสบวินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยแพทย์จะถ่างรูจมูกเพื่อดูว่ามีการบวม, หนอง, เนื้องอก, หรือการผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ จากนั้นจะตรวจทางด้านหลังของจมูกโดยใช้ไม้กดลิ้นและกระจกเล็ก ๆ ลนไฟให้ปลอดเชื้อส่องดูในคอด้านหลังช่องปากว่ามีหนองหรือคราบของหนองหรือไม่ ถ้ามีก็จะเก็บหนองไปย้อมและเพาะหาเชื้อ แล้วจะตรวจหาตำแหน่งที่กดเจ็บบริเวณใบหน้าและไซนัส แพทย์ทางหูคอจมูกโดยตรงอาจทำการตรวจด้วยกล้องส่องจมูก (rhinoscopy) เพื่อดูตามรูเปิดของไซนัส

การเอกซเรย์ไซนัสธรรมดาจะเห็นชัดเพียง Frontal และ Maxillary ไซนัสเท่านั้น ลักษณะที่สนับสนุนโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันคือพบระดับของหนองในโพรงไซนัส, ไซนัสทึบไปทั้งข้าง, และผนังของโพรงหนากว่า 4 มม. ซึ่งถ้าพบก็จะช่วยสนับสนุนในรายที่มีอาการน่าสงสัยแต่ตรวจไม่พบความผิดปกติ แต่ความผิดปกติดังกล่าวพบได้ค่อนข้างน้อยในภาพเอกซเรย์ธรรมดา และการแปลผลก็ยาก ต้องอาศัยรังสีแพทย์ที่ชำนาญ นอกจากนั้น ในทารกวัยน้อยกว่า 1 ขวบ โพรงไซนัสยังไม่พัฒนาดี การเอกซเรย์ไซนัสธรรมดาจึงมักไม่ได้ประโยชน์

ปัจจุบัน CT และ MRI เข้ามามีบทบาทในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบมากกว่าการเอกซเรย์ไซนัสธรรมดา เพราะเห็นชัดทั่วทุกไซนัส และสามารถดูภาวะการติดเชื้อของกระดูกหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากไซนัสอักเสบได้ด้วย แต่เนื่องจากการตรวจยังมีราคาแพงมาก จึงยังไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายในรายที่อาการไม่รุนแรง

ภาวะภูมิแพ้ของจมูก (allergic rhinitis) ที่เป็นอยู่นาน ๆ จะแยกจากโรคไซนัสอักเสบจากไวรัสค่อนข้างยาก เพราะมีน้ำมูกใสเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ภาวะภูมิแพ้มักมีอาการจามและคันจมูกร่วมด้วย และมักมีอาการเฉพาะเวลาที่ได้สัมผัสกับสิ่งที่แพ้

การรักษา

การรักษาประกอบด้วยการใช้ยา การล้างจมูกและไซนัส และการผ่าตัด

  1. การใช้ยา พบว่าสองในสามของโรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัส (ดูจากน้ำมูกที่ยังใสอยู่) ในกลุ่มนี้ยาปฏิชีวนะจึงยังไม่จำเป็น เพียงการใช้ยาบรรเทา เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาลดอาการคัดจมูก และยาที่ช่วยให้น้ำมูกไม่เหนียวข้นจนเกินไป ร่วมกับการสั่งน้ำมูกออกเสมอ ไม่สูดกลับเข้าไป ก็สามารถหายได้
  2. ยาต้านจุลชีพเป็นการรักษาหลักของโรคไซนัสอักเสบที่มีไข้และน้ำมูกเป็นหนอง ในระยะเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันเชื้อมักเป็นแบคทีเรียพวก Streptococcus pneumoniae, Haemophilus influenzae, Moraxella catarrhalis ในระยะเรื้อรังเชื้อจะมีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ยังอาจพบพวก Staphylococcus aureus, Streptococcus pyogenes, Anaerobes, และพวกเชื้อราได้ด้วย ในช่วงแรกที่ผลการเพาะเชื้อยังไม่ออกการย้อมสีดูลักษณะของเชื้อจะช่วยบอกทิศทางของยาที่ควรใช้ ในระยะเฉียบพลันอาจรับประทานเพียง 7-10 วัน ในระยะกึ่งเฉียบพลันควรทานนาน 10-14 วัน และในระยะเรื้อรังควรให้นาน 2-3 สัปดาห์ ในเด็กที่อาการหนักควรรักษาด้วยยาฉีดในโรงพยาบาล เมื่ออาการจะดีขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนเป็นยากินต่อจนครบ 10 วัน

  3. การล้างจมูกและไซนัส ในรายที่คัดจมูก น้ำมูกข้นมาก ผู้ป่วยสามารถล้างจมูกได้ด้วยตัวเองโดยใช้ลูกยางบีบน้ำเกลือพ่นล้างในจมูก ดังรูป วันละ 2-3 ครั้ง อาจใช้น้ำเกลือที่ขายตามร้านขายยา หรือผสมเองโดยใช้น้ำอุ่น 8 ออนซ์ ผสมกับเกลือ 1/4 ช้อนชา และผงฟู (baking soda, sodium bicarbonate) 1/4 ช้อนชา
  4. ในเด็กแพทย์อาจใช้เครื่องดูดเสมหะ โดยให้เด็กนอนแหงนหน้ามาก ๆ และหายใจทางปาก แล้วใส่น้ำยาล้าง (น้ำเกลือผสมยาลดการบวมของเยื่อจมูกและไซนัส)

    การล้างไซนัสโดยตรงอาจใช้กับโพรงของ Maxillary โดยแพทย์จะเจาะผนังไซนัสผ่านทางจมูก ตรงรูเปิดธรรมชาติของไซนัส แล้วใช้น้ำยาล้าง แต่โพรงอื่น ๆ ไม่อาจล้างด้วยวิธีนี้ได้

  5. การผ่าตัด ได้แก่การตัดเอาริดสีดวงจมูกออก (ถ้ามี), การใช้เครื่องมือส่องกล้องเข้าไปเปิดทางระบายเดิมของไซนัส, หรือในรายที่เป็นเรื้อรังอาจต้องอาจต้องทำการผ่าตัดเปิดทางเดินใหม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

โรคไซนัสอักเสบรักษาให้หายได้ง่าย แต่ปัญหาคือการกลับเป็นซ้ำ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่สามารถกำจัดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคออกไปได้ การกลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยบางรายเบื่อหน่ายต่อการรักษา หรืออาจเคยชินต่ออาการของโรคจนปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป ซึ่งจะมีโอกาสสูงขึ้นในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าว

การป้องกัน

การป้องกันตนเองจากโรคหวัด การแพ้อากาศและมลพิษต่าง ๆ, การหมั่นสั่งน้ำมูกออกเสมอ ไม่สูดกลับเข้าไป, การหลีกเลี่ยงการอยู่ในกลุ่มชนที่แออัด, การงดสูบบุหรี่และสารเสพติด, และการรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดีอยู่เสมอ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคไซนัสอักเสบได้