โรคซิฟิลิส (Syphilis)

ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง เกิดจากเชื้อ Treponema pallidum ซึ่งอยู่ในสายพันธุ์ของแบคทีเรียแต่ไม่สามารถเจริญนอกเซลล์ของคนได้ ทำให้ไม่สามารถหาเชื้อโดยการเพาะเชื้อได้เหมือนแบคทีเรียทั่วไป แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด darkfield เห็นเป็นรูปเป็นเกลียว ยาวประมาณ 5-15 ไมครอน

สิ่งที่แตกต่างจากแบคทีเรียทั่วไปอีกอย่างคือ หญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อนี้สามารถผ่านเชื้อนี้ไปให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ ทำให้ทารกเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดได้

อาการของโรค

อาการของโรคซิฟิลิส แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะเป็นแผลที่อวัยวะเพศ (Primary syphilis)
  2. แผลจะปรากฏหลังสัมผัสกับโรคแล้ว 2-6 สัปดาห์ ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือที่อวัยวะเพศชาย ทวารหนัก ช่องคลอด ปากมดลูก ริมฝีปาก ลิ้น ลักษณะแผลตื้น เรียบสะอาด ไม่เจ็บ ขอบยกนูนแข็ง จึงเรียกกันว่า "แผลริมแข็ง" (chancre) ส่วนใหญ่เป็นแผลเดี่ยว แผลจะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ก็จะหายไปเอง ระหว่างนี้จะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบหรือที่คอโต กดไม่เจ็บด้วย การตรวจเลือดในช่วงนี้อาจจะให้ผลลบได้

  3. ระยะออกผื่น (Secondary syphilis)
  4. ผื่นจะเกิดหลังรับเชื้อแล้วประมาณ ½ - 6 เดือน อาจเกิดขณะที่แผลริมแข็งกำลังจะหายหรือหายไปแล้ว ลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วตัวรวมทั้งที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ไม่คัน ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบาย มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดตามข้อ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่นาน 1-3 เดือนก็จะหายไปเองอีกเช่นกัน การตรวจเลือดในช่วงนี้จะให้ผลบวก

  5. ระยะแฝง (Latent syphilis)
  6. ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดใดเป็นเวลา 2-30 ปี จะทราบได้โดยการเจาะเลือดตรวจเท่านั้น หญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะนี้สามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกได้ ระยะนี้บางรายอาจจะเกิดผื่นเหมือนในระยะ Secondary syphilis ได้เป็นครั้งคราว

  7. ระยะแพร่กระจาย (Tertiary syphilis)
  8. ประมาณ 15% ของผู้ติดเชื้อจะเข้าสู่ระยะแพร่กระจายหลังไม่มีอาการใดใดมาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี จะเกิดก้อนเนื้อแข็งเรียกว่ากัมม่า (Gammas) ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเบียดทำลายอวัยวะเดิม ก้อนเนื้อนี้อาจเปื่อยและแตกเป็นแผล ทำให้เนื้อจมูกถูกทำลายจนเป็นรอยโหว่ ใบหน้าผิดรูป กระดูกหักง่าย ถ้าเกิดกับอวัยวะในช่องท้องก็จะทำให้ปวดท้องมาก ถ้าเชื้อเข้าสู่สมองจะทำให้มีอาการหลงลืม ชักกระตุก วิกลจริต อาจมีการตกเลือดในสมอง ตาบอด หูหนวก ถ้าเชื้อเข้าไปที่ไขสันหลังก็จะทำให้เป็นอัมพาต ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ ถ้าเชื้อไปอยู่ที่หัวใจก็จะทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจมีลักษณะโป่งพอง หัวใจล้มเหลว

    การตรวจเลือดในระยะนี้อาจจะให้ผลลบได้ร้อยละ 30

การวินิจฉัยโรค

ในระยะเริ่มแรกที่เป็นแผลที่อวัยวะเพศ สามารถวินิจฉัยได้โดยนำหนองจากแผลไปส่องกล้อง darkfield เพื่อหาตัวเชื้อ ในระยะออกผื่นสามารถนำเลือดไปส่องกล้อง darkfield หรือตรวจเลือดซิฟิลิส สำหรับผู้ที่มีอาการทางระบบประสาทหรืออาการอื่น ๆ หลายระบบที่ชวนให้สงสัยว่าจะเป็นโรคซิฟิลิสระยะแพร่กระจาย ควรตรวจซิฟิลิสทั้งในเลือดและในน้ำไขสันหลัง

การตรวจเลือดซิฟิลิส (Syphilis serologic tests) ประกอบด้วยการตรวจ 2 กลุ่ม คือ

  1. Non-specific treponemal test เป็นการตรวจหา reagin antibody ที่ไม่จำเพาะต่อซิฟิลิส แต่ตรวจง่าย ราคาถูก ให้ผลเชิงปริมาณ และบอกถึงโรคในระยะ active สมัยก่อนจึงนิยมใช้เป็นการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส การตรวจในกลุ่มนี้ได้แก่
    • VDRL (Venereal Diseases Research Laboratory) ใช้ cardiolipin/lecithin/cholesterol antigen จากเนื้อเยื่อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อทำปฏิกิริยากับ reagin antibody ของคนที่เคยติดเชื้อซิฟิลิส จะเกิดการแขวนตะกอน (flocculation) อ่านปฏิกิริยาด้วยกล้องจุลทรรศน์
    • RPR (Rapid Plasma Reagins) ใช้ cardiolipin suspension antigen ซึ่งมีผงถ่านเล็ก ๆ ผสมอยู่ด้วย เมื่อทำปฏิกิริยากับ reagin antibody ของคนที่เคยติดเชื้อซิฟิลิส จะมองเห็นการแขวนตะกอนได้ด้วยตาเปล่า

    หากผล VDRL หรือ RPR เป็นบวกต้องยืนยันด้วย Specific treponemal test อีกทีหนึ่ง เพราะการตรวจทั้งสองไม่จำเพาะต่อโรคซิฟิลิส อาจให้ผลบวกในโรคติดเชื้ออื่น โรคมะเร็ง โรคตับ หญิงมีครรภ์ คนสูงอายุ ฯลฯ

  2. Specific treponemal test เป็นการตรวจหาภูมิต้านทานต่อโปรตีนของเชื้อ T. pallidum ผลบวกหมายความว่าผู้นั้นเคยได้รับเชื้อซิฟิลิสมาก่อน ไม่ได้บอกถึงระยะ active ของโรค การตรวจกลุ่มนี้ได้แก่
    • TPHA (Treponema Pallidum hemagglutination assay, MHA-TP) เป็นการตรวจที่ใช้เม็ดเลือดแดงที่ถูก sensitize ด้วย T. pallidum หากพลาสมาของผู้ป่วยมี treponema antibody ก็จะเกิดการรวมตัวกันของเม็ดเลือดแดง (agglutination) ตกตะกอนที่ก้นหลุม
    • TPPA (Treponema Pallidum particle agglutination test) เป็นการตรวจที่ใช้ gelatin particle ที่ถูก sensitize ด้วย T. pallidum หากพลาสมาของผู้ป่วยมี treponema antibody ก็จะเกิดการรวมตัวกันของเจลาตินตกตะกอนที่ก้นหลุม
    • FTA-ABS (Fluorescent Treponemal Antibody Absorption Test) เป็นการตรวจที่ใช้แอนติเจนของ T. pallidum จากลูกอัณฑะของกระต่ายที่ถูกทำให้ติดเชื้อ แต่พลาสมาของผู้ป่วยจะถูกผสมกับสารดูดซับ (absorbent) เพื่อแยกแอนติบอดีที่ไม่ใช่ซิฟิลิสออกก่อน ดังนั้นเมื่อผสมกัน หากพลาสมาของผู้ป่วยมี treponema antibody ก็จะเกิดการรวมตัวกับแอนติเจน การอ่านผลต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เรืองแสง
    • การตรวจทั้งสามอย่างข้างต้นค่อนข้างยุ่งยากและราคาแพง จึงนิยมใช้เป็นตัวยืนยันผลท้ายสุด แต่ปัจจุบันมีการตรวจ Specific treponemal test ที่ราคาไม่แพงเพิ่มขึ้นอีกหลายตัว และบางสถาบันใช้ตรวจคัดกรองแทน VDRL และ RPR หากผลเป็นบวกหมายถึงเคยรับเชื้อมาก่อน จากนั้นค่อยยืนยันเชิงปริมาณและระยะ active ด้วย VDRL หรือ RPR แต่หาก VDRL หรือ RPR กลับให้ผลลบ (ค้านกัน) ก็ให้ยืนยันท้ายสุดด้วย 3 การตรวจข้างต้น การตรวจชุดใหม่นี้ได้แก่

    • CMIA (Chemiluminescent Microparticle Immunoassay)
    • EIA (Treponemal Enzyme Immunoassay)
    • Rapid test (Immunochromatography)
    • Western blot (IgG immunoblot test for T. pallidum)

    CMIA และ Rapid test ปัจจุบันใช้คัดกรองโลหิตบริจาค และผู้ที่ต้องการใบรับรองแพทย์เพื่อศึกษา ทำงาน ต่อวีซ่า ในหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย

การแปลผลตรวจเลือดซิฟิลิสดูได้ ที่นี่

การรักษา

โรคซิฟิลิสในระยะแรกรักษาได้ง่ายกว่าที่คิด ข้อสำคัญคือต้องแจ้งแก่คู่นอนให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจและรักษาด้วย

  • ระยะที่เป็นแผล, ระยะออกผื่น, และระยะแฝงภายใน 1 ปี สามารถรักษาได้ด้วย Benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต ฉีดเข้ากล้าม ครั้งเดียว
  • กรณีแพ้ยา Penicillin อาจใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งดังต่อไปนี้

    • Doxycycline 100 mg กินวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
    • Tetracycline 500 mg กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
    • Azithromycin 2 gm กินครั้งเดียว
    • Ceftriaxone 1-2 gm ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ วันละครั้ง นาน 10-14 วัน
    • Erythromycin 500 mg กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน

  • ระยะแฝงที่นานกว่า 1 ปี (หรือไม่ทราบว่าได้รับเชื้อมานานเท่าไร) และระยะแพร่กระจายให้ฉีด Benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 3 สัปดาห์
  • กรณีแพ้ยา Penicillin อาจใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งดังต่อไปนี้

    • Doxycycline 100 mg กินวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 28 วัน
    • Tetracycline 500 mg กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 28 วัน

  • ถ้าเป็นซิฟิลิสของระบบประสาทให้ใช้ Penicillin G 18-24 ล้านยูนิต/วัน หยดเข้าหลอดเลือดดำ โดยแบ่งหยด 3-4 ล้านยูนิต ทุก 4 ชั่วโมง นาน 10-14 วัน
  • กรณีแพ้ยา Penicillin ให้ใช้ Ceftriaxone 2 g ฉีดเข้า หลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วันละครั้ง นาน 10-14 วัน (Ceftriaxone มีโอกาส cross reaction กับผู้ที่แพ้ penicillinได้ 10%)

ซิฟิลิสในหญิงมีครรภ์ที่แพ้ Penicillin ศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกาแนะนำให้ทำ Penicillin desensitized ก่อน แล้วรักษาด้วย Penicillin เช่นเดียวกับข้างบน

หลังจากรักษาครบแล้วให้ติดตามระดับ VDRL ในเลือดทุก 1-3 เดือน จนกว่าจะเป็นลบ และแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้วก็ยังสามารถติดใหม่ได้อีก

การป้องกัน

เช่นเดียวกับกามโรคทั่วไป โรคซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ การเลี่ยงการเที่ยวหญิงบริการ, การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์, การเลี่ยงการดื่มสุราเพราะจะทำให้ขาดสติ, การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน, และการพบแพทย์เสมอเมื่อสงสัยตนเองอาจติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ลงได้