โรคฝีที่รังไข่ (Tubo-ovarian abscess)

โรคฝีที่รังไข่แท้จริงเป็นภาวะที่ธรรมชาติของร่างกายพยายามควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามเมื่อเกิดหนองในอุ้งเชิงกรานขึ้นแล้ว(ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง) โดยเนื้อเยื่อรอบ ๆ อุ้งเชิงกรานจะทำการห่อหุ้มหนองไว้รวมกัน เพื่อจำกัดขอบเขตของหนองเอาไว้ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปไกล จึงเกิดเป็นฝีเฉพาะที่ขึ้น ฝีที่เกิดขึ้นนี้อาจห่อหุ้มเอาอวัยวะเล็ก ๆ บางส่วน เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ และปีกมดลูกเข้ามาด้วย ทำให้มีลักษณะเป็นก้อนที่กดเจ็บ และคลำได้จากหน้าท้อง ส่วนมากจะเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของมดลูก

บางตำราจัดโรคฝีที่รังไข่เป็นส่วนหนึ่งของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ เพราะสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการลุกลามของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ แต่ในที่นี้ขอกล่าวไว้แยกกันเพราะฝีที่รังไข่ยังสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น การใส่ห่วงคุมกำเนิด การผ่าตัดช่องท้องที่มีการติดเชื้อ การกระตุ้นรังไข่หรือเก็บไข่ (ในสตรีที่มีบุตรยาก) การติดเชื้อของถุงน้ำที่รังไข่ การแตกของลำไส้หรือไส้ติ่ง เป็นต้น

อาการของโรค

ร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยโรคฝีที่รังไข่มีอาการสำคัญ 3 อย่าง คือ มีไข้ ปวดท้องน้อย และคลำได้ก้อนตรงตำแหน่งที่เจ็บ หากสาเหตุเกิดจากโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบก็จะมีอาการของโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนตามลำดับ เช่น ตกขาวสีเหลืองมีกลิ่นเหม็น เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น หากอาการนำได้รับการรักษามาบางส่วนไข้จะหายไประยะหนึ่ง แล้วกลับมาเป็นอีก คราวนี้ไข้จะไม่สูงมาก และขึ้น ๆ ลง ๆ อาการปวดท้องก็ไม่รุนแรงเท่าตอนเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบใหม่ ๆ ก้อนในท้องน้อยจะอยู่ลึก กว่าจะคลำพบได้เองอาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์

หากมีสาเหตุมาจากอย่างอื่น ประวัติที่ผู้ป่วยให้อย่างชัดเจนจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น หรือบางครั้งก็อาจหาสาเหตุตั้งต้นในครั้งแรกไม่ได้เลย

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคฝีที่รังไข่คือการแตกของฝี ซึ่งถ้าเกิดขึ้นอาการปวดท้องจะรุนแรงขึ้นมาก โดยจะปวดทั่วไปหมดแบบเดียวกับอาการของเยื่อบุช่องท้องอักเสบทุติยภูมิ ไข้จะสูง และมีโอกาสช็อกจากเชื้อแพร่เข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย

การวินิจฉัยโรค

โรคฝีที่รังไข่ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะท้องนอกมดลูก ฝีของไส้ติ่ง (ถ้าก้อนอยู่ทางขวา) และภาวะบิดตัวของถุงน้ำที่รังไข่ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยการเล่าประวัติตั้งแต่แรกที่ชัดเจน การตรวจร่างกาย และการตรวจภายใน ส่วนการตรวจเลือด ปัสสาวะ และอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ MRI ของอุ้งเชิงกราน จะช่วยสนับสนุน บางรายอาจต้องใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปดูในอุ้งเชิงกรานด้วย

ในรายที่ฝีแตกไปแล้ว การวินิจฉัยส่วนใหญ่จะทราบในขณะผ่าตัดเข้าไปแก้ไขภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบทุติยภูมิ

การรักษา

โรคฝีที่รังไข่รักษาด้วยการผ่าตัดและการให้ยาปฏิชีวนะควบคู่ไปด้วยกัน ภายหลังการผ่าตัดซึ่งมักจำเป็นต้องตัดรังไข่และท่อนำไข่ทิ้งไปข้างหนึ่งจะทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา