โรคท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis)

โรคนี้เกิดจากเชื้อ Toxoplasma gondii เป็นสาเหตุของการติดเชื้อชนิดแฝง (latent) ในคนที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเป็นกลุ่มเสี่ยงที่โรคนี้จะสำแดงอาการ ซึ่งสามารถทำให้เกิดความพิการที่รุนแรงตามมา

T. gondii เป็นโปรโตซัวที่มีชีวิตอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต พบบ่อยในเซลล์สมอง หัวใจ และกล้ามเนื้อ ซิสต์ที่เป็นระยะติดต่อที่สำคัญจะออกมากับอุจจาระของแมว ซึ่งเป็นโฮสต์เฉพาะตามธรรมชาติ เมื่อคนและสัตว์ชนิดอื่นบังเอิญกินซิสต์นี้เข้าไป เชื้อจะไชผ่านผนังของลำไส้ และกระจายไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ คนอาจติดเชื้อนี้ได้อีกทางหนึ่งจากการกินเนื้อดิบ ๆ ของสัตว์ที่ติดเชื้อนี้

พยาธิสภาพ

เชื้อจะค่อย ๆ กระจายไปทั่วร่างกายทางกระแสโลหิต และทางหลอดน้ำเหลือง เมื่อเข้าไปอยู่ในเซลล์ การเจริญแบ่งตัวของเชื้อจะทำให้เซลล์ของโฮ้สต์แตก เกิดจุดตายและเน่า ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันปกติ การทำลายนี้จะหยุดได้ด้วยภูมิคุ้มกันชนิดอาศัยเซลล์ (cellular immunity) แต่ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันชนิดอาศัยเซลล์บกพร่อง เชื้อมักจะลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ปอด และหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรม

อาการของโรค

เริ่มจากอาการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่คอ หรือต่อมน้ำเหลืองใต้คาง ต่อมน้ำเหลืองจะโต แข็ง อาจกดเจ็บ แต่ไม่มีหนอง มักโตเพียงต่อมเดียว ระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ มีผื่นแดงเป็นจุดเล็ก ๆ ตามร่างกาย ในคนที่ภูมิคุ้มกันปกติ อาการเหล่านี้มักหายไปได้เอง แต่ในรายที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่นานเป็นเดือน ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะทำลายอวัยวะของเชื้อ

หากเชื้อเข้าสู่สมอง จะทำให้เซลล์สมองเน่าตายเป็นจุด ๆ แต่ละจุดอาจกว้างถึงหลายเซนติเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการชักเฉพาะที่ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว หรืออาจซึมไม่ค่อยรู้สึกตัวจากการที่สมองบวมมาก

ถ้าเชื้อเข้าสู่ลูกตา จะเกิดจอตาอักเสบ เสียการรับภาพเป็นจุด ๆ จนเมื่อจุดเหล่านั้นขยายมารวมกัน ความสามารถในการมองเห็นจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนตาบอดสนิท

เชื้ออาจก่อโรคที่อวัยวะอื่น ๆ อีก เช่น อวัยวะในช่องท้อง ปอด และหัวใจ แต่พบได้น้อยกว่าที่สมองและที่ตา

การวินิจฉัย

ในระยะแรก การตัดต่อมน้ำเหลืองมาตรวจทางพยาธิวิทยาดูจะง่ายที่สุด ถ้าต่อมน้ำเหลืองยุบไปหมดและเชื้อเข้าสู่อวัยวะภายในแล้ว การวินิจฉัยจำเป็นต้องใช้ชิ้นเนื้อจากอวัยวะนั้น หรืออาจตรวจทางซีโรโลยี่หาแอนติบอดี้ย์ในเลือดด้วยวิธี IFA ซึ่งในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจยากที่จะให้ผลบวก เพราะการตอบสนองของแอนติบอดีย์ถูกกด หรืออาจหาแอนติเจ้นในเลือดโดยวิธี ELISA แทน

การรักษา

พบว่าเชื้อตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยา แต่อาจมีความพิการทางสมองและสายตาเหลืออยู่หากเชื้อกินอวัยวะเป็นบริเวณกว้าง กลุ่มยารักษาโรคท็อกโซพลาสโมสิสที่ได้ผลดีที่สุดคือกลุ่ม Antifolates สูตรยาที่ใช้จะเป็นสูตรผสม ดังนี้

  • ทางเลือกแรก
    • น้ำหนัก < 60 kg: Pyrimethamine รับประทานวันแรก 100 mg วันถัดไป 50 mg วันละครั้ง + Sulfadiazine รับประทาน 1 g ทุก 6 ชั่วโมง + Leucoverin รับประทาน 20 mg วันละครั้ง นาน 6 สัปดาห์
    • น้ำหนัก < 60 kg: Pyrimethamine รับประทานวันแรก 200 mg วันถัดไป 75 mg วันละครั้ง + Sulfadiazine รับประทาน 1.5 g ทุก 6 ชั่วโมง นาน 6 สัปดาห์
  • ทางเลือกที่สอง Pyrimethamine รับประทานวันแรก 100 mg วันถัดไป 50 mg วันละครั้ง + Clindamycin รับประทาน 300 mg ทุก 6 ชั่วโมง + Leucoverin รับประทาน 20 mg วันละครั้ง นาน 6 สัปดาห์
  • ทางเลือกที่สาม Pyrimethamine รับประทานวันแรก 100 mg วันถัดไป 50 mg วันละครั้ง + Azithromycin รับประทาน 500 mg วันละครั้ง + Leucoverin รับประทาน 20 mg วันละครั้ง นาน 6 สัปดาห์
  • ทางเลือกที่สี่ Pyrimethamine รับประทานวันแรก 100 mg วันถัดไป 50 mg วันละครั้ง + Atovaquone รับประทาน 750 mg เช้า-เย็น + Leucoverin รับประทาน 20 mg วันละครั้ง นาน 6 สัปดาห์

หากมีภาวะสมองบวมมากแพทย์มักจะให้ยาลดอาการสมองบวมด้วย

หลังรักษาหายแล้วแต่ผู้ป่วยยังมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ เช่นเป็นโรคเอดส์ เชื้ออาจกลับมาใหม่ ควรป้องกันด้วย Sulfadiazine 500 mg ทุก 6 ชม. + Pyrimethamine 25 mg วันละครั้ง + Leucovorin 10 mg วันละครั้ง ตลอดไป

การป้องกัน

หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ และเคร่งครัดในสุขอนามัยของการรับประทานอาหารเป็นสองวิธีที่ป้องกันการรับเชื้อนี้ได้อย่างดีที่สุด การรักษาตัวให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงอยู่เสมอก็เป็นวิธีป้องกันการลุกลามของเชื้อกรณีที่บังเอิญได้รับเชื้อเข้าไปโดยไม่รู้ตัว