โรคริดสีดวงตา (Trachoma)

โรคริดสีดวงตาเป็นโรคตาอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อตระกูลคลามีเดีย ชื่อทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งเป็นจุลชีพกึ่งไวรัสกึ่งแบคทีเรีย คนเป็นแหล่งเก็บเชื้อทราโคมาติสที่สำคัญ นอกจากโรคริดสีดวงตาแล้ว เชื้อตัวนี้ยังทำให้เกิดโรคหนองในเทียมและโรคฝีมะม่วงอีกด้วย

โรคริดสีดวงตาติดต่อง่ายโดยการสัมผัส เช่น ใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้ป่วย ว่ายน้ำในแหล่งน้ำเดียวกับผู้ติดเชื้อ หรือเกิดจากแมลงที่มาตอมตาผู้ป่วยนำเชื้อไปสู่อีกคนหนึ่ง จึงมักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวหรือชุมชนเดียวกัน ในประเทศไทยพบมากทางภาคอีสาน และในแหล่งที่แห้งแล้ง มีฝุ่นมาก มีแมลงหวี่ แมลงวันชุกชุม

แม้โรคริดสีดวงตาจะเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการทางตาหลังคลอด แต่โรคนี้ก็ไม่ได้มีอาการรุนแรงทุกคน บางคนเป็นแล้ว อาจหายได้เองในระยะแรก ๆ ส่วนคนที่มีภาวะแทรกซ้อนมักเป็นการติดเชื้อซ้ำบ่อย ๆ ประกอบกับมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ แบคทีเรียซ้ำเติม ขาดอาหาร ขาดวิตามิน เป็นต้น

อาการของโรค

อาการของโรคริดสีดวงตาแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

  1. ระยะเยื่อบุตาอักเสบ หลังได้รับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มมีอาการเคืองตา คันตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย อาจมีขี้ตา มักเป็นที่ตาทั้งสองข้าง อาการจะคล้ายกับเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้ออื่น ๆ จนบางครั้งแยกกันไม่ออก ระยะนี้ถึงแม้ไม่ได้รักษาบางคนก็หายเองได้ แต่บางคนก็มีอาการเรื้อรังนาน 1-2 เดือน และเข้าสู่ระยะที่ 2
  2. ระยะเป็นริดสีดวง ระยะนี้อาการต่าง ๆ จะลดลงกว่าระยะแรก เมื่อพลิกหนังตาบนดูจะเห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ ออกสีเหลือง ๆ ที่ด้านในของหนังตาบน และพบมีแผ่นเยื่อบาง ๆ สีเทา ที่ส่วนบนสุดของตาดำ มีเส้นเลือดฝอยวิ่งเข้าไปในตาดำ แผ่นเยื่อสีเทาซึ่งมีเส้นเลือดฝอยอยู่ด้วยนี้เรียกว่า "แพนนัส" (pannus) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ต่างจากโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภาวะภูมิแพ้โดยทั่วไปซึ่งอาจมีตุ่มเล็ก ๆ ที่เปลือกตาด้านใน แต่จะไม่มีแพนนัสที่ตาดำ ระยะที่สองนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือน ๆ หรือปี ๆ การรักษาต้องเริ่มทำในระยะนี้
  3. ระยะเป็นแผลเป็น ระยะนี้ผู้ป่วยจะแทบไม่มีอาการเลย ตุ่มเล็ก ๆ ที่เปลือกตาบนด้านในจะยุบหายไป แต่จะมีพังผืดมาแทนที่ กลายเป็นแผลเป็น ส่วนแพนนัสที่ตาดำยังคงปรากฏให้เห็น แผลเป็นเกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวเหี่ยวย่น เซลล์สร้างเมือกตายไปเป็นจำนวนมาก และถูก แทนที่โดยสารคอลลาเจน ระยะแผลเป็นนี้อาจกินเวลาเป็นปี ๆ เช่นกัน การใช้ยารักษาในระยะนี้ไม่ค่อยได้ผล
  4. ระยะแทรกซ้อน ระยะนี้โรคจะหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่จะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นคือ แผลเป็นที่เปลือกตาจะทำให้ขนตาม้วนเข้าไปตำถูกตาดำตลอดเวลา เกิดเป็นแผลเรื้อรังที่กระจกตา ทำให้สายตามืดมัว และแผลเป็นอาจอุดกั้นท่อน้ำตาทำให้น้ำตาไหลตลอดเวลา หรืออาจทำให้ต่อมน้ำตาไม่ทำงานทำให้ตาแห้ง หรือบางราย ถ้ามีเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมจะทำให้ตาดำเป็นแผลมากขึ้นจนในที่สุดตาบอดได้

การวินิจฉัยโรค

เนื่องจากอาการของโรคริดสีดวงตาในระยะแรกคล้ายกับอาการของเยื่อบุตาอักเสบจากสาเหตุอื่นทั่วไปมาก การวินิจฉัยในระยะนี้อาจยังทำไม่ได้ แต่ควรสงสัยว่าเป็นอาจริดสีดวงตาเมื่อมีการอักเสบเรื้อรังเป็นเดือน ๆ และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม

โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากการตรวจพบอย่างน้อย 2 ใน 4 ลักษณะนี้ตั้งแต่ระยะเป็นริดสีดวงเป็นต้นไป

  1. มีตุ่มสีเหลืองที่เปลือกตาบนด้านใน
  2. มีรอยแผลเป็นระหว่างตุ่มในข้อ 1
  3. มีตุ่มเล็ก ๆ ที่ขอบบนของตาดำ
  4. มีหลอดเลือดจากตาขาวเข้ามาสู่ตาดำ (กระจกตา)

การส่งน้ำจากเยื่อบุตาเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการก็ทำได้หลายวิธี แต่แต่ละวิธีมีความซับซ้อน กินเวลา และมีค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งยังมีผลลบลวงสูงโดยเฉพาะในรายที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตามาก่อน อาทิ

  • ทางซีโรโลยี่ เช่น nucleic acid amplification tests (NAATs), direct fluorescein-labeled monoclonal antibody (DFA) และ enzyme immunoassay (EIA)
  • การเพาะเลี้ยงเชื้อคลาไมเดียในเซลล์
  • การตรวจดู intracytoplasmic inclusions จาก Giemsa cytology

การรักษา

โรคริดสีดวงตาในระยะที่ 1 และ 2 รักษาได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย แต่ในระยะที่ 3 และ 4 เป็นระยะที่การติดเชื้อเบาบางลงแล้ว การใช้ยาปฏิชีวนะในระยะนี้จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์ และไม่สามารถลดการดำเนินไปของแผลเป็นได้และภาวะแทรกซ้อนได้

ยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้คือ Tetracycline หรือ Erythromycin ขนาด 1.5–2 กรัมต่อวัน รับประทานนาน 3 สัปดาห์ หรือรับประทานยา Azithromycin ขนาด 1 กรัม เพียงครั้งเดียว (ในเด็กขนาด 20 มก./กก.) และใช้ Tetracycline ที่เป็นยาขี้ผึ้งป้ายตาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน ที่สำคัญควรรักษาผู้ป่วยที่มีอยู่ในบ้านพร้อมกันทุกคน

ถ้าเปลือกตาเป็นแผลเป็นไปแล้วอาจต้องผ่าตัดแก้ไขเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง แต่ถ้าเป็นแผลเป็นที่กระจกตาแล้วอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

การป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคริดสีดวงตา ดังนั้นวิธีป้องกันโรคริดสีดวงตา คือ

  • รักษาความสะอาดของใบหน้าเสมอ ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นฝุ่นละออง เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงตอมตา ซึ่งเป็นทางติดต่อและแพร่กระจายโรคได้ทางหนึ่ง
  • กำจัดแมลงวัน โดยการกำจัดขยะให้ถูกวิธี และไม่ทิ้งขยะใกล้บ้าน
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่ตาแดง