ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)

ไข้ไทฟอยด์นี้บางครั้งมีผู้เรียกว่า ไข้รากสาดน้อย หรือ ไข้เอ็นเทอริก มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียกรัมลบที่ชื่อ Salmonella typhi โรคที่มีพยาธิสภาพและอาการเหมือนไข้ไทฟอยด์แต่รุนแรงน้อยกว่าคือไข้พาราไทฟอยด์ เกิดจากเชื้อ Salmonella paratyphi โดยทั่วไปเราจะเรียกรวมกันว่าเป็นไข้ไทฟอยด์จนกว่าจะระบุได้ว่าเป็นโรคไหนจากผลการเพาะเชื้อ สำหรับเชื้อซัลโมเนลล่าตัวอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการท้องเดินแบบอาหารเป็นพิษ จะไม่ขอกล่าวถึงในหน้านี้

พยาธิสภาพ

เชื้อซัลโมเนลล่าจะออกมากับอุจจาระและปัสสาวะของผู้ที่เป็นโรค ติดต่อเข้าสู่ร่างกายอีกคนหนึ่งโดยการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ เมื่อเข้าไปถึงลำไส้เล็ก เชื้อจะเข้าสู่ทางเดินน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง เชื้อส่วนหนึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือด ไปที่ตับ ม้าม ถุงน้ำดี ไต และไขกระดูก ถ้าเพาะเชื้อในเลือดในช่วงสัปดาห์แรกที่มีไข้มักจะให้ผลบวก เชื้อซัลโมเนลล่าจากถุงน้ำดีจะไหลไปกับน้ำดีกลับเข้าสู่ลำไส้เล็กอีกครั้ง ขบวนการนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่ผนังลำไส้เล็กส่วนปลายในสัปดาห์ที่ 2-3 ของไข้ เกิดเป็นแผลที่มีลักษณะเฉพาะของไข้ไทฟอยด์ คือเป็นรูปไข่ตามแนวขวางของลำไส้เล็กส่วนปลาย ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติและไม่มีภาวะแทรกซ้อน เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 แผลเหล่านื้จะหายไปโดยไม่มีแผลเป็น

อาการของโรค

ไข้ไทฟอยด์มักพบในคนอายุ 10-30 ปี อาการเริ่มเกิดหลังรับเชื้อเข้าไปประมาณ 2 สัปดาห์ อาการแสดงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  1. ประเภทจำเพาะของไข้ไทฟอยด์ (Classical typhoid fever)
  2. ไข้จะค่อย ๆ เริ่มอย่างช้า ๆ ในสัปดาห์แรกไข้มักไม่สูง ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ซึมลง บางรายอาจเพ้อ ในปลายสัปดาห์แรกอาจมีจุดแดงตามตัวที่เรียกว่า rose spot ซึ่งเกิดจากการจับกลุ่มกันของเชื้อในหลอดเลือดฝอย

    เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สองไข้จะสูงลอย หน้าไม่แดง แต่ซึมมาก เหมือนป่วยมานาน ชีพจรเต้นช้าเมื่อเทียบกับไข้ที่สูงลอย ตับจะโตก่อนม้าม บางรายมีตาเหลืองด้วย

    ในสัปดาห์ที่สามไข้ยังคงสูง แต่เปลี่ยนเป็นขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ได้สูงลอยเหมือนในสัปดาห์ที่สอง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ตั้งแต่สัปดาห์ที่สี่เป็นต้นไป ไข้จะค่อย ๆ ลดและหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา

  3. ประเภทโลหิตเป็นพิษ (Septicemia)
  4. ผู้ป่วยที่เป็นไข้ไทฟอยด์กลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงมาก มีไข้สูงทันที หนาวสั่น ความดันโลหิตลดลงภายในเวลา 2-3 วัน หากรักษาไม่ทันจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

  5. ประเภทติดเชื้อเฉพาะที่ (Focal infection)
  6. ผู้ป่วยที่เป็นไข้ไทฟอยด์กลุ่มนี้จะมีไข้ร่วมกับอาการอักเสบของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น ข้ออักเสบ กรวยไตอักเสบ ฝีในตับ เป็นต้น โดยไม่มีอาการของระบบอื่น

ผู้ป่วยไข้ไทฟอยด์อาจมีไข้กลับเป็นซ้ำได้ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากหายไข้

ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งจะไม่แสดงอาการอะไรเลย แต่จะปล่อยเชื้อซัลโมเนลล่าออกมาทางอุจจาระ พวกนี้ถือว่าเป็นพาหะ

ภาวะแทรกซ้อน

ไข้ไทฟอยด์เป็นโรคที่มีภาวะแทรกซ้อนมากมาย ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ที่พบได้บ่อยได้แก่

  • ปอดอักเสบ ลักษณะจะเป็นทั้งกลีบ บางรายกลายเป็นฝีในปอด หรือมีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • ตับอักเสบ ทำให้มีอาการเหลือง พบได้บ่อย แต่มักไม่รุนแรง
  • เลือดออกในลำไส้ แผลที่เกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลายในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 อาจมีการหลุดลอกออก ทำให้ถ่ายเป็นเลือด
  • ลำไส้ทะลุ แผลที่ลำไส้เล็กส่วนปลายถ้าลึกมากก็อาจทะลุ ทำให้เกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดท้องมาก โดยเฉพาะเวลาขยับตัวหรือแม้กระทั่งหายใจ ผนังหน้าท้องจะแข็งเกร็งต้านการกระเพื่อมของท้องเวลาเคลื่อนไหว
  • ถุงน้ำดีอักเสบ มักพบในรายที่เป็นพาหะของเชื้อซัลโมเนลล่ามากกว่าในรายที่กำลังเป็นไข้ไทฟอยด์อยู่
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก พบเฉพาะในผู้ป่วยที่พร่องเอ็นไซม์ G6PD ทำให้ซีดลงอย่างรวดเร็วและมีปัสสาวะเป็นสีดำ
  • ภาวะ DIC เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของไข้ไทฟอยด์ประเภทโลหิตเป็นพิษ จำนวนเกร็ดเลือดจะลดลง ระบบการแข็งตัวของเลือดจะเสียไป ทำให้เกิดเลือดออกภายในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ไตอักเสบแบบเนโฟรสิส ทำให้สูญเสียของอัลบูมินในเลือดออกมาในปัสสาวะ ผู้ป่วยจะบวม
  • ภาวะสับสนคล้ายโรคจิต พบได้บ่อยพอสมควร อาการจะหายไปเมื่อไข้ลด
  • ที่พบน้อยเช่น ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัย

การจะวินิจฉัยโรคว่าเป็นไข้ไทฟอยด์อย่างแน่ชัดต้องเพาะเชื้อซัลโมเนลล่าขึ้นจากเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ ไขกระดูก หรือน้ำดี ซึ่งมักเพาะขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ของไข้ การตรวจ Widal ซีโรโลยี่ จะใช้วินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อมี titer เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อตรวจซ้ำอีก 7-10 วันถัดมา การตรวจ Widal เพียงครั้งเดียวไม่สามารถใช้ในการวินิจฉัยไข้ไทฟอยด์ได้ เว้นแต่อาการของผู้ป่วยเป็นประเภทจำเพาะของไข้ไทฟอยด์ บวกกับ O titer > 1:80 และ H titer > 1:400

จำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดของไข้ไทฟอยด์มักต่ำ และมี relatively lymphocytosis ยกเว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน

การรักษา

ปัจจุบันเชื้อซัลโมเนลล่ามีการดื้อยาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยาปฎิชีวนะที่ใช้รักษาไข้ไทฟอยด์ควรเป็นกลุ่มของควิโนโลน (Quinolone) หรือเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) และต้องให้ยานาน 1-2 สัปดาห์

หากมีภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรม เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ลำไส้ทะลุ ต้องได้รับการผ่าตัด

ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อซัลโมเนลล่าก็ควรทานยารักษาเช่นเดียวกัน

การป้องกัน

โชคดีที่มีวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน ซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์ต่อเชื้อ S. paratyphi B ได้ด้วย

ผู้ประกอบอาชีพทำอาหารควรรับการตรวจและเพาะเชื้อในอุจจาระอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าเป็นพาหะของโรคติดเชื้อชนิดใด ต้องหยุดทำงานจนกว่าจะรักษาหายจากการเป็นพาหะของโรค