โรคหนองในเทียม (Nonspecific urethritis)

โรคหนองในเทียมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง เกิดจากเชื้อ Chlamydia trachomatis เป็นแบคทีเรียกรัมลบชั้นต่ำที่ไม่สามารถสังเคราะห์สาร ATP ขึ้นเองได้ จึงต้องอาศัยอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นจึงจะเติบโตได้ ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม ฝีมะม่วง และโรคริดสีดวงตา ซึ่งทั้งสามโรคมักก่อให้เกิดการทำลายของอวัยวะที่ติดเชื้ออย่างถาวรในระยะยาว

อาการของโรค

โรคหนองในเทียมมักไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการแต่น้อย ทำให้ผู้ป่วยไม่รีบเร่งที่จะไปรักษา ในรายที่มีอาการจะปรากฏภายใน 1-3 สัปดาห์หลังมีเพศสัมพันธ์ ในผู้ชายจะปัสสาวะแสบขัด มีของเหลวไหลจากท่อปัสสาวะ รู้สึกแสบหรือคันบริเวณอวัยวะเพศ อาจพบอาการปวด บวมที่บริเวณลูกอัณฑะได้แต่ไม่บ่อย ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและติดเชื้อก็จะมีน้ำหรือเลือดออกจากทวารหนัก และปวดบริเวณทวารหนัก ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปากก็อาจมีการติดเชื้อในลำคอ ก่อให้อาการเจ็บคอเรื้อรัง

ในผู้หญิงจะทำให้เกิดโรคทั้งที่ปากมดลูกและที่ท่อปัสสาวะ อาการจึงมีทั้งตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบประจำเดือน และปัสสาวะแสบขัด แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการเพียงเล็กน้อย กรณีที่เป็นมากจะปวดท้องน้อย ปวดหลัง คลื่นไส้ มีไข้ และปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ ในสตรีที่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหนองในเทียมแล้วไม่ได้รักษา อาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ดวงตาและปอดตั้งแต่แรกคลอดอีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในเทียมพบได้บ่อย ในเพศชายคือลูกอัณฑะอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก และกลุ่มอาการของไรเตอร์ (Reiter's syndrome) คือมีการอักเสบเรื้อรังของดวงตา ข้อต่อ และท่อปัสสาวะ ทำให้อวัยวะเหล่านี้ถูกทำลายไปอย่างช้า ๆ ในเพศหญิงคือโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากและการท้องนอกมดลูก

การวินิจฉัยโรค

เนื่องจากเชื้อคลาไมเดียไม่สามารถเพาะขึ้นได้นอกร่างกาย การวินิจฉัยโรคหนองในเทียมโดยตรงจึงทำได้ยาก การตรวจ NAAT สามารถระบุเชื้อคลาไมเดียได้แต่ก็มีราคาแพงมาก ในทางปฏิบัติ โรคหนองในเทียมวินิจฉัยจากอาการที่คล้ายโรคหนองในแต่อ่อนกว่าหรือเป็นมานาน ประกอบกับการตรวจของเหลวที่ออกจากอวัยวะเพศไม่พบเชื้อโกโนเรียและเชื้อกามโรคอื่น ๆ เนื่องจากใช้การตัดโรคติดเชื้ออื่น ๆ ทิ้ง ในภาษาอังกฤษจึงเรียกโรคหนองในเทียมนี้ว่า "Nonspecific urethritis" หรือ "Non-gonococcal urethritis"

มีการพัฒนาการตรวจทางซีโรโลยี่อื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยโรคหนองในเทียม แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน

การรักษา

โรคหนองในเทียมรักษาได้ไม่ยาก โดยการใช้ยาปฏิชีวนะรับประทานทั้งตัวผู้ป่วยและคู่นอน งดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 สัปดาห์ และควรเข้ารับการตรวจซ้ำอีก 3 เดือนหลังการรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าหายขาดจริง ๆ

การป้องกัน

วิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการป้องกันโรคหนองในเทียม คือ งดมีเพศสัมพันธ์ หากทำไม่ได้ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ มีคู่นอนคนเดียว และไปตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ

เด็กแรกคลอดในโรงพยาบาลจะได้รับการหยอดตาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อโกโนเรียและเชื้อคลาไมเดียขณะผ่านช่องคลอดของมารดาทุกราย