โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)

โรคไวรัสตับอักเสบถือเป็นโรคประจำถิ่นของไทย อุบัติการณ์ของโรคสูงกว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2.5 เท่า และเป็นโรคที่กำลังเป็นปัญหาในทางการรักษา เพราะยังไม่มียาฆ่าไวรัสตับอักเสบได้โดยตรง ทำให้จำนวนของผู้ป่วยที่เป็นพาหะและผู้ป่วยที่เข้าสู่ภาวะเรื้อรังสะสมตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ องค์การอนามัยโลกประมาณว่ามีผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบที่พร้อมจะแพร่เชื้อได้ในปัจจุบันประมาณ 350 ล้านคนทั่วโลก

ไวรัสตับอักเสบมีโครงสร้างที่แตกต่างกันหลายชนิด ที่ค้นพบลักษณะการติดโรคและการดำเนินของโรคอย่างชัดเจนแล้วมี 5 ชนิด คือ ชนิดเอ บี ซี ดี และ อี

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A)

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ ทำให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลันเท่านั้น ติดต่อโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก (เชื้อจะปะปนมาในอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด) ผู้ที่รับเชื้อส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการอะไร ทำให้เชื้อกระจายต่อไปได้อีกอย่างเงียบ ๆ ผู้ที่มีอาการจะเริ่มแสดงอาการหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วนานประมาณ 1 เดือน อาการแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะไข้: ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตามร่างกายเล็กน้อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืด จุกเสียด อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตัวเองป่วยในระยะนี้ จนเข้าสู่ระยะเหลืองจึงไปพบแพทย์
  2. ระยะเหลือง: ระยะนี้ไข้จะลดลงแล้ว แต่อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารยังคงมีอยู่ ผู้ป่วยจะเริ่มสังเกตเห็นว่าปัสสาวะของตนมีสีเข้มขึ้น และเป็นฟอง จากนั้นจะเริ่มแลเห็นว่าตาขาวมีสีเหลือง ผิวหนังก็จะมีสีเหลืองมากขึ้น ในคนผิวคล้ำจะเห็นเป็นสีเหลืองอมเขียว บางรายมีตับโตจนคลำได้ชัด ถ้าตรวจเลือดดูการทำงานของตับ จะพบเอ็นไซม์ของตับสูงขึ้นอย่างมาก โดย SGPT (ALT) สูงกว่า SGOT (AST) อาการเหลืองนี้จะเป็นอยู่นาน 1-4 สัปดาห์
  3. ระยะฟื้นตัว: ระยะนี้ผู้ป่วยจะยังคงเหลืองอยู่ แต่อาการต่าง ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ รู้สึกสบาย กินอาหารได้มากขึ้น ทำงานเบา ๆ ได้ อาการจะหายเป็นปกติในเวลา 1-3 เดือน

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ทำได้โดยการตรวจหา Anti-HAV IgM ในซีรั่ม ซึ่งจะเริ่มตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนจะมีอาการ ระดับจะขึ้นสูงสุดในปลายสัปดาห์ที่ 2-3 ของโรค (ระยะเหลืองเต็มที่) หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดระดับลง

การรักษาไวรัสตับอักเสบแบบเฉียบพลันทุกชนิด คือ การพักผ่อน รับประทานอาหารอ่อนที่มีไขมันและโปรตีนน้อย มีแป้งและน้ำตาลมาก งดสุรายาดอง

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ชนิดฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน ได้ผลค่อนข้างดี และหวังว่าในอนาคต อุบัติการณ์ของโรคนี้จะค่อย ๆ หมดไป

โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B)

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี ทำให้เกิดตับอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเชื้อจะอยู่ในเลือด น้ำลาย ปัสสาวะ อสุจิ เมือกในช่องคลอด น้ำตา น้ำดี และน้ำนม ติดต่อผ่านทางการรับเลือด การมีเพศสัมพันธุ์ และจากมารดาสู่ทารก (วิธีติดต่อคล้ายกับโรคเอดส์) ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการอะไร รายที่มีอาการจะเริ่มแสดงหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วนาน 50-180 วัน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จำไม่ได้ว่าไปรับเชื้อมาจากที่ใด อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ บี แบบเฉียบพลันจะเหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบ เอ แต่มีความรุนแรงกว่า บางรายถึงขั้นตับวายและเสียชีวิตภายในเวลา 1-2 สัปดาห์

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ บี ในระยะเฉียบพลันอาศัยการตรวจพบเอ็นไซม์ของตับสูงขึ้นมากร่วมกับพบ HBsAg ในเลือด และหายไปในอีก 3-4 เดือน ช่วงที่ HBsAg เริ่มหายไปจะตรวจพบ Anti-HBc และ Anti-HBe แล้วถึงจะตรวจพบ Anti-HBs หลังจากนั้นอีก 1-2 เดือน

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรังแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 รูปแบบคือ

  1. พาหะเรื้อรังของไวรัสตับอักเสบ บี: เจ้าตัวจะไม่มีอาการอะไร ตรวจการทำงานของตับก็ปกติ แต่มี HBsAg อยู่ในเลือดนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป เจ้าตัวมักพบว่าเป็นโรคเมื่อไปบริจาคเลือดแล้วไม่ผ่าน ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับพบหลักฐานของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี ในเซลล์ตับ จึงสันนิษฐานว่าพาหะเรื้อรังของไวรัสตับอักเสบ บี เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งตับ
  2. หากมารดาเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี หรือป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี แบบเฉียบพลันในระหว่างตั้งครรภ์ เชื้อจะแพร่ไปยังทารกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

  3. ตับอักเสบเรื้อรังชนิดทรง: เป็นระยะที่ต่อมาจากการอักเสบของตับแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีระดับเอ็นไซม์สูง (100-500 ยูนิต) อยู่นาน แต่ไม่มีอาการเหลืองแล้ว HBsAg ก็อาจหายไปแล้วด้วย รูปแบบนี้ผู้ป่วยมักหายเป็นปกติ มีน้อยที่จะกลายเป็นแบบที่สาม
  4. ตับอักเสบเรื้อรังชนิดดำเนินต่อไป: ภาวะนี้วินิจฉัยจากผลทางพยาธิวิทยาเป็นหลัก สาเหตุมิได้เกิดจากไวรัสเพียงอย่างเดียว บางรายเกิดจากการดื่มสุรา บางรายเกิดจากโรคอื่น ๆ และบางรายเกิดจากยา การอักเสบของตับจะยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ อาการมีไม่มากนัก แต่การทดสอบสมรรถภาพของตับจะผิดปกติเป็นระยะ ๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นตับแข็ง และบางส่วนจะดำเนินต่อไปเป็นมะเร็งตับ หากเป็นจากไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี ต้องตรวจหาระดับแอนติเจ้น, แอนติบอดี้ย์ และปริมาณ DNA ของเชื้อไวรัสเพื่อประกอบในการรักษา

การรักษาไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรังที่มีในปัจจุบันคือการให้สารที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Interferon) เพื่อให้ร่างกายกำจัดเชื้อออกไปเอง หรือให้ยาที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส (Lamivudine, Adefovir) Interferon มีราคาแพงมาก ผู้ป่วยที่จะเริ่มต้นรักษาควรเข้ารับฟังคำอธิบายข้อดี ข้อเสีย และราคายาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี ชนิดฉีด ซึ่งแนะนำให้ฉีดในบุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น บุคคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เด็กแรกเกิดที่พบเชื้อ HBsAg ในเลือด ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการถ่ายเลือดบ่อยๆ ผู้ที่ใกล้ชิดกับคนที่มีเชื้อ HBsAg อยู่ในเลือดอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคจากพฤติกรรมทางเพศ เช่นโสเภณี รักร่วมเพศ ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีด และผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีความชุกชุมของโรคสูง

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C)

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดซี จะคล้ายกับไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี คือทำให้เกิดตับอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ติดต่อโดยผ่านทางเลือดและการสัมผัสกับน้ำหลั่งในร่างกาย ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการอะไร รายที่มีอาการจะเริ่มแสดงหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วนาน 6-12 สัปดาห์ อาการของตับอักเสบเฉียบพลันจะเหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบ เอ แต่มักกลายเป็นตับอักเสบแบบเรื้อรังแทนที่จะหายเป็นปกติ

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ทำได้ด้วยการตรวจพบแอนติยอดี้ย์ต่อไวรัสตับอักเสบ ชนิดซี (anti-HCV) หรือการตรวจพบเชื้อโดยวิธี PCR ซึ่งมักส่งตรวจหลังจากที่อาการสงสัยว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบแต่ผลการตรวจไม่ใช่ไวรัสชนิดเอหรือบี

การรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเฉียบพลันจะเหมือนกับการรักษาไวรัสตับอักเสบ เอ การรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรังจะเลือกเฉพาะในรายที่เป็นมาก โดยจะใช้ทั้ง Interferon ร่วมกับยาต้านไวรัสอีก 2 ตัว เป็นเวลา 6-12 เดือน

ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ซี แต่ผู้ที่เป็นเรื้อรังควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอและบี เพราะถ้าหากติดโรคทั้งสองชนิดนี้ขึ้นมาอีกจะทำให้ตับแย่ลงไปอีกมาก

โรคไวรัสตับอักเสบ ดี (Hepatitis D)

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดดี ทำให้เกิดตับอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังเฉพาะในรายที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี ร่วมหรือเป็นอยู่ก่อน เพราะการเพิ่มจำนวนของเชื้อนี้ต้องอาศัยไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบีและดีพร้อม ๆ กัน จะมีอาการของตับอักเสบเฉียบพลันที่รุนแรง และมีโอกาสจะเป็นตับวายจนเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี อยู่ก่อน แล้วมาได้รับไวรัสตับอักเสบ ชนิดดี ในภายหลัง จะมีโอกาสกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังชนิดดำเนินต่อไป ตับแข็ง และมะเร็งตับได้สูงขึ้น

ทางติดต่อของไวรัสตับอักเสบ ดี เหมือนของไวรัสตับอักเสบ บี การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ดี ต้องตรวจพบทั้ง HBsAg และ anti-HDV แอนติบอดี้ย์ การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ดี เหมือนการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี แต่ค่อนข้างยากกว่า ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ดี แต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี

โรคไวรัสตับอักเสบ อี (Hepatitis E)

โรคไวรัสตับอักเสบ อี ติดต่อโดยทางอาหารและน้ำดื่มเหมือนโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ระยะฟักตัวนานกว่าเล็กน้อยคือ 5-10 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลัน อาการและความรุนแรงคล้ายกับโรคไวรัสตับอักเสบ เอ วินิจฉัยโดยการตรวจพบ anti-HEV IgM ในซีรั่ม ซึ่งสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์ หลังได้รับเชื้อ การรักษาทำได้เพียงพักผ่อนและควบคุมอาหาร ยังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ อี กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลสัมฤทธิ์ คาดว่าในอนาคตจะได้การรับรอง ในระหว่างนี้การระวังอาหารและน้ำดื่มด้วยตัวเองน่าจะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด