ยาป้องกันและรักษาไข้หวัดใหญ่ (Anti-influenza)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ระบาดง่าย กระจายเร็ว ปัจจุบันดูจะกลายเป็นโรคติดต่อที่สำคัญของโลกไปแล้ว แม้โรคจะหายเองได้ แต่ช่วงที่มีการระบาดของทุกปีก็มักจะมีผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอยู่เสมอ ยา Amantadine และ Rimantadine ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการลอกเปลือกของเชื้อไวรัส Influenza A ก็มีการดื้อยาค่อนข้างมากแล้ว CDC หรือ Center for Disease Control and Prevention จึงแนะนำให้ใช้ยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ neuraminidase ของไวรัส ซึ่งสามารถยับยั้งได้ทั้ง Influenza สายพันธุ์ A และ B โดยให้ใช้เป็นยาหลักในประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้แก่

  • เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคทางระบบประสาท อัมพรึกอัมพาต โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ที่มีภาวะพิการทางสมอง
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ติดเชื้อเอดส์
  • หญิงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด 2 สัปดาห์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 19 ปีที่ต้องใช้ยาแอสไพรินเป็นประจำ
  • ผู้ที่พักอาศัยในศูนย์คนชราหรือศูนย์ดูแลคนพิการ

บุคคลกลุ่มดังกล่าวสามารถใช้ยาได้ทั้งในแง่รักษาเมื่อมีอาการแล้ว หรือป้องกันในช่วงที่มีการระบาดแม้ยังไม่ติดโรค โดยชั่งน้ำหนักระหว่างความรุนแรงของโรคหรือความเสี่ยงต่อการติดโรคขณะที่มีการระบาด กับผลข้างเคียงของยาดังตารางข้างล่าง ส่วนบุคคลทั่วไปที่มีอาการรุนแรงและตรวจพบว่าติดเชื้อ Influenza จริงก็ควรจะใช้ยารักษาด้วย แต่ยาจะลดระยะเวลาที่เป็นโรคก็ต่อเมื่อให้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

Anti-influenza A & Bวิธีการใช้ผลข้างเคียง / ข้อควรระวัง
Oseltamivir (Tamiflu®)
  • แคปซูล ขนาด 30, 45, 75 mg
  • ยาน้ำ ขนาด 6 mg/mL
การรักษา: ให้รับประทานเช้าและเย็น ติดต่อกัน 5 วัน
- เด็กอายุ 2 สัปดาห์ - 1 ปี ใช้ครั้งละ 3 mg/kg
- เด็กอายุ 1-12 ปี ใช้ขนาด/ครั้งตามกลุ่มน้ำหนักดังนี้
  • < 15      kg ใช้ 30 mg
  • 15.1-23 kg ใช้ 45 mg
  • 23.1-40 kg ใช้ 60 mg
  • > 40      kg ใช้ 75 mg
- ผู้ที่อายุ 13 ปีขึ้นไป ใช้ครั้งละ 75 mg
การป้องกัน: ให้รับประทานวันละครั้งเดียว ติดต่อกัน 10 วัน ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี กลุ่มอายุอื่น ๆ ใช้ขนาดยาต่อครั้งเช่นเดียวกับการรักษา
ผลข้างเคียง: อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ผื่นขึ้น
ข้อควรระวัง: มีรายงานชาวญี่ปุ่นหลายรายกินยาแล้วเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง โดยอาการเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
Zanamivir (Relenza®)
  • ผง สูดเข้าทางปาก (ขนาด 5 mg ต่อการสูด 1 ครั้ง)
การรักษา: ให้ใช้เฉพาะผู้ที่อายุ 7 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยสูดยา 2 ครั้ง (10 mg) เช้าและเย็น ติดต่อกัน 5 วัน
การป้องกัน: ให้ใช้เฉพาะผู้ที่อายุ 5 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยสูดยา 2 ครั้ง (10 mg) วันละครั้งเดียว ติดต่อกัน 5 วัน
ผลข้างเคียง: อาจเกิดอาการแพ้ (หน้าบวม คอหอยบวม) ท้องเสีย คลื่นไส้ ไอ หลอดลมอักเสบ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ติดเชื้อแบคทีเรียในหู คอ จมูก
ข้อควรระวัง: - ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคถุงลมโป่งพอง
- ห้ามใช้ในคนที่แพ้โปรตีนในนม
Peramivir (Rapivab®)
  • ยาฉีด ขนาด 600 mg/ขวด
การรักษา: ให้ใช้เฉพาะผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยให้ขนาด 600 mg หยดเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ในเวลา 15-30 นาที ครั้งเดียว (ผู้ป่วยโรคไตวายต้องปรับขนาดยาตามฉลากกำกับยาในกล่อง)
การป้องกัน: ไม่มีการให้ในแง่นี้
ผลข้างเคียง: อาจมีท้องเสีย ผิวหนังลอกรุนแรง
ข้อควรระวัง: มีรายงานชาวญี่ปุ่นหลายรายกินยาแล้วเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง โดยอาการเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว