ยาต้านไวรัส (Antivirals)

ยาต้านไวรัสเป็นหนึ่งในยาต้านจุลชีพที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเท่านั้น มันไม่สามารถฆ่าไวรัสได้ การผลิตยาต้านไวรัสค่อนข้างยากกว่ายาปฏิชีวนะ เพราะไวรัสแบ่งตัวอยู่ภายในเซลล์ของเรา จึงยากที่จะหาจุดโจมตีของยาต่อการเจริญเติบโตของไวรัสโดยไม่มีผลต่อเซลล์ของเราเอง นอกจากนั้นความหลากหลายในคุณลักษณะของไวรัสแต่ละชนิดยังทำให้ยากต่อการผลิตยาต้านไวรัสโดยรวมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ทุกสิ่งไม่เกินความสามารถของมนุษย์ นักวิจัยสามารถคิดค้นยาต้านไวรัสสำหรับโรคที่ร้ายแรงได้หลายโรค ภาพข้างล่างแสดงวงจรชีวิตของเชื้อไวรัสในคนและตำแหน่งการออกฤทธิ์ยังยั้งของยาต้านไวรัสเท่าที่มีในปัจจุบัน

  1. ยายับยั้งการเกาะจับและการเชื่อม envelop ของไวรัสกับผนังเซลล์ของโฮสต์เพื่อเข้าสู่เซลล์ ได้แก่ยาต้านไวรัสเอดส์กลุ่ม Entry/Fusion inhibitors เช่น Enfuvirtide, Maraviroc เป็นต้น
  2. ยายับยั้งการลอกเปลือกของไวรัส (uncoating) เมื่อเข้าเซลล์แล้ว ได้แก่ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่กลุ่มแรก ๆ เช่น Amantadine, Rimantadine
  3. ยายับยั้งขบวนการคัดลอก RNA ไปเป็น DNA ของไวรัส (reverse transcription) ได้แก่ยากลุ่ม Nucleoside/Nucleotide analogues เช่น Lamivudine, Tenofovir เป็นต้น
  4. ยายับยั้งเอ็นไซม์ DNA polymerase ของไวรัส เพื่อไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวน DNA ได้ เป็นเป้าหมายหลักของยาต้านไวรัสตระกูลเฮอร์ปีส์ที่ทำให้เกิดโรคเริม อีสุกอีใส งูสวัด
  5. ยายับยั้งไม่ให้ DNA ของไวรัสรวมตัวกับ DNA ของโฮสต์ ได้แก่ยาต้านไวรัสเอดส์กลุ่ม Integrase inhibitors เช่น Elvitegravir, Raltegravir เป็นต้น
  6. ยายับยั้งการสร้าง RNA ภายในนิวเคลียส เช่น Ribavirin ที่ใช้รักษาโรคไวรสตับอักเสบ ซี
  7. ยายับยั้งการทำสำเนารหัสพันธุกรรม (mRNA capping) ของไวรัส เช่น Ribavirin
  8. ยายับยั้งเอ็นไซม์ protease ที่ไวรัสใช้ในการสร้างโปรตีน ได้แก่ยาต้านไวรัสเอดส์กลุ่ม Protease inhibitors เช่น Saquinavir, Indinavir เป็นต้น
  9. ยายับยั้งการขดรวมตัวกันของไวรัส (Assembly) เตรียมที่จะออกจากเซลล์ของโฮสต์ ยาที่ออกฤทธิ์ตรงตำแหน่งนี้โดยตรงยังอยู่ในการวิจัย
  10. ยายับยั้งเอ็นไซม์ neuraminidase ของไวรัส เพื่อไม่ให้ไวรัสหลุดออกจากเซลล์หนึ่งไปเข้าอีกเซลล์หนึ่งได้ เช่น Oseltamivir ที่ใช้ป้องกันและรักษาไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน