ปวดคอ (Cervical pain, neck pain)
ในหน้านี้จะกล่าวถึงอาการปวดลำคอทางด้านข้างและด้านหลังลงไปจนถึงบ่า หากท่านมีอาการเจ็บคอหอยภายในช่องปากกรุณาคลิกที่อาการเจ็บคอ
ลำคอเป็นแหล่งรวมอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร ใยประสาทจากสมองทั้งหมดจะทอดมารวมกันเป็นไขสันหลัง ซึ่งตั้งต้นที่ลำคอ หลอดลมและหลอดอาหารก็เช่นกัน ลำคอดูจะเป็นอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บได้ง่าย เนื่องจากเป็นส่วนสั้น ๆ ส่วนเดียวที่ขยับได้ทุกทิศทางระหว่างศีรษะและทรวงอกขนาดใหญ่ซึ่งติดอยู่กับที่ เหมือนเป็นก้านเล็ก ๆ ที่หันไปมาเพื่อให้ตากับหูรับภาพและเสียงได้ชัดเจนที่สุด อีกทั้งยังโยกเอนเพื่อรับน้ำหนักทั้งหมดของศีรษะตลอดเวลาไม่ว่าเราจะอยู่ในท่าใดก็ตาม
สาเหตุของการปวดคอ
สาเหตุของอาการปวดคอคล้ายกับอาการปวดหลัง คือกว่าร้อยละ 80 เกิดจากกล้ามเนื้อเคล็ดตึง ที่เหลือเกิดจากโรคของกระดูกต้นคอ โรคของไขสันหลัง และพวกเนื้องอกต่าง ๆ
1. กล้ามเนื้อเคล็ดและเอ็นตึง
อาการปวดคอที่เกิดจากกล้ามเนื้อมีลักษณะสำคัญคือ จะไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดร้าวลงแขนข้างใดข้างหนึ่ง ชา หรือกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงบางส่วน และจะเป็นอยู่ไม่นาน เมื่อได้พักผ่อน ตื่นนอนตอนเช้าจะสบายขึ้น ลักษณะการปวดมักปวดตึงที่กล้ามเนื้อคอมัดใดมัดหนึ่งจนทำให้เอี้ยวคอลำบาก และอาจปวดลงมาถึงบ่าหรือสะบักด้านหลังได้
2. โรคของกระดูกต้นคอ
กระดูกคอมี 7 ปล้อง แต่ละปล้องมีรูให้เส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อแขนลอดผ่าน โรคของกระดูกต้นคอไม่ว่าจะเป็นกระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อน กระดูกสันหลังตีบ โรครูมาตอยด์ โรค Ankylosing spondylitis หรือแม้แต่การบาดเจ็บที่กระดูกคอ จึงล้วนแต่ทำให้มีอาการชา ปวดร้าวลงแขน หรือกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงได้ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากพยาธิสภาพอยู่ที่กระดูก อันตรายต่อระบบประสาทจึงเป็นเพียงรากประสาทเส้นใดเส้นหนึ่งของข้างใดข้างหนึ่ง (ยกเว้นรอยโรคที่เป็นมานานจนเป็นมาก หรือการบาดเจ็บที่รุนแรงก็อาจทำอันตรายต่อเส้นประสาทที่ใกล้เคียงกันได้หลายเส้น)
รอยโรคระหว่างปล้องของกระดูกคอข้อที่ 4 และ 5 จะกดเส้นประสาทไขสันหลังเส้นที่ 5 รอยโรคระหว่างปล้องของกระดูกคอข้อที่ 5 และ 6 จะกดเส้นประสาทไขสันหลังเส้นที่ 6 ที่เป็นเช่นนี้เพราะไขสันหลังสั้นกว่ากระดูกสันหลัง รากประสาทแต่ละรากจึงแทงทะลุออกมาในระดับบนของกระดูกคอปล้องนั้น ๆ (หลักการนี้จะผิดไปเมื่อเข้าสู่กระดูกสันหลังช่วงอกและเอว เพราะกระดูกคอมีถึงแค่ C7 ขณะที่เส้นประสาทมีถึง C8)
ตำแหน่งที่ชาหรือปวดอาจบอกตำแหน่งของพยาธิสภาพได้คร่าว ๆ จะให้ดีต้องตรวจดูกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรงและเคาะรีเฟล็กซ์ประกอบด้วย
รากประสาท | การทดสอบกล้ามเนื้อ | รีเฟล็กซ์ที่อ่อน |
C1, C2(พบน้อย) | ก้ม/เงยหน้าไม่ได้ (พยาธิสภาพส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บที่รุนแรง และทำอันตรายทั้งเส้นประสาทและไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไป) | - |
C3 | เอียงคอไปข้างน้้นไม่ได้ (ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเข้าจนลึกสุดไม่ได้ด้วย เพราะกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง) | - |
C4 | ยักไหล่ขึ้นทั้งสองข้าง ผล: ข้างที่อ่อนแรงจะยักไม่ค่อยขึ้น (ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเข้าจนลึกสุดไม่ได้ด้วย เพราะกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง) | - |
C5(พบได้บ่อย) | 1) กางแขนทั้งสองข้างให้ตั้งฉากกับลำตัว 2) ให้เพื่อนเอามือกดที่ต้นแขนลงขณะที่เราพยายามกางต้านไว้ ผล: ข้างที่อ่อนแรงจะเห็นได้ชัดว่าต้านแรงไม่ได้ | Biceps |
C6(พบได้บ่อย) | วิธีที่ 1: งอศอกเอาแขนงัดข้อกับเพื่อน วิธีที่ 2: กระดกข้อมือขึ้นต้านแรงเพื่อนที่พยายามกดลง ผล: ข้างที่อ่อนแรงจะต้านแรงเพื่อนไม่ได้ | Brachioradialis |
C7(พบได้บ่อย) | วิธีที่ 1: งอศอก 90° ให้เพื่อนเอามือยันไว้แล้วเราพยายามเหยียดศอกออกมา วิธีที่ 2: หักข้อมือลงแล้วให้เพื่อนงัดข้อมือเราขึ้น ผล: ข้างที่อ่อนแรงจะต้านแรงเพื่อนไม่ได้ | Pronator, Triceps |
C8 (รอยโรคอยู่ระหว่างกระดูกปล้องที่ C7 กับ T1) | งอนิ้วทั้งสี่แล้วให้เพื่อนงัดให้เหยียดตรง ผล: ข้างที่อ่อนแรงจะต้านแรงจะไม่สามารถงอนิ้วทั้งสี่ไว้ได้ | Triceps |
T1 (รอยโรคอยู่ระหว่างกระดูกปล้องที่ T1 กับ T2) | กางนิ้วทั้งห้าแล้วให้เพื่อพยายามหุบนิ้วเรา ผล: ข้างที่อ่อนแรงจะต้านแรงจะไม่สามารถกางนิ้วหัวแม่มือต้านแรงเพื่อนได้ | - |
อาการปวดบริเวณหัวไหล่หรือต้นแขนต้องแยกจากภาวะข้อไหล่อักเสบด้วย มีสองวิธีในการทดสอบคือ
- Foraminal Compression Test: ผู้ป่วยแหงนหน้าและเอียงคอไปทางด้านที่ปวดเล็กน้อย แล้วแพทย์จะทำการกดศีรษะลงมา (ด้วยความระมัดระวัง) อาการปวดจากกระดูกคอทับรากประสาทจะทำให้มีอาการปวดร้าวลงแขนข้างนั้นขณะที่แพทย์กด
- Shoulder Abduction Test: ผู้ป่วยกางแขนข้างที่ปวดแล้วเอามือวางมือบนศีรษะ ท่านี้จะทำให้เส้นเอ็นบริเวณข้อไหล่ขยี้กับกระดูกมากขึ้น ทำให้ผู้ที่มีพยาธิสภาพที่ข้อไหล่มีอาการปวดมากขึ้น ขณะที่ผู้ที่มีพยาธิสภาพที่กระดูกคอมีอาการลดลง เพราะเส้นประสาทได้รับการผ่อนคลาย
3. โรคของไขสันหลังส่วนคอ
โรคของไขสันหลังอาจเกิดจากการติดเชื้อ เนื้องอก การอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ โพรงไขสันหลังตีบแคบ โรครูมาตอยด์ ภาวะที่เอ็นสันหลังมีหินปูนมาเกาะ (Ossification of the posterior longitudinal ligament, OPLL) ความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังขั้นสาหัส
อาการปวดคอของโรคในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นอย่างช้า ๆ ปวดไม่มากแต่เป็นอยู่ตลอดเวลาแม้จะไม่ได้ขยับคอ อาการปวดจะชัดขึ้นเวลานอนตอนกลางคืน และอยู่เฉพาะที่ ค่อยไม่ร้าวไปแขนเหมือนเส้นประสาทถูกกดทับ บริเวณที่ปวดอาจยาวลงไปถึงหลังตามความยาวของไขสันหลังที่เป็นโรค ชี้จุดเจ็บที่สุดจุดเดียวได้ยาก แต่ลักษณะสำคัญที่เด่นกว่าอาการปวดคือ
1) มีอาการทางระบบประสาทตั้งแต่รอยโรคเรื่อยลงไปจนตลอดไขสันหลัง ดังนั้น หากมีอาการปวดร้าวก็จะร้างลงทั้งแขนและขา หากมีอาการชา ไม่รู้สึก ก็จะชาตั้งแต่ระดับลำตัวนั้นเรื่อยลงไปจนตลอดขา หากมีอาการอ่อนแรงก็จะอ่อนทั้งแขนและขา สังเกตได้จากการกลัดกระดุมหรือผูกเชือกรองเท้าไม่ถนัด ตลอดจนมีอาการของการเดินเซ เดินขากางเพราะสูญเสียการทรงตัวที่ดีไป และอาจถึงขั้นควบคุมระบบการขับถ่ายได้ลำบาก
2) มีอาการแสดงของรอยโรคที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เมื่อตรวจรีเฟล็กซ์จะไวกว่าปกติ; กล้ามเนื้อเกร็งตัวแข็ง และอาจมีการสั่นพริ้ว (muscle fasciculation); ตรวจพบอาการแสดงของ Babinsky reflex, clonus, และ Hoffman’s reflex (อาการแสดงเหล่านี้แพทย์ทุกท่านสามารถตรวจได้) ซึ่งไม่พบในโรคของกระดูกทับเส้นประสาท
3) ในระยะยาวกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงนั้นจะลีบลงอย่างเห็นได้ชัด
โรคของไขสันหลังพบน้อยกว่าโรคของกระดูกสันหลังมาก แต่ถ้ามีอาการปวดคอและหลังร่วมกับอาการทางระบบประสาทดังกล่าวควรเข้าพบแพทย์แผนกอายุรกรรมระบบประสาทก่อน จนกว่าจะตรวจพบว่าสาเหตุของโรคที่จำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์จึงจะส่งให้ศัลยแพทย์ต่อไป
4. โรคของเนื้องอก
กระดูกสันหลังเป็นอวัยวะที่รับการลุกลามของมะเร็งจากอวัยวะอื่นทั้งหมดมากเป็นอันดับที่สาม รองจากปอดและตับ แต่ส่วนใหญ่จะไปที่กระดูกสันหลังส่วนอก (70%) และส่วนเอว (20%) มีเพียง 10% เท่านั้นที่ไปที่กระดูกคอ นอกจากนั้นยังมีพวกมะเร็งที่ลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ รวมทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปฐมภูมิซึ่งอาจเกิดขึ้นที่บริเวณลำคอด้วย
อาการปวดคอที่เกิดจากมะเร็งลามไปที่กระดูกคอมักเกิดตามหลังอาการของโรคตั้งต้น เช่น เบื่ออาหาร ผอมลงอย่างรวดเร็ว และอาการตามระบบที่เกิดมะเร็ง แต่ก็มีนาน ๆ ครั้งที่มะเร็งต้นตอยังไม่แสดงอาการ แต่ด้วยความที่ลุกลามเร็ว จึงแสดงอาการของอวัยวะที่ลุกลามไปถึงก่อน ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะปวดคอตอนกลางคืน (เวลาพัก) ไม่ใช่ปวดเมื่อใช้งานอย่างเช่นโรคของกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังโดยทั่วไป พยาธิสภาพที่กระดูกมักเกิดที่ pedicles ซึ่งเหมือนเป็นเสาบ้านรองรับหลังคา ทำให้กระดูกสันหลังหักจนกดทับไขสันหลัง เกิดอาการชาและ/หรืออัมพาตตั้งแต่ระดับนั้นลงไป ร้อยละ 50 ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
อาการปวดคอที่เกิดจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็มักเกิดทีหลัง อาการเริ่มแรกคือมีก้อนแข็งขึ้นที่ข้างลำคอก่อน อาจมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจมีแขนบวมเมื่อมะเร็งไปอุดตันทางเดินน้ำเหลือง
ผู้ป่วยเหล่านี้จัดเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ซึ่งการรักษาจะหวังผลเพียงทุเลาอาการ ยากที่จะรักษาให้หายขาดได้
แนวทางการตรวจรักษา
ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก แพทย์จะเริ่มต้นจากการสอบถามประวัติอาการปวดว่าเริ่มเป็นเมื่อใด สัมพันธ์กับการบาดเจ็บหรือไม่ ปวดมาก-น้อยขนาดไหน ตำแหน่งไหนที่มีอาการปวดมากที่สุด มีอาการปวดร้าวไปที่อื่นหรือไม่ มีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วยหรือไม่ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติหรือไม่ ท่าไหนที่ทำให้อาการปวดดีขึ้นและท่าไหนที่ทำให้แย่ลง มีโรคประจำตัวหรือโรคภายในครอบครัวหรือไม่ เคยรักษาอะไรมาก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยหรือญาติควรเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้พร้อม ซึ่งจากอายุ เพศ อาชีพ และประวัติต่าง ๆ เหล่านี้ของผู้ป่วยก็สามารถจำแนกโรคที่น่าจะเป็นออกได้ส่วนหนึ่งแล้ว
จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อดูว่าจำเป็นต้องเอกซเรย์หรือไม่ โดยจะตรวจวัดไข้ ชั่งน้ำหนักตัว ดูและคลำแนวการเรียงตัวของกระดูกคอ คลำต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอ กดกล้ามเนื้อหาตำแหน่งที่กดเจ็บ ตรวจทางระบบประสาท และตรวจร่างกายระบบอื่น ๆ
โดยทั่วไปการเอกซเรย์กระดูกคอจะทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
- อายุมากกว่า 50 ปี และปวดคอตรงตำแหน่งใหม่
- มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด
- ปวดคอค่อนข้างมาก มานานกว่า 6 สัปดาห์
- ตรวจพบอาการแสดงทางระบบประสาท
- เคยเป็นมะเร็งมาก่อน
- ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะหรือลำคอมาไม่นาน
นอกเหนือจากการเอกซเรย์กระดูกคอแล้ว แพทย์ยังอาจส่งตรวจเอกซเรย์ทรวงอก, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือ MRI, เอกซเรย์ Myelogram, ตรวจเลือด, ตรวจน้ำไขสันหลัง, ตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาทและการตอบสนองของกล้ามเนื้อ (NCV/EMG), และตรวจ Bone scan กรณีที่สงสัยการติดเชื้อหรือเนื้องอกขนาดเล็กของกระดูก
การรักษาขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรง ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยยาและทำกายภาพบำบัด ในรายที่เป็นจากมะเร็งลุกลามจะใช้รังสีรักษาช่วย รายที่จำป็นต้องผ่าตัดกระดูกก็จะส่งให้ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ รายที่เป็นเนื้องอกของไขสันหลังหรือเยื่อหุ้มไขสันหลังก็จะส่งให้ศัลยแพทย์ระบบประสาทดูแลต่อไป