การเกิดโรคติดเชื้อ

โรคติดเชื้อเป็นโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่า "จุลินทรีย์" หรือ "จุลชีพ" ซึ่งอาศัยพื้นที่บนโลกในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับคนเรา นักวิทยาศาสตร์แบ่งจุลินทรีย์เหล่านี้ออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 4 กลุ่มคือ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต

ในความเป็นจริง ไม่ใช่จุลินทรีย์ทั้งหมดจะทำให้เกิดโรค มีแบคทีเรียหลายชนิดที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง ในปาก และในลำไส้ของเราอย่างสันติ และบางชนิดทำประโยชน์แก่เราด้วยซ้ำ แบคทีเรียที่ผิวหนังและในปากของเราช่วยลดโอกาสที่เราจะติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตราย รวมทั้งเชื้อรา แบคทีเรียในลำไส้ของเราช่วยย่อยอาหารและสร้างวิตามินเคที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของคนเราทุกคน จุลินทรีย์เหล่านี้จะเรียกว่า เชื้อประจำถิ่น (normal flora) การใช้ยาปฏิชีวนะจะทำลายสมดุลของเชื้อประจำถิ่นในร่างกายของเราไป และเปิดพื้นที่ให้จุลชีพชนิดอื่นที่บุกรุกเข้ามาได้เจริญเติบโตแทน

นอกจากนั้น จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคก็ยังไม่ได้ทำให้เกิดโรคเหมือนกันในคนทุกคน บางคนอาจเกิดโรคที่มีอาการรุนแรง บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย และบางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย

สมการการเกิดโรคติดเชื้อ (Disease) คือ จำนวนเชื้อที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย (number of pathogen) คูณด้วย ความดุร้ายของสายพันธุ์ของเชื้อ (Virulence) หารด้วย กำลังต้านทานของบุคคลนั้น (Immunity)

การแพทย์เชื่อว่าเป็นเพราะชีวภาพในตัวของคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน (อีกทั้งยังต่างกันตามกาลเวลาในคนคนเดียวกัน) และเป็นเพราะปัจจัยของเชื้อเอง จึงทำให้เราป่วยหรือไม่ป่วย ทั้ง ๆ ที่เรามีชีวิตอยู่กับจุลชีพเหล่านี้ตลอดเวลา ผู้ที่ติดเชื้อก่อโรคโดยไม่มีอาการอะไรเลยแต่ร่างกายกลับยอมรับเชื้อนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเขา ไม่ได้กำจัดทิ้งไป เราเรียกคนเหล่านี้ว่า “พาหะ” พาหะอาจเป็นได้ทั้งคนและสัตว์ และเป็นผู้ส่งต่อเชื้อโรคนี้ไปสู่อีกคนหนึ่ง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยสำคัญในคนที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย ได้แก่ อายุ, ระบบภูมิคุ้มกัน, และโรคประจำตัว ทารกแรกเกิดและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป ผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือกินยาที่กดภูมิคุ้มกันก็มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย โรคประจำตัวบางโรคทำให้คนเราติดเชื้อของอวัยวะนั้น ๆ ซ้ำได้ง่ายขึ้น เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพอง โรคนิ่ว โรคมะเร็งลำไส้ และบางโรคก็ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับแข็ง เป็นต้น

ปัจจัยในตัวเชื้อ ได้แก่ ยีนที่กำหนดความรุนแรง, วิธีการก่อโรค (โดยตัวมันเองหรือโดยสารพิษของมัน), และระยะติดต่อ (ปรสิตหลายชนิดมีการเจริญเติบโตเป็นระยะต่าง ๆ คล้ายแมลง และมีบางช่วงระยะเท่านั้นที่เป็นระยะติดต่อในคน)

ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ การพัฒนาด้านสาธารณสุขมูลฐาน (การมีน้ำสะอาดใช้ มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เข้าใจวิธีการปรุงอาหารและการถนอมอาหาร มีการบำบัดขยะที่ถูกวิธี), การแพทย์ที่ครอบคลุมประชากรได้อย่างทั่วถึง และการมีวัคซีนป้องกันโรคมากขึ้น โดยรวมแล้ว พัฒนาการสู่สังคมเมืองมากขึ้นทำให้โรคติดเชื้อค่อย ๆ ลดน้อยลงไปในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับในศตวรรษก่อน