การใช้ยาฆ่าเชื้อเมื่อเป็นหวัด
(Antibiotic for respiratory tract infections)
คำว่า "เป็นหวัด" ของคนทั่วไป ทางการแพทย์หมายถึง โรคของทางเดินหายใจที่เพิ่งแสดงอาการคล้ายหวัดภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งรวมทั้งทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยอาจมีสาเหตุจากภูมิแพ้ สารพิษ สำลัก ติดเชื้อ (ไวรัส แบคทีเรีย รา โปรโตซัว) และโรคประจำตัวที่บังเอิญกำเริบ (เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง หัวใจล้มเหลว มะเร็งปอด) และอื่น ๆ
จากรูปจะเห็นว่าสัดส่วนของสาเหตุที่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อมีเพียง 6% ยิ่งถ้าตัดคนปกติที่ไม่มีโรคประจำตัวและไม่มีสาเหตุอื่นออกไปแล้ว โอกาสที่จะ "เป็นหวัด" จากไวรัสและภูมิแพ้ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ) ยิ่งสูงขึ้นเป็น 94.44% การใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างพร่ำเพรื่อมีแต่จะเพิ่มอุบัติการณ์ของเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาของสาธารณสุขทั่วโลกในปัจจุบันให้มากขึ้นไปอีก
เกณฑ์ที่ควรจะเริ่มกินยาฆ่าเชื้อเมื่อเจ็บคอ
มีเกณฑ์ประเมินโอกาสเป็นโรคคออักเสบจากเชื้อสเตรปโตคอกคัส 2 เกณฑ์ ซึ่งควรประเมินทุกวันหรือเมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลง
FeverPAIN criteria
- F = มีไข้สูงกว่า 37.5 C ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
- P = มีหนองที่ทอนซิล
- A = เจ็บคอจนกลืนลำบากภายในเวลา < 3 วัน
- I = ทอนซิลบวม แดง เหมือนลูกสตรอเบอรี่
- N = ไม่มีไอ ไม่มีน้ำมูก ไม่มีคัดจมูก
ให้ข้อละ 1 คะแนน หากได้ ≥ 3 คะแนน (เต็ม 5) ถึงเหมาะที่จะเริ่มกินยาปฏิชีวนะ
Centor criteria
- มีไข้สูงกว่า 38 C
- มีหนองที่ทอนซิล
- มีต่อมน้ำเหลืองด้านข้างลำคอโต กดเจ็บ
- ไม่มีไอ
ให้ข้อละ 1 คะแนน หากได้ ≥ 3 คะแนน (เต็ม 4) ถึงเหมาะที่จะเริ่มกินยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะที่แนะนำคือ กลุ่มเพนิซิลลิน เช่น Amoxicillin, Augmentin เป็นเวลา 5-10 วัน สำหรับคนที่แพ้ยาเพนิซิลลิน ให้ใช้ Erythromycin หรือ Clarithromycin แทน เป็นเวลา 5 วัน
เกณฑ์ที่ควรจะเริ่มกินยาฆ่าเชื้อเมื่อไอมาก
มีเพียงข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ก็สมควรเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะ หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือเอกซเรย์ปอดเพิ่มเติม
- มีไข้และเหนื่อยแม้เวลานั่งพัก
- มีเสมหะปนเลือดออกมาเรื่อย ๆ
- เป็นผู้ป่วยที่นอนติดเตียง หรือได้รับยากดภูมิต้านทานอยู่
- ไอนานกว่า 7 วัน โดยที่ยังไม่ได้รับยาฆ่าเชื้อ *
ยาปฏิชีวนะที่แนะนำคือ กลุ่ม Macrolides เช่น Azithromycin, Clarithromycin, Erythromycin, Fidoximycin, Roxithromycin เป็นเวลา 5-10 วัน
สำหรับผู้ป่วยที่นอนติดเตียง หรือได้รับยากดภูมิต้านทานอยู่ ถ้าหายใจมีเสียงวี๊ด อาจเป็น Influenza pneumonia ได้ ถ้าอยู่ในที่ ๆ ไม่สามารถตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ควรรับประทานยา Tamiflu ไปเลย 5 วัน
* สำหรับผู้ป่วยที่ตอนแรกเป็นหวัด มีน้ำมูก พอหวัดหายกลับไอต่ออีกนาน ส่วนหนึ่งเป็นจากหลอดลมมีความไวเพิ่มขึ้นหลังเป็นหวัด เช่น ไวต่อความเย็น ต่อฝุ่น ต่อกลิ่นบางอย่าง ลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องรับยาปฏิชีวนะ ให้ใช้เพียงยาแก้ไอและยาขยายหลอดลม ภาวะไวของหลอดลมจะค่อย ๆ หายไปเองในเวลาเป็นเดือน
วิธีรักษาตัวเมื่อ "เป็นหวัด"
- จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
- พักผ่อน นอนหลับให้มาก ๆ
- ใช้ยาบรรเทาอาการ ได้แก่
- ยาลดไข้พาราเซตามอล ถ้ามีไข้/ปวดเนื้อปวดตัว
- ยาลดน้ำมูก/ลดอาการคัดจมูก
- ยาแก้ไอ/ละลายเสมหะ
- ยาอมแก้เจ็บคอ หรือแบบพ่นคอ
- ประเมิน FeverPAIN, Centor Score และสังเกตุอาการของหลอดลมอักเสบหรือปอดบวมทุกวัน (ได้แก่ ไข้ ไอ หอบ เสมหะปนเลือด เจ็บอกเวลาหายใจเข้าลึก ๆ)
ที่สำคัญควรใจเย็นและมั่นใจในภูมิคุ้มกันของตัวเอง หวัดจากภูมิแพ้หรือไวรัสสามารถหายเองได้ในเวลา 1 สัปดาห์ ไม่มียาหรือวิตามินที่จะกินในช่วงที่เริ่มป่วยแล้วทำให้โรคสั้นลง
บรรณานุกรม
- "Managing acute sore throat." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NICE. (1 ธันวาคม 2562).
- "Upper respiratory tract infection
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (1 ธันวาคม 2562).
- Anne Meneghetti. 2018. "Upper respiratory tract infection
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (1 ธันวาคม 2562).
- Ross H. Albert. 2010. "Diagnosis and Treatment of Acute Bronchitis
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2010;82(11):1345-1350. (1 ธันวาคม 2562).
- "Lower respiratory tract infection
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (1 ธันวาคม 2562).