การป้องกันมาลาเรียก่อนเดินทาง (Malarial prophylaxis)

ศตวรรษที่ผ่านมา โรคมาลาเรียค่อย ๆ หายไปจากแผนที่โลก แม้แต่ในประเทศไทย พื้นที่ที่เป็นดงมาลาเรียหดเหลือแต่แถบชายแดนพม่า ลาว กัมพูชาเท่านั้น นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่า เด็กที่เกิดหลังปีค.ศ. 2040 จะไม่รู้จักโรคมาลาเรียอีกต่อไป

แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น โรคมาลาเรียยังเป็นโรคติดต่อร้ายแรงสำหรับนักเดินทาง ศูนย์ป้องกันโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้คนต่างถิ่นใช้ยาป้องกันมาลาเรียก่อนจะเข้าพื้นที่สีแดงและสีชมพูของประเทศในรูปปี 2015 ยาที่ใช้ป้องกันได้แก่

  1. Malarone (Atovaquone/Proguanil) ยานี้ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคไตวาย
  2. ยานี้ต้องรับประทานทุกวัน ตั้งแต่ก่อนเข้าพื้นที่ 1-2 วัน จนถึงออกจากพื้นที่แล้ว 7 วัน

    ในผู้ใหญ่ใช้ขนาดผู้ใหญ่ วันละ 1 เม็ด

    ในเด็กให้ใช้ขนาดเด็ก: น้ำหนัก 5-10 kg วันละครึ่งเม็ด, น้ำหนัก 10-20 kg วันละ 1 เม็ด, น้ำหนัก 20-30 kg วันละ 2 เม็ด, น้ำหนัก 30-40 kg วันละ 3 เม็ด, น้ำหนักเกิน 40 kg ให้ใช้ขนาดผู้ใหญ่ วันละ 1 เม็ด

  3. Doxycycline ยานี้ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ และในเด็กอายุ < 8 ปี
  4. ยานี้ต้องรับประทานทุกวัน ตั้งแต่ก่อนเข้าพื้นที่ 1-2 วัน จนถึงออกจากพื้นที่แล้ว 4 สัปดาห์

    ในผู้ใหญ่ใช้ขนาด 100 mg/วัน

    ในเด็กที่อายุเกิน 8 ปี ใช้ขนาด 2.2 mg/kg/วัน สูงสุดไม่เกินขนาดผู้ใหญ่

    ยานี้ไม่ควรใช้เมื่อต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อราตัวอื่นด้วย และบางคนอาจแพ้ยานี้เมื่อโดนแดดมาก ๆ

    แต่ข้อดีคือ ยา Doxycycline สามารถป้องกันโรคติดเชื้อ Rickettsiae และ Leptospirosis ซึ่งมักพบบ่อยตามป่าเขาและในแหล่งน้ำธรรมชาติ

  5. Primaquine ยานี้ห้ามใช้ในคนที่มีภาวะ G6PD deficiency หรือคนที่ยังไม่ได้ตรวจเลือดดูภาวะนี้ และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร
  6. ยานี้ต้องรับประทานทุกวัน ตั้งแต่ก่อนเข้าพื้นที่ 1-2 วัน จนถึงออกจากพื้นที่แล้ว 7 วัน

    ในผู้ใหญ่ใช้ขนาด 30 mg base/วัน

    ในเด็กใช้ขนาด 0.5 mg/kg base/วัน สูงสุดไม่เกินขนาดผู้ใหญ่

    Primaquine เป็นยาที่ป้องกันมาลาเรียสายพันธุ์ PV ได้ดีที่สุด เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มี PV > 85% ซึ่งได้แก่ ประเทศกรีซ เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ เนปาล อิหร่าน บราซิล โบลิเวีย เวเนซูเอลา เปรู ปานามา นิคารากัว เม็กซิโก ฮอนดูรัส กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ ทาจิกิสถาน

  7. Chloroquine ยานี้ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่มาลาเรียยังไม่ดื้อยา Chloroquine หรือ Mefloquine ซึ่งได้แก่ ประเทศคอสตาริกา สาธารณรัฐโดมินิกัน ไฮติ ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิคารากัว เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ข้อดีคือสามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้
  8. ยานี้รับประทานเพียงสัปดาห์ละครั้ง ตั้งแต่ก่อนเข้าพื้นที่ 1-2 สัปดาห์ จนถึงออกจากพื้นที่แล้ว 4 สัปดาห์

    ในผู้ใหญ่ใช้ขนาด 300 mg base (500 mg salt)

    ในเด็กใช้ขนาด 5 mg/kg base (8.3 mg/kg salt) สูงสุดไม่เกินขนาดผู้ใหญ่

  9. Mefloquine ยานี้ใช้ไม่ได้ในพื้นที่ที่มาลาเรียดื้อต่อยา Mefloquine ซึ่งได้แก่ ประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคจิต โรคลมชัก และไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ข้อดีคือสามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้
  10. ยานี้รับประทานเพียงสัปดาห์ละครั้ง ตั้งแต่ก่อนเข้าพื้นที่ 1-2 สัปดาห์ จนถึงออกจากพื้นที่แล้ว 4 สัปดาห์

    ในผู้ใหญ่ใช้ขนาด 228 mg base (250 mg salt)

    ในเด็กน้ำหนัก < 10 kg ใช้ขนาด 4.6 mg/kg base (5 mg/kg salt), น้ำหนัก 10-20 kg ใช้ขนาดผู้ใหญ่ ¼ เม็ด, น้ำหนัก 20-30 kg ใช้ขนาดผู้ใหญ่ ½ เม็ด, น้ำหนัก 30-45 kg ใช้ขนาดผู้ใหญ่ ¾ เม็ด, น้ำหนัก > 45 kg ใช้ขนาดผู้ใหญ่

  11. Tafenoquine (Arakoda®) ยานี้ห้ามใช้ในคนที่มีภาวะ G6PD deficiency หรือคนที่ยังไม่ได้ตรวจเลือดดูภาวะนี้ และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคจิต
  12. ยานี้รับประทานเพียงสัปดาห์ละครั้ง ตั้งแต่ก่อนเข้าพื้นที่ 3 วัน จนถึงออกจากพื้นที่แล้ว 1 สัปดาห์ โดยใช้ขนาด 200 mg/สัปดาห์

    ยานี้ป้องกันมาลาเรียสายพันธุ์ PV ได้ดี แต่สามารถป้องกัน PF ได้ด้วย

** ไม่มียาตัวใดป้องกันมาลาเรียได้ 100% วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันยุงกัด โดยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือที่ปลอดยุง
** ไม่ควรใช้ยาป้องกันเกิน 1 ขนานในการเดินทางครั้งเดียว เพราะยามีปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ มาก ก่อนเลือกยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน

สำหรับคนไทยที่จะไปเที่ยวป่าตามชายแดนพม่า ลาว กัมพูชา กระทรวงสาธารณสุขไทยไม่แนะนำให้รับประทานยาป้องกัน เพราะเชื้อดื้อยามาก ป้องกันไม่ค่อยได้ ให้ใช้วิธีป้องกันยุงกัดดีกว่า หากเป็นไข้หนาวสั่นให้รีบไปโรงพยาบาล แพทย์ตามจังหวัดชายแดนจะคุ้นกับการรักษาโรคมาลาเรียดี

บรรณานุกรม

  1. "Malaria Information and Prophylaxis, by Country ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (30 พฤศจิกายน 2562).
  2. "Choosing a Drug to Prevent Malaria ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (30 พฤศจิกายน 2562).