การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer screening)
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ มาตรการในการค้นหาโรคมะเร็งระยะแรกเริ่มในผู้ที่ยังไม่มีอาการของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความเจ็บป่วยจากโรคมะเร็ง แต่เนื่องจากวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งของอวัยวะหลายอย่างมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มกับการตรวจค้นในคนทั่วไป จึงแนะนำให้ทำเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ส่วนคนทั่วไปให้ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงของตนเองและเฝ้าระวังอาการของมะเร็งชนิดต่าง ๆ ไว้ แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติมีดังนี้
มะเร็งเต้านม
ปัจจัยเสี่ยง
- มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ในครอบครัว
- ใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปี หรือใช้เอสโตรเจนรักษาวัยหมดประจำเดือนนานเกิน 5 ปี
- เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาก่อน หรือเคยตัดชิ้นเนื้อ ผลเป็น atypical ductal hyperplasia, lobular neoplasia
- เคยได้รังสีรักษาโรคมะเร็งบริเวณทรวงอก
อาการของโรค
- ปวดหรืออึดอัดบริเวณเต้านม
- คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือใต้รักแร้
- มีน้ำที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม หรือมีเลือดออก
- หัวนมผิดตำแหน่ง เช่น ยุบลงหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น
- มีผื่นรอบหัวนม
- แขนบวม
- ปวดกระดูก น้ำหนักลด
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง หญิงที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมเองทุกเดือน วิธีการตรวจดูที่นี่ หากพบความผิดปกติให้ตรวจข้อ 2 ต่อ
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์
- หญิงที่อายุตั้งแต่ 30-39 ปี นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำแล้ว ควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี
- หญิงที่อายุตั้งแต่ 40-69 ปี นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำแล้ว ควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 1 ปี
- หญิงที่มีอาการผิดปกติ 8 ข้อข้างต้น ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทั้งหมด
หากพบความผิดปกติ แพทย์จะส่งทำข้อ 3 ต่อ
- การทำอัลตราซาวด์และแมมโมแกรม
- หญิงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ที่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น ควรตรวจอัลตราซาวด์และแมมโมแกรมของเต้านม ทุก 1 ปี
- หญิงอายุตั้งแต่ 40-69 ปีทุกคน แม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ควรตรวจอัลตราซาวด์และแมมโมแกรมของเต้านม ทุก 1-2 ปี
หากพบความผิดปกติ แพทย์จะส่งตรวจชิ้นเนื้อ หรือนัดตรวจซ้ำถี่กว่านั้น
- การตรวจเลือดหายีน BRCA1 & BRCA2 หญิงที่มีปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหลายคน หรือมีญาติเคยเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
มะเร็งปากมดลูก
ปัจจัยเสี่ยง
- ติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือมีคู่นอนหลายคน
- เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เคยเป็นมะเร็งหรือมีเซลล์เยื่อบุผิดปกติ ที่ช่องคลอดหรือที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก
อาการของโรค
- เลือดออกกระปริดกระปรอย หรืออยู่ ๆ ก็มีเลือดออกมากทางช่องคลอด
- เจ็บ หรือเลือดออก เวลามีเพศสัมพันธ์
- มีของเหลวไหลจากช่องคลอด อาจเป็นน้ำ เมือก หนอง หรือหนองปนเลือด ที่มีกลิ่นเหม็นกว่าตกขาวธรรมดา
- ปวดท้องน้อย ร้าวไปก้นกบหรือต้นขา
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) หญิงอายุ 30-65 ปี ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจแปปสเมียร์ ทุก 2-3 ปี ตามปัจจัยเสี่ยงของตน
- การตรวจหาไวรัส HPV (HPV DNA testing) หญิงอายุ 30-65 ปี ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว แม้จะเคยฉีดวัคซีน HPV ควรตรวจหาไวรัส HPV ทุก 3-5 ปี ตามปัจจัยเสี่ยงของตน
- การตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์ หญิงทุกรายที่มีอาการข้างต้น
- การส่องกล้องตรวจความผิดปกติของปากมดลูก (Colposcopy) หญิงทุกรายที่ผลตรวจแปปสเมียร์ผิดปกติ หากส่องแล้วสงสัยแพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจด้วย
หญิงที่ตัดมดลูกพร้อมกับปากมดลูกออกแล้ว และไม่มีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูก ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองข้อ 1-2 ส่วนหญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ให้พิจารณาตรวจข้อ 1-2 ตามความสมัครใจ
มะเร็งต่อมลูกหมาก
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุ 50 ปีขึ้นไป (≥80% เป็นหลังอายุ 65 ปี)
- มีประวัติบิดาหรือพี่น้องเคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ชาวตะวันตก พบมากกว่าชาวเอเชีย
- กินอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารจำพวกเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง
อาการของโรค
- ปัสสาวะบ่อย เพราะปัสสาวะไม่สุด มีน้ำปัสสาวะค้าง ช่วงกลางคืนต้องตื่นมาปัสสาวะ 2 ครั้งขึ้นไป
- มีอาการแสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง
- ปัสสาวะเป็นเลือด
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจดัชนีทำนายก้อน PSA (Prostate-specific antigen)
- ชายที่อายุ 50-80 ปี และเริ่มมีอาการข้างต้น ควรตรวจเลือดคัดกรองค่า PSA ทุก 1 ปี
- ชายที่อายุ 45-80 ปี ที่มีประวัติมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัว แต่ยังไม่มีอาการ ควรตรวจเลือดคัดกรองค่า PSA ทุก 2-3 ปี หากมีอาการแล้วอาจตรวจทุก 6 เดือน - 1 ปี
- การตรวจทางทวารหนัก (Digital rectal examination) ชายที่มีอาการข้างต้น ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกราย
- การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Biopsy) ชายที่มีค่า PSA > 4 ng/mL หรือผลตรวจทางทวารหนักพบว่าต่อมลูกหมากปกติ
อาการต่อมลูกหมากโตกับมะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มต้นคล้ายกัน แยกจากกันที่ดัชนีทำนายก้อน PSA การตรวจทางทวารหนัก และการตัดชิ้นเนื้อ
มะเร็งตับ
ปัจจัยเสี่ยง
- เป็นโรคตับแข็งจากทุกสาเหตุ (สุรา ไขมันพอกตับ ไวรัสตับอักเสบ ภาวะธาตุเหล็กสะสมที่ตับ ฯลฯ)
- เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี และ/หรือ ไวรัสตับอักเสบซี เรื้อรัง แต่ยังไม่มีตับแข็ง
- มีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว
- กินอาหารที่มีเชื้อรา เช่น แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง บ่อย
- เป็นเบาหวานและอ้วน
อาการของโรค
- ปวดท้องใต้ชายโครงขวาหรือที่ลิ้นปี่ อาจร้าวไปหลังหรือไหล่ขวา รู้สึกแน่น อืด อาหารไม่ย่อย
- ท้องบวมขึ้น อาจคลำพบก้อนในท้องส่วนบน
- น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
- มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ
- ตัวเหลืองและตาเหลือง คันตามผิวหนัง
- มีจ้ำเลือดง่าย อาจมีเลือดกำเดาไหล ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ
- การตรวจเลือดหาค่า Alfa-fetoprotein (AFP)
- ผู้ที่เป็นตับแข็ง ควรตรวจทุก 6 เดือน
- ผู้ที่มีไวรัสตับอักเสบเรื้อรังแต่ยังไม่เป็นตับแข็ง ควรตรวจทุก 1 ปี หากอายุเกิน 40 ปี ควรตรวจทุก 6 เดือน
- ผู้ที่มีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว ควรตรวจทุก 1-2 ปี หากอายุเกิน 40 ปี ควรตรวจทุก 1 ปี
- ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีปัจจัยเสี่ยงข้อ 4-5 ควรตรวจทุก 1-2 ปี
AFP ค่าปกติ < 20 ng/mL วินิจฉัยมะเร็งตับถ้า > 200 ng/ml ค่าระหว่าง 20-100 ng/mL ให้ใช้วิธีติดตามค่า หรือไปตรวจข้อ 2. กรณีที่สงสัยหรือกลัวมาก ค่าระหว่าง 100-200 ng/mL ให้ไปตรวจข้อ 2.
- การตรวจอัลตราซาวด์ตับและท่อน้ำดี
- ผู้ที่เป็นตับแข็ง ควรตรวจทุก 6 เดือน
- ผู้ที่มีไวรัสตับอักเสบเรื้อรังแต่ยังไม่เป็นตับแข็ง ควรตรวจทุก 1 ปี หากอายุเกิน 40 ปี ควรตรวจทุก 6 เดือน
- ผู้ที่มีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว ควรตรวจทุก 1-2 ปี หากอายุเกิน 40 ปี ควรตรวจทุก 1 ปี
- ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีปัจจัยเสี่ยงข้อ 4-5 ควรตรวจทุก 1-2 ปี
- ผู้ที่มีอาการข้างต้นทุกราย
- ผู้ที่มีค่า AFP ผิดปกติ
- ผู้ป่วยตับแข็งที่พบก้อนที่ตับ ขนาด < 1 cm ให้ติดตามอัลตราซาวด์ทุก 3-4 เดือน ถ้าโตขึ้นให้ไปตรวจข้อ 3.
- การตรวจซีที (CT-scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) ช่องท้อง
- อัลตราซาวด์พบก้อนที่ตับ ขนาด > 1 cm
- ค่า AFP > 200 ng/mL หรือค่า AFP เพิ่มสูงอย่างชัดเจนในระหว่างการตรวจติดตามผล แต่อัลตราซาวด์ไม่พบก้อน
หากคิดว่าอายุขัยจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 10 ปี ไม่ต้องตรวจคัดกรอง
มะเร็งท่อน้ำดี
ปัจจัยเสี่ยง
- ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีการติดพยาธิใบไม้ในตับ หรือมีการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีสูง เช่น ภาคอีสาน และบางจังหวัดของภาคเหนือ
- ผู้ที่เคยกินปลาน้ำจืดดิบ เช่น ก้อยปลา ปลาดิบ ปลาร้า
- มีโรคของท่อน้ำดี เช่น ซีสต์ของทางเดินน้ำดีแต่กำเนิด มีท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง
- ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
- เป็นโรคตับแข็ง
- มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี
- สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
อาการของโรค
- ตัวเหลืองและตาเหลือง (จากท่อน้ำดีอุดตัน)
- ปวดท้องใต้ชายโครงขวาหรือที่ลิ้นปี่ อาจร้าวไปหลังหรือไหล่ขวา รู้สึกแน่น อืด อาหารไม่ย่อย
- อุจจาระมีสีซีดและปัสสาวะมีสีเข้ม
- น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
- มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ
- คันทั่วร่างกาย
- ท้องบวมขึ้น อาจคลำพบก้อนในท้องส่วนบน
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี
- การตรวจอุจจาระหาพยาธิใบไม้ในตับ (Opisthochis Viverini)
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ ควรสุ่มตรวจอุจจาระทุก 1 ปี
- ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ควรสุ่มตรวจอุจจาระทุก 1 ปี
- ผู้ที่เคยกินปลาน้ำจืดดิบ ควรสุ่มตรวจอุจจาระทุก 6 เดือน
หากตรวจพบควรรักษาให้หายขาด จากนั้นให้ระวังการติดเชื้อซ้ำโดยสุ่มตรวจอุจจาระเป็นประจำ
- การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ (Liver function test, LFT)
- ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเลือดดูการทำงานของตับพร้อมการตรวจสุขภาพทั่วไป ทุก 1-3 ปี
- ผู้ที่เคยตรวจอุจจาระพบพยาธิใบไม้ในตับ แม้จะรักษาหายแล้ว ควรตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ทุก 1 ปี
- ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ควรตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ทุก 1 ปี
หากพบความผิดปกติ แพทย์จะส่งตรวจข้อ 3. ต่อ
- การตรวจอัลตราซาวด์ตับและท่อน้ำดี
- ผู้ที่เป็นตับแข็ง ควรตรวจทุก 6 เดือน
- ผู้ที่มีไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง หรือมีโรคของท่อน้ำดี แต่ยังไม่เป็นตับแข็ง ควรตรวจทุก 1 ปี หากอายุเกิน 40 ปี ควรตรวจทุก 6 เดือน
- ผู้ที่มีประวัติมะเร็งท่อน้ำดีในครอบครัว ควรตรวจทุก 1 ปี หากอายุเกิน 40 ปี ควรตรวจทุก 6 เดือน
- ผู้ที่มีอาการข้างต้นทุกราย
- ผู้ที่มีค่า AFP หรือ LFT ผิดปกติ
หากคิดว่าอายุขัยจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 10 ปี ไม่ต้องตรวจคัดกรอง
มะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์มาก, อ้วน, ชอบกินเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ แบบปิ้ง ย่าง รมควัน, กินผัก ผลไม้ และธัญพืชน้อย
- มีไขมันพอกตับหรือโรคเบาหวานอยู่ก่อน
- เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ชนิด ulcerative colitis หรือ Crohn’s disease
- เคยเป็นติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ชนิด adenomatous หรือ hyperplastic polyp หรือเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และได้รับการรักษามาก่อน
- มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีโรคพันธุกรรมเสี่ยงมะเร็งในครอบครัว ได้แก่ familial adenomatous polyposis
syndrome (FAP), hereditary non-polyposis colorectal cancer (HNPCC หรือ Lynch syndrome), Peutz-Jeghers syndrome (PJS)
และ acromegaly เป็นต้น
อาการของโรค
- ท้องผูกเรื้อรังต้องใช้ยาระบายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
- ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระลีบเล็กลง ถ่ายเป็นมูกลื่น ถ่ายเป็นเลือดแดงหรือสีดำ
- โลหิตจาง
- ปวดท้องแบบบีบมวนเกร็ง
- ท้องอืดท้องโตขึ้นเรื่อย ๆ
- น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การตรวจทวารหนักโดยแพทย์ (Digital rectal examination) ควรทำในผู้ที่มีอาการข้างต้นทุกราย
- การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal occult blood test, FOBT)
- ผู้ที่อายุ 50-75 ปี ควรตรวจทุก 1 ปี
- ผู้ที่มีโลหิตจางที่หาสาเหตุไม่ได้
- ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรสุ่มตรวจ ทุก 1 ปี
- ผู้ที่เคยเป็นติ่งเนื้องอก adenomatous polyps ภายหลังตัดติ่งเนื้องอกออกหมดแล้ว ควรสุ่มตรวจ ทุก 1 ปี
- ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และได้รับการรักษาแล้ว ควรสุ่มตรวจ ทุก 6 เดือน - 1 ปี (แล้วแต่ระยะของโรค)
- การเอกซเรย์สวนทวารหนัก (Double-contrast barium enema)
- ผู้ที่อายุ 50-75 ปี ควรตรวจทุก 5 ปี
- ผู้ที่ควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่แต่ทำไม่ได้
- ผู้ที่เคยเป็นติ่งเนื้องอก adenomatous polyps ภายหลังตัดออกหมดแล้ว อาจเอกซเรย์สวนทวาร ทุก 3-5 ปี
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy, Flexible sigmoidoscopy)
- ผู้ที่อายุ 50-75 ปี ควรตรวจทุก 5 ปี
- ผู้ที่เคยเป็นติ่งเนื้องอก adenomatous polyps ภายหลังตัดติ่งออกหมดแล้ว อาจส่องกล้องซ้ำ ทุก 3-5 ปี
- ผู้ที่เป็น ulcerative colitis หรือ Crohn’s disease ควรส่องกล้องและสุ่มตัดชิ้นเนื้อ ทุก 1-3 ปี (เป็นโรคมา 10 ปี ทำทุก 3 ปี, เป็นโรคมา 20 ปี ทำทุก 2 ปี, เป็นโรคมา 30 ปี ทำทุก 1 ปี)
- ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ < 60 ปี ควรเริ่มส่องตั้งแต่อายุที่น้อยกว่าคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้ 10 ปี ทุก 3-5 ปี, ถ้าญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ > 60 ปี ควรเริ่มส่องตั้งแต่อายุ 40 ปี ถ้าปกติ ไปเข้าโปรแกรมตรวจทุก 3-5 ปี เมื่ออายุ 50 ปี
- ผู้ที่มีพันธุกรรมเสี่ยงมะเร็ง
- FAP ที่ negative genetic test ควรตรวจ Flexible sigmoidoscopy ทุก 7-15 ปี จนอายุ 40 ปี
หลังจากนั้น Colonoscopy ทุก 5 ปี
- FAP ที่ Positive genetic test หรือ
ไม่สามารถตรวจ Genetic test ได้ หรือเป็นบุตรของผู้ป่วย FAP ควรตรวจ Flexible sigmoidoscopy ทุก 1 ปี
เริ่มอายุ 10-12 ปี จนอายุ 40 ปี หลังจากนั้นทุก 3-5 ปี
ถ้าพบ polyp พิจารณา colectomy
- HNPCC หรือ PJS ควรตรวจ Colonoscopy ทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 20-25 ปี หลังอายุ 40 ปี ทำ colonoscopy ทุก 1 ปี
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonography, CTC, virtual colonoscopy) ซึ่งทำได้เพียงบางสถาบัน
- ผู้ที่ควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่แต่ทำไม่ได้
- ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และได้รับการรักษาแล้ว อาจตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ ทุก 1-2 ปี (แล้วแต่ระยะของโรค)
ไม่แนะนำให้ตรวจดัชนีทำนายก้อน CEA ในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ แม้จะมีพันธุกรรมมะเร็ง เพราะค่า CEA ไม่จำเพาะต่อมะเร็ง อาจขึ้นได้จากยา อาหารเสริม เนื้องอกไม่ร้าย การสูบบุหรี่ การติดเชื้อ การอักเสบ ฯลฯ
มะเร็งปอด
ปัจจัยเสี่ยง
- สูบบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่ของคนอื่นเข้าไปเป็นประจำ
- ทำงานกับแร่ใยหิน (asbestos)
- สูดก๊าซเรดอน (radon) เป็นประจำ
- สูดควันจากการเผาถ่านหรือไม้เป็นเวลานาน
- สูดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เป็นประจำ
- เป็นโรคปอดเรื้อรังบางชนิด เช่น interstitial lung disease, โรคถุงลมโป่งพอง (COPD) และโรค pulmonary fibrosis
- ได้รับรังสีรักษามะเร็งบริเวณทรวงอก
- มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งปอด
อาการของโรค
- ไอเรื้อรัง
- ไอมีเลือดปน
- เหนื่อยง่าย
- เจ็บหน้าอก
- เสียงแหบ
- น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
- มีอาการแสดงของระบบอื่น เช่น ปวดข้อ, นิ้วปุ้ม, hypercalcemia, SIADH, Cushing’s syndrome, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, เม็ดเลือดผิดปกติ, หลอดเลือดที่ปอดอุดตัน, หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน, ออกผื่น, ชา, ตามัว ฯลฯ
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
หลังจากที่พบว่าการตรวจคัดกรองด้วยภาพถ่ายรังสีทรวงอกธรรมดา (chest x-ray) และการตรวจหาเซลล์มะเร็งจากเสมหะ (sputum cytology) ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ปัจจุบันจึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วย low-dose CT scan (ใช้ปริมาณรังสีเพียง 2 mSv เมื่อเทียบกับ 7 mSv ของ CT scan ปกติ) ทุก 1 ปี ในประชากรกลุ่มเสี่ยง ดังนี้
- ผู้มีอายุ 55–74 ปี ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ 30 pack years ขึ้นไป และยังหยุดสูบมาไม่ถึง 15 ปี
- ผู้มีอายุ 50–74 ปี ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ 20 pack years ขึ้นไป และมีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดข้ออื่นนอกเหนือจากบุหรี่ เช่น สัมผัส radon, asbestos, หรือสารก่อมะเร็งอื่น ๆ, เป็นโรคปอดเรื้อรัง, มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด เป็นต้น
มะเร็งนอกเหนือจากที่กล่าวมายังไม่มีแนวทางการตรวจคัดกรอง
บรรณานุกรม
- "แนวทางการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. (14 พฤษภาคม 2563).
- ผศ.ดร.นพ.อภิชาติ ตันตระวรศิลป์. "มะเร็งปอด (Lung Cancer)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (16 พฤษภาคม 2563).