แคลเซียม (Calcium, Ca)

แคลเซียมเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในร่างกาย คือมีประมาณ 1-2% ของน้ำหนักตัวแต่ละคน โดย 99% เป็นโครงสร้างของกระดูกและฟัน อีก 1% อยู่ในเลือดและในเซลล์ ทำหน้าที่ให้จังหวะการบีบตัวของกล้ามเนื้อ นำกระแสประสาท ให้สัญญาณต่าง ๆ ภายในเซลล์ ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนและการแข็งตัวของเลือด

สารประกอบแคลเซียมในร่างกายส่วนใหญ่อยู่ในรูป hydroxyapatite (Ca10[PO4]6[OH]2) ในกระดูก, CaCO3 (แคลเซียมคาร์บอเนตหรือหินปูน), CaC2O4 (แคลเซียมออกซาเลตหรือนิ่วที่ไต) ส่วนแคลเซียมกลูโคเนตเป็นยาฉีดที่แพทย์ใช้รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ โพแทสเซียมในเลือดสูง หรือพิษจากแมกนีเซียม

ระดับแคลเซียมในเลือดถูกควบคุมโดยฮอร์โมนพาราไทรอยด์และแคลซิโตนินให้มีระดับ 8.5-10.5 mg% ตลอดเวลา ไม่สวิงขึ้นลงตามอาหารที่เรารับประทานแต่ละมื้อ โดยถ้าเรารับประทานมาก แคลเซียมจะถูกนำไปเก็บที่กระดูก และพร้อมจะปล่อยออกมายามที่เรารับประทานแคลเซียมน้อย กระดูกจึงมีวัฏจักรของการสร้างและการสลายเนื้อแคลเซียมตลอดเวลา

บทบาทของแคลเซียมในร่างกาย

นอกจากจะเป็นโครงสร้างของกระดูกและฟันแล้ว แคลเซียมในเลือดและในเซลล์ยังทำหน้าที่

  1. ควบคุมจังหวะการหลั่งสารสื่อประสาท
  2. ควบคุมจังหวะการหดตัวของกล้ามเนื้อ
  3. ควบคุมจังหวะการปล่อยอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน
  4. เป็นปัจจัยร่วมในกระบวนการแข็งตัวของเลือด
  5. ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ
  6. ควบคุมสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย

แหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูง

แคลเซียมมีอยู่มากมายในอาหารทั่วไป เราไม่จำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมแบบเม็ดเสริมหากไม่ได้เป็นโรคไตวายหรือโรคกระดูกพรุน

กรมอนามัยแนะนำให้คนไทยรับประทานแคลเซียมวันละ 800 มิลลิกรัม แต่หากอายุเกิน 50 ปีควรรับประทานวันละ 1000-1200 มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ใบชะพลู ใบยอ ผักกระเฉด มะเขือพวง กระเจี๊ยบ ปลากระป๋อง กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็ก นม นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ไข่ งาดำ ส้ม มะเดื่อ

ร่างกายเราดูดซึมแคลเซียมได้สูงสุดเพียงมื้อละประมาณ 500 มิลลิกรัม จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานมาก ๆ ในมื้อเดียว

แคลเซียมดูดซึมผ่านตัวรับแคลเซียม TRPV6 แล้วจับกับโปรตีน Calbindin พาแคลเซียมไปส่งที่ปั๊ม Ca2+-Mg2+ ATPase ปั๊มนี้จะดูดแคลเซียม 1 อิออนเข้ากระแสเลือดแลกกับแมกนีเซียม 1 อิออน วิตามินดีสร้าง Calbindin การรับประทานวิตามินดีร่วมกับแคลเซียมจะช่วยให้แคลเซียมดูดซึมดีขึ้น

ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมได้แก่ วิตามินดี แลคโตส โปรตีน คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ถูกย่อย (non-digestible oligosaccharides ซึ่งพบมากในกล้วย หัวหอม ถั่วเหลือง แอสปารากัส) และในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรด ดังนั้นผู้ที่รับประทานยาลดกรดเป็นประจำจะเสียการดูดซึมแคลเซียม

ปัจจัยที่ยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมได้แก่ สาร phytates ในธัญพืช, สาร oxalate ในผักโขม รูบาร์บ มันเทศ และถั่วเมล็ดแห้ง, สาร phosphoric acid ในน้ำอัดลม, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, อาหารไขมัน, และกากใยอาหาร

ปัจจัยที่เพิ่มการขับแคลเซียมที่ดูดซึมทิ้งออกทางปัสสาวะได้แก่ อาหารเค็มจัด คาเฟอีนในกาแฟและชา

ภาวะขาดแคลเซียม

ภาวะขาดแคลเซียมไม่สามารถตรวจได้จากระดับแคลเซียมในเลือด เพราะระดับแคลเซียมในเลือดถูกควบคุมโดยฮอร์โมนพาราไทรอยด์และแคลซิโตนินให้มีระดับปกติตลอดเวลา ในภาวะที่ขาดร่างกายจะดึงแคลเซียมจากกระดูกออกมาใช้เรื่อย ๆ จึงแสดงออกมาในลักษณะกระดูกบางจากเอกซเรย์, ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงจากการตรวจ BMD, หรือจากการมีกระดูกหักง่าย แนวทางการรักษาในกรณีนี้คือการเพิ่มแคลเซียมในอาหารหรือการรับประทานแคลเซียมแบบเม็ดชดเชย และควรตรวจระดับของวิตามินดีในเลือดด้วย หากต่ำก็ควรรับประทานวิตามินดีแบบเม็ดชดเชย เพื่อช่วยการดูดซึมแคลเซียม (ร่วมกับปรับปรุงบ้านและวิธีเดินทางให้เสี่ยงต่อการหกล้มน้อยที่สุด)

อีกกรณีคือการตรวจพบภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ กรณีนี้มักมีสาเหตุมาจากต่อมพาราไทรอยด์ไม่ทำงาน, ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนพาราไทรอยด์, การขาดวิตามินดี, และภาวะไตวาย (ไม่ได้เป็นจากการรับประทานแคลเซียมไม่พอ) กรณีนี้ต้องตรวจหาสาเหตุและแก้ที่สาเหตุก่อน หากแก้ไม่ได้ถึงค่อยให้แคลเซียม±วิตามินดีชดเชยไปตลอดชีวิต

พิษของแคลเซียม

พิษของแคลเซียมไม่พบจากอาหาร แต่พบในอาหารเสริมที่มีแคลเซียมในปริมาณสูง โดยอาจทำให้ท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียได้ (เรียกว่ากลุ่มอาการ calcium-alkali syndrome) นอกจากนั้นยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่วที่ไต การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์อาจเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง หากรับประทานร่วมกับยาดิจ็อกซินอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หากรับประทานร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว ยาต้านไวรัส ยากันชัก ธาตุเหล็ก หรือฮอร์โมนไทรอยด์จะลดการดูดซึมของยาดังกล่าว

บรรณานุกรม

  1. "Calcium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Calcium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (9 กุมภาพันธ์ 2563).
  5. "Calcium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (9 กุมภาพันธ์ 2563).
  6. "calcium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (10 มีนาคม 2563).
  7. "Calcium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (10 มีนาคม 2563).
  8. "12.2 Calcium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (10 มีนาคม 2563).
  9. Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Calcium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (10 มีนาคม 2563).
  10. James L. Lewis, III. 2018. "Overview of Disorders of Calcium Concentration." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (10 มีนาคม 2563).
  11. James L. Lewis, III. 2018. "Hypocalcemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (10 มีนาคม 2563).
  12. James L. Lewis, III. 2018. "Hypercalcemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (10 มีนาคม 2563).